กระดาษโน้ตชุบชีวิตทารกน้อยสู่สารวัตรแจ๊ะ

“โรคประหลาด” ค.ศ.1993 ณ เมืองพิษณุโลก เด็กทารกชายคนหนึ่งเกิดมาพร้อมกับร่างกายที่ไม่แข็งแรงนัก เมื่อย่างเข้าอายุได้เพียง 4 เดือน ร่างกายทารกน้อยเริ่มป่วยออดๆแอดๆ แม้ว่าจะเข้าโรงพยาบาลมาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง แต่ก็ไม่มีท่าทีจะดีขึ้น จนเมื่อย่างเข้าเดือนกันยายน ค.ศ.1993 อาการเด็กน้อยแย่ลงจนเข้าขั้นวิกฤติ เนื้อตัวลีบ ถ่ายไม่หยุด 2 กุมารแพทย์ที่เก่งที่สุดในเมืองพิษณุโลกในเวลานั้น ได้พยายามช่วยชีวิตทารกน้อยด้วยการให้น้ำเกลือ ทางขา ทางแขน แต่ก็ไม่สามารถส่งสารอาหารเข้าร่างกายทารกน้อยได้ เพราะเส้นเลือดในร่างกายได้ตีบหมดแล้ว จนต้องตัดสินใจ “เจาะหน้าผาก” ให้น้ำเกลือผ่านทางกะโหลกเป็นทางสุดท้าย กว่า 1 เดือนที่พยายามช่วยชีวิตทารกน้อยรายนี้แต่อาการก็กลับแย่ลงเรื่อยๆ เพราะโรคร้ายพิสดารที่ไม่มีใครไขคำตอบได้ในเวลานั้น

​“ครึ่งเป็นครึ่งตาย” ค่ำคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993 ค่ำคืนที่คล้ายจะเป็นจุดสุดท้ายของชีวิตทารกน้อย กุมารแพทย์แห่งเมืองพิษณุโลกกล่าวกับพ่อของทารกอย่างกระอักกระอ่วนว่า “เราก็สุดความสามารถแล้วคุณพ่อ” ประโยคสะท้านทรวงสุดจะบีบหัวใจพ่อ ก่อนจะมองไปที่ร่างทารกน้อย ตัวผอมลีบร่างกายไร้เรี่ยวแรง ใกล้จะไปโลกหน้า ความคิดกรีดร้องใครจะยอมให้ลูกตาย พ่อรีบวิ่งกลับไปถามหมออีกครั้งว่า “ยังมีทางไหนที่จะช่วยลูกผมได้บ้าง” จนได้คำตอบจากหมอว่า “มีหมอคนหนึ่ง ที่วิจัยเกี่ยวกับทารกอยู่ แต่ต้องไปขอร้องเขา เพราะเค้าเป็นหมออยู่ที่กรุงเทพ ชื่อวันดี กุมารเวช โรงพยาบาลรามามหิดล” หลังสิ้นคำตอบพ่อสั่งให้แม่เฝ้าทารกน้อย ก่อนที่ตัวเองจะคว้ากุญแจรถมอเตอร์ไซค์ขับตระเวนรอบเมืองพิษณุโลกเพื่อหา “สมุดหน้าเหลือง” ด้วยยุค 90’s สมัยที่ไม่มีอินเตอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ สมุดหน้าเหลืองจึงเป็นหนทางเดียวในสมัยนั้นที่จะหาช่องทางติดต่อกับโรงพยาบาลในกรุงเทพได้ แต่เจ้ากรรมเมื่อเวลานั้นร้านค้าในตัวเมืองได้ปิดหมดแล้ว ต้องตระเวนเคาะเรียกทีละร้านจนกระทั่งโชคเข้าข้าง เมื่อมีอาแปะร้านขายหนังสือแห่งหนึ่งยังไม่นอน ได้เปิดมาขายสมุดหน้าเหลืองให้ ก่อนจะรีบหาโบกรถรับจ้างเหมาไปยังที่ทำงาน แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จ.กำแพงเพชร เพื่อจะเข้าไปใช้โทรศัพท์ที่มีอยู่เครื่องเดียวในไซส์งาน กว่าจะถึงก็เป็นเวลาดึกสงัดเสียแล้ว ห้วงคืนนั้นพ่อของทารกน้อยต่อสายหาโรงพยาบาลรามามหิดลจากสมุดหน้าเหลือง ผ่านไปหลายสายหลายแผนกหลายต่อหลายทอด จนได้เบอร์โทรศัพท์ของออฟฟิศแพทย์หญิงวันดี ทารกน้อยจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ พ่อก็ไม่ทราบทำได้เพียงกระหน่ำเฝ้าโทรศัพท์กดโทรไปเรื่อยๆจนกว่าคุณหมอวันดีจะมาทำงานที่ออฟฟิศ ช่างเป็นห้วงเวลาที่บีบคั้นหัวใจเหลือเกิน

