บพข.หนุนความสำเร็จ Zero Carbon จัดทริปนำสื่อมวลชนล่องคลองฝั่งธนด้วยเรือไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและเรือไฟฟ้า100%  

บพข.กองทุน ววน. ชวนสายกรีนวัดคาร์บอนฟุตพรินท์จากการไปเที่ยวหรือจัดอีเว้นท์ด้วยแอปพลิเคชัน Zero Carbon เผยหลังเปิดใช้มาได้ 6 เดือน มีผู้ประกอบการดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 2,200 ราย ล่าสุดทีมวิจัยจัดทริปนำสื่อมวลชนล่องคลองฝั่งธนด้วยเรือไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและเรือไฟฟ้า100% เรือไฟฟ้าสุขสำราญ เรือไฟฟ้าเกียรติ์รุ่งเรือง และสวนภูมิใจการ์เด้น สัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิตและชุมชน โดยไม่ทิ้งมลพิษ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เปิดเผยว่า นักวิจัย บพข.ในทีมกว่า 200 ท่านจาก 20 สถาบัน กำลังทำการวิจัยเพื่อพัฒนาค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคท่องเที่ยว เครื่องมือในการประเมินใหม่ๆ และเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำที่น่าสนใจ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นเส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยในอนาคตจะพัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism) ซึ่งเป็นกระบวนการที่งานวิจัยจะช่วยทำให้โครงการในประเทศไทยได้รับความเชื่อถือในระดับสากล และมีเครื่องมือและค่ากลางทางเทคนิคต่างๆ ของประเทศไทยเอง

“ในตอนนี้ภาพใหญ่ที่ภาคการท่องเที่ยวทั่วโลกมุ่งเป้าหมายคือ Net Zero Tourism ซึ่งต้องใช้เวลาในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย สิ่งที่ภาคการท่องเที่ยวไทยทำได้แล้ว คือการบรรลุเป้าหมายระดับ Carbon Neutrality สิ่งที่เริ่มปรากฏชัดแล้วคือไทยเรามีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าเรามีผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจเรื่องนี้ เรามีทั้งรายการนำเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว ผู้ให้บริการต่างๆ ที่ลงมือทำหลายอย่างเพื่อต่อสู้กับวิกฤตโลกรวนอยู่ และทำให้เรามีความหวังที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้สำเร็จ” ผศ.สุภาวดีกล่าว

แอปพลิเคชัน Zero Carbon ที่แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. สนับสนุนและร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)และภาคีเครือข่าย ได้เข้ามาสนับสนุนการจัดทำแอปฯโดย อบก. เพื่อแก้ไขปัญหาที่นักท่องเที่ยวหรือผู้ให้บริการนำเที่ยวสายรักโลกต้องพบ หากต้องการลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมของตน ซึ่งจะต้องมีการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ที่มีความยากต่อคนทั่วๆไปมาก เพราะมีรายละเอียดต่างๆที่ต้องเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์และคำนวณผล

แอปฯนี้ได้ถูกออกแบบและพัฒนาให้เป็นแอปประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ และทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนภาคท่องเที่ยวที่ทำได้สะดวกและง่ายกว่าเดิมมาก โดยใช้เวลาในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์ของรายการนำเที่ยวหรืออีเว้นท์ขนาดเล็กจากหลายชั่วโมงเหลือเพียง 15 นาที ทำให้นักท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ชุมชน ผู้จัดงานประชุม กีฬา อีเว้นท์ ในประเทศไทยสามารถทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์จากการเดินทางที่พัก อาหารและการจัดการของเสีย ได้อย่างง่ายดาย และหากต้องการทำกิจกรรมชดเชยก็สามารถสั่งซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยผ่านแอปฯได้ทันที โดยจะได้รับเกียรติบัตรรับรองการชดเชยคาร์บอนแบบรับรองตนเองจาก อบก.

ทั้งนี้หลังจากเปิดใช้มาได้ 6 เดือน ซึ่งเริ่มในปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 ปัจจุบันมีผู้ประกอบการดาวน์โหลดไปใช้งานแล้วกว่า 2,200 ราย และมีการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินท์ในการเดินทางและการจัดงานไปแล้วหลายร้อยครั้ง ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งมีการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนกว่า 400  tCO2eq จาก 150 กิจกรรม ถือเป็นอีกหนึ่งแอปดีๆ ของไทยที่สายกรีนควรดาวน์โหลดติดเครื่องไว้

