นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานงานแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” (Thailand Research Expo 2024) จัดโดย กระทรวง อว. โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 19 ภายใต้แนวคิด “สานพลังวิจัย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” โดยมีนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. คณะผู้บริหาร นักวิจัย คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชน เข้าร่วม ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
นางสาวศุภมาส กล่าวว่า การจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 เป็นวาระสำคัญในการร่วมกันเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบและร่วมกันน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งการวิจัยไทย” ซึ่ง กระทรวง อว. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น.
“สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วยกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยและการประชุมมากกว่า 130 หัวข้อเรื่อง และยังมีนิทรรศการอีกมากกว่า 700 ผลงาน นำเสนอในประเด็นที่กระทรวง อว. และรัฐบาลให้ความสำคัญ นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาการศึกษาในระดับอุดมศึกษา พร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ภายในงานจึงมีกิจกรรมส่งเสริมน้อง ๆ นิสิต นักศึกษาในทุกระดับจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรรมและประกวดแข่งขัน โดยจะมีการเฟ้นหาวิศวกรสังคมพัฒนาชุมชนดีเด่น อีกด้วย
ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวว่า มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ เป็นงานประจำปีของเครือข่ายระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ และที่สำคัญคือเป็นเวทีเพื่อนักวิจัยที่ได้นำเอาผลจากการวิจัยที่เกิดขึ้นมาแสดงออกสู่สายตาประชาชน ทำให้เกิดการประจักษ์รู้โดยทั่วไป การขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นจะต้องเกิดประโยชน์กับประเทศ งานวิจัยมีหลายประเภททั้งสามารถใช้ประโยชน์โดยทันที งานวิจัยที่ต้องมีการปรับปรุงปรับแต่งเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันประเทศก็ต้องมีการวิจัยในแง่ของพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการสร้างสังคม อันนำไปสู่การสร้างความรู้และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567” ครั้งนี้ วช. มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและสร้างพลังแห่งความร่วมมือในทุกเครือข่ายงานวิจัยในการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในทุกมิติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ทันต่อสถานการณ์โลก พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม
สำหรับรูปแบบการจัดงานแบ่งออกเป็น 6 ธีม ซึ่งครอบคลุมงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศในหลากหลายมิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ BCG, Soft Power, เศรษฐกิจใหม่, สังคมยั่งยืน, สิ่งแวดล้อม และวิสาหกิจชุมชนและ SMEs กว่า 1,000 ผลงาน นอกจากนั้น ภายในงานทุกท่านจะได้พบกับการปาฐกถาพิเศษจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในหัวข้อ “ขับเคลื่อนไทยด้วยวิทยาศาสตร์” ที่จะมาเปิดมุมมองใหม่ในการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และยังมีงานสัมมนาสุดเข้มข้นกว่า 150 หัวข้อครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่ Soft Power ที่จะสร้างสรรค์เศรษฐกิจไทย ไปจนถึง CEO Forum ที่จะร่วมกันสร้างอนาคตที่ยั่งยืน
ส่วนภาคนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รวมถึงนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และการนำเสนอนิทรรศการผลงานวิจัยจากหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย
สำหรับผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ https://researchexporegistration.com ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2579-1370-9 ต่อ 515, 517, 518