“เสียงสวรรค์” ช่วงเช้าวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1993 แพทย์หญิงวันดี รับสายหลังจากกระหน่ำโทรไปตลอดคืน พ่อของทารกน้อยรีบแนะนำตัวก่อนจะแจ้งอาการของทารกน้อยให้ฟังด้วยความร้อนรน แพทย์หญิงวันดี ได้ถามกลับว่า “ตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน” พ่อรีบตอบกลับไปว่า “ผมโทรมาจากกำแพงเพชร ตอนนี้อยู่ในป่า ถ้าต้องพาลูกไปกรุงเทพจะต้องรอรถเมล์ 2 ชั่วโมง แล้วนั่งไปอีก 2 ชั่วโมง จากกำแพงเพชรเข้าไปที่ จ.พิษณุโลก เพื่อรับลูกและจะพาขึ้นเครื่องบินที่มีวันละ 1 เที่ยวถึงจะไปถึงกรุงเทพ” แพทย์หญิงวันดีตอบกลับว่า “คุณไม่ต้องมาเด็กจะเสียระหว่างทาง หมอจะรักษาผ่านทางโทรศัพท์ เราจะกระตุ้นให้ลำไส้เริ่มกลับมาทำงาน ก่อนที่เด็กจะเสียชีวิต รีบกลับไปทำตามที่หมอบอก” จากนั้นได้เริ่มบอก “สูตรอาหารผสม” และวิธีการรักษาเบื้องต้น ให้กับพ่อของทารกน้อยจดทุกสิ่งทุกอย่างลงในกระดาษโน๊ตแล้วพับเก็บใส่กระเป๋าอย่างประณีต ก่อนจะโดดงาน รีบออกจากไซส์งานขึ้นรถเมล์มุ่งหน้ากลับไปที่เมืองพิษณุโลกทันที

“ปาฏิหาริย์ยามบ่าย” เมื่อพ่อกลับมาถึงแล้วพบว่าทารกน้อยยังไม่สิ้นใจ รีบนำอาหารผสมสูตรหมอวันดี แกะออกก่อนนำใส่ปากรักษาทารกน้อยตามโพยหมอในทันที แม้ยังไม่เห็นผลทันตา แต่ทารกยังคงสภาพไม่สิ้นใจ “เหมือนจะได้ผล” พ่อจดทุกอากับกริยาของทารกน้อย ก่อนจะรีบโบกรถข้ามจังหวัดกลับไปไซส์งานเพื่อโทรศัพท์หาหมอ การเทียวไปเทียวมา 2 จังหวัดเพื่อรักษาผ่านทางโทรศัพท์ได้เริ่มต้นขึ้นทุก 7 โมงเช้า ของทุกวัน “ตลอด 3 เดือน”แพทย์หญิงวันดีจะใช้เวลาทุกเช้าก่อนเข้างาน รอรับสายโทรศัพท์จากพ่อ เพื่อตามติดรักษาอาการและปรับเปลี่ยนสูตรผสมอาหารตามอาการ จนเด็กทารกน้อย “ฟื้นชีพ” ดีวันดีคืน ผิวหนังที่เหี่ยวก็กลับมาเต่งตึง หายเป็นปกติในที่สุด

“สายสุดท้าย” ปลายเดือนมกราคม ค.ศ.1994 พ่อรายงานอาการของทารกน้อยให้หมอวันดีฟังอย่างเช่นทุกๆวัน ก่อนเสียงปลายสายของหมอตอบกลับ “ยินดีด้วยนะลูกคุณหายแล้ว” ภาพไซส์งานเบื้องหน้าพ่อของทารกน้อยขาวโพลนทันใด เสียงเงียบก็เข้าครอบคลุมสายโทรศัพท์ทั้งสองฝ่าย เข้าสู่อารมณ์เอ่อล้นที่ยากจะพรรณนา แม้สัมผัสได้แต่เพียงเสียงปลายสาย แต่ภาพมรสุมกว่า 3 เดือนไล่