การบรีฟข้อมูลก่อนออกเดินทาง

อาหารเช้าในภาชนะกาบหมาก

เส้นทางทริปล่องคลองฝั่งธน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการนำสื่อมวลชนร่วมทริปทดลองใช้แอปพลิเคชัน Zero Carbon เพื่อประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์และประเมินศักยภาพของธุรกิจท่องเที่ยวที่มีโอกาสการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ล่องคลองฝั่งธนบุรี ด้วยเรือไฟฟ้าทั้งแบบไฮบริดและเรือไฟฟ้า100% ภายใต้ชื่อ “Field Trip EV Tourism Boat – PoomJai Garden” ในเส้นทางวัดใหม่ยายนุ้ย – ผ่านชมวัดปากน้ำภาษีเจริญ – วัดนางนอง -การเสวนาวงเล็กกับเรือไฟฟ้าสุขสำราญ เรือไฟฟ้าเกียรติ์รุ่งเรือง(สิริณวารี) และสวนภูมิใจการ์เด้น ไหว้พระที่วัดราชโอรส ปิดท้ายด้วยการร่วมช้อนขยะในคลองด้วยกัน โดยมีนายนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้ให้บริการนำเที่ยวและนักวิจัยด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกภาคท่องเที่ยวทุน บพข. ในสังกัดสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (สทอ.) อธิบายให้สื่อมวลชนที่ร่วมกิจกรรมฟังถึงวิธีเก็บข้อมูล 

ผ่านสักการะพระพุทธธรรมกายเทพมงคล ที่วัดปากน้ำ

คณะผู้ร่วมทริป ณ วัดนางนอง

บรรยากาศสวย ๆของภูมิใจการ์เด้น

เวทีเสวนาวงเล็ก ๆ บริการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

อาหารกลางวัน ขนม และเครื่องดื่มที่ภูมิใจการ์เด้น

คณะสื่อ ณ ภูมิใจ การ์เด้น

นายนิพัทธ์พงษ์กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้นอาจฟังดูเป็นเรื่องยาก แต่ในความเป็นจริงคือทริปเดินทางที่มีการออกแบบให้ปล่อยคาร์บอนต่ำ อย่างเช่นการลดการใช้พลังงานฟอสซิลในการเดินทาง การลดการใช้แอร์ ทานอาหารที่มีที่มาจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ลดขยะตั้งแต่ต้นทาง หรืออย่างในทริปนี้ ยังได้ช่วยกันเก็บขยะที่ลอยอยู่ในคลองอีกด้วย จากนั้นการปล่อยด้วยการประเมินคาร์บอนฟุตพรินท์โดยใส่ค่าของไฟฟ้าที่ใช้ในเรือไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ร้านอาหาร อาหาร และขยะที่มีน้อยมาก และการปล่อยจากการเดินทางมาลงเรือของทุกท่าน

เมื่อได้ค่าออกมาแล้วก็ทำการชดเชยคาร์บอนที่เหลืออยู่ด้วยการสนับสนุนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตในปริมาณไม่น้อยกว่ามาหักล้าง และเนื่องจากหน่วยของคาร์บอนเครดิตมีขั้นต่ำ 1 tCO2eq ดังนั้นปกติหากเป็นทริปที่ปล่อยคาร์บอนต่ำอยู่แล้ว ต่ำมากเพียงไม่กี่กิโลกรัม จะมีการชดเชยที่มากกว่าที่ประเมินได้เสียอีก

คุณนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น นักวิจัยด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกภาคท่องเที่ยวทุน (บพข.)

“ผมอยากเตือนเพื่อไม่ให้เข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดหรือสิ่งที่ควรทำไปตลอดกาล แต่นี่เป็นแค่ทางออกชั่วคราวในช่วงเปลี่ยนผ่านที่โลกกำลังต้องลดการใช้พลังงานฟอสซิล และยังไม่มีทางอื่นสะดวกพอและดีกว่าเท่านั้น  สิ่งที่ควรทำที่สุดไม่ใช่การชดเชย แต่เป็นการมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยจากต้นทางลงไปเรื่อยๆ จนต่ำมากที่สุด และหาทางทำกิจกรรมดูดกลับหรือกำจัดออก ซึ่งในกรณีของคนทั่วไปนั้น ผมแนะนำให้ลดและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้พลังงานฟอสซิล บริโภคทุกสิ่งให้คุ้มค่า สนับสนุนสินค้ากลุ่มชีวภาพ หมุนเวียน และสีเขียว ปลูกต้นไม้ และสนับสนุนการปกป้องรักษาพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหลัก เพราะทำได้ง่ายได้ผลดีต่อโลกจริงๆ”

            ทริปนี้เริ่มต้นด้วยการนั่งเรือไฟฟ้าสุขสำราญไปอย่างเงียบๆ สัมผัสธรรมชาติ วิถีชีวิตและชุมชน โดยไม่ต้องทิ้งมลพิษ กับนายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าของเรือ เขากล่าวว่าเรือไฟฟ้าสุขสำราญเป็นเรือโบราณอายุราว 70 ปี เดิมเป็นเครื่องยนต์ดีเซลเหมือนลำอื่นๆ ทั่วไป แต่ลำนี้ดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้าไฮบริดพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Electric Hybrid-Vehicle)สามารถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าล้วนในระยะทางประมาณ 40 km ซึ่งเพียงพอต่อการท่องเที่ยวปกติใน 1 วัน บนหลังคาเรือมีแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้สามารถผลิตไฟเพิ่มได้ราวๆ 5-8 หน่วย (kwh) ต่อวัน จึงทำให้สามารถเดินทางได้ไกลขึ้นอีกราวๆ 70 %

 ด้วยความเป็นเรือไฟฟ้าทำให้เสียงเงียบลงราว 20dB รวมทั้งไม่ปล่อยมลพิษลงน้ำ ไม่มีความร้อน ไม่มีกลิ่นควันพิษ ไม่สั่นสะเทือนเหมือนเครื่องยนต์ และสามารถใช้ความเร็วต่ำที่ไม่ก่อให้เกิดคลื่นทำลายตลิ่งและบ้านเก่าริมน้ำ จึงทำให้การล่องเรือไฟฟ้าได้สัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติของสายน้ำ รากเหง้าวิถีชีวิตแห่งคลองฝั่งธนฯ ได้รื่นรมย์และลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าเรือเครื่องยนต์ทั่วไป ตนอยากให้มีเรือไฟฟ้าแบบนี้มากขึ้น หรืออย่างน้อยภาครัฐควรจะมีมาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ โดยเฉพาะการควบคุมความเร็ว และการปล่อยมลพิษ

คุณศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าของเรือไฟฟ้าสุขสำราญ

            อีกลำหนึ่งในทริปนี้เป็นเรือไฟฟ้า 100% ชื่อเรือเกียรติรุ่งเรือง1(สิริณวารี) เจ้าของคือ นายมงคล เกียรติกาญจนกุล โดยมีที่มาจากการที่เคยมีโอกาสร่วมทดสอบเรือไฟฟ้าสุขสำราญตอนดัดแปลงเป็นระบบไฟฟ้าสำเร็จ ต่อมาได้เจอเรือแท็กซี่จอดประกาศขายพอดี ภายในไม่กี่วันต่อมา จึงได้ซื้อเรือและประสานให้นายศิระช่วยดัดแปลงเรือให้ด้วย ทิ้งคราบความเป็นเรือกินน้ำมันไปเพราะนำเอาเครื่องยนต์เดิมออก ด้วยความมั่นใจจากประสบการณ์ที่นายศิระได้ทำเรือสุขสำราญ เมื่อได้ทราบและพอใจกับขอบเขตศักยภาพของมอเตอร์ไฟฟ้า ทางทีมงานก็ได้ตัดสินใจยกเครื่องยนต์เดิมออกได้แบบไม่ต้องกังวลใจ เมื่อไม่มีเครื่องยนต์เดิมเรือก็เบาขึ้น และมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นอีกมากมาย

ทุกวันนี้จะมีคำถามจากหลายคนที่อาจยังไม่ไว้ใจกับเทคโนโลยีใหม่ เกรงว่าถ้าแบตเตอรี่หมดกลางทาง อาจหาที่เติมไม่ได้ ไม่เหมือนกับเรือน้ำมัน แต่ตนอยากบอกว่า “ไฟของเรือเติมจากฟ้า ตราบใดที่ยังมีแสงตะวัน เราจะไม่มีวันหมดไฟ และต่อให้วันที่ไร้แสงแดด เราก็ยังมีระบบปลั๊กอินที่ On Board Charger  สามารถลากสายไปเสียบปลั๊กไฟบ้านทั่วๆ ไปได้ทุกที่ที่มีปลั๊ก โดยไม่ต้องพึ่ง Charging Station แบบรถไฟฟ้า High Voltage แต่อย่างใด (ด้วยค่าใช้จ่ายเพียงราวๆ 45 บาทต่อการชาร์จ – กับแบตเตอรี่ความจุ 15 หน่วย (kwh) เรียกว่าต่อให้ไม่สามารถหาปลั๊กไฟได้  แสงแดดไม่มี ก็ไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้เรือลำนี้ต้องจอดนิ่ง)

นอกจากนี้บนเรือยังมีเครื่องปั่นไฟสำรองอยู่อีกเครื่อง หากจำเป็นก็ยังสามารถใช้น้ำมันเบนซินมาแลกเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเติมเข้าแบตเตอรี่ได้อยู่ดี คล้ายๆ ระบบ E-Power ที่ใช้ในค่ายรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ทั้งนี้ตอนนี้มีเรือแท็กซี่หลายลำทยอยดัดแปลงเป็นเรือไฟฟ้าและรวมเป็นเครือข่ายแบบหลวมๆ

คุณมงคล เกียรติกาญจนกุล เจ้าของเรือเกียรติรรุ่งเรือง

บรรยากาศการท่องเที่ยวในทริป เรือค่อยๆ ล่องผ่านชมพระใหญ่วัดปากน้ำภาษีเจริญ จากนั้นจอดเพื่อท่องเที่ยวชมวัดนางนอง ก่อนแวะไปตั้งวงเสวนาเล็กๆ กันที่ภูมิใจการ์เด้น สวนโบราณที่อยากเชื่อมผู้คนกับคลองบางขุนเทียนเข้าด้วยกัน นางพรทิพย์ เทียนทรัพย์ เกิดและเติบโตมาในบ้านกลางสวนลิ้นจี่โบราณใน ที่สืบทอดกันมาอายุนับร้อยปี โดยมีความตั้งใจที่อยากทำให้รอบบ้านกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อยากสร้างสวนแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลาง ที่ทำให้เพื่อนบ้านและสังคมใกล้บ้านได้กลับมาเชื่อมต่อกับคลองอีกครั้ง พร้อมเชื่อมต่อกับโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไปให้เข้ากับเรื่องราวและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของย่าน ได้พาชมสวนและแนะนำสวนลิ้นจี่สวนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในกรุงเทพมหานคร รวบรวมพื้นที่สวนของญาติที่อยู่ติดกันซึ่งถูกทิ้งให้กลายเป็นพื้นที่รกร้างเสื่อมโทรมกลับมาบำรุงรักษาให้ดี พร้อมทั้งจัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น นำชมวงน รับจัดกิจกรรมเอาท์ติ้ง คลาสสอนทำอาหารและศิลปะจากวัสดุธรรมชาติ โดยมีการจ้างงานน้องๆในชุมชนมาช่วยในช่วงวันหยุด รวมถึงเปิดเป็นคาเฟ่เล็กๆที่ได้รับความนิยมสูงจากทั้งคนไทยและต่างชาติ

คุณพรทิพย์ เทียนทรัพย์ เจ้าของภูมิใจการ์เด้น

หลังการเสวนากับคำถาม ทำอย่างไรจึงจะมีบริการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำแบบนี้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ทีมเรือไฟฟ้าพาแวะวัดราชโอรส ก่อนได้รับแจกไม้สวิงตักขยะคนละอันเพื่อช่วยกันเก็บขยะในคลองและเดินทางกลับ โดยทริปนี้หลังจากปรับลดการปล่อยเทียบกับกรณีใช้เรือ TAXI น้ำมัน การเลือกร้านอาหารที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดขยะจากต้นทางและยังเก็บขยะในคลอง และรวมการเดินทางจากบ้านมาถึงจุดนัดพบ ทำการใช้แอป Zero Carbon ประเมิน พบว่าคาร์บอนฟุตพรินต์มีปริมาณ 240 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากนั้นได้ทำการซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชยจากโครงการพีเอสทีซีโซล่าร์ ฟาร์ม 10 เมกะวัตต์ไปจำนวน1ตัน มากกว่าผลการประเมินประมาณ 4.5 เท่า จึงถือว่าเป็นทริปเดินทางที่เป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) หรือปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

ร่วมกันใช้สวิงเก็บขยะในคลอง

การผลักดันให้เกิดเครื่องมือและการเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมที่จะทำให้การจัดการก๊าซเรือนกระจกที่เคยเป็นเรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นนั้นจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าไม่มีการสนับสนุนที่ดีจากแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นั่นเอง 

จบทริปกับการใช้แอป Zero Carbon

คำนวณค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ตลอดทริปวันนี้

จัดหาคาร์บอนเครดิตชดเชยจากโครงการพีเอสทีซี

สนใจติดต่อ เกี่ยวกับ การใช้งาน Zero Carbon TH App ติดต่อ คุณกนกกร นิลเศษ ผู้ช่วยนักวิจัยและผู้สอนการใช้งานแอปพลิเคชัน  โทร 087-089-3450 ขมรมเรือไฟจากฟ้า (เรือTAXI ในเขตกรุงเทพมหานคร)  ติดต่อคุณซัน เพจเรือไฟฟ้าสุขสำราญ ภูมิใจการ์เด้น

Related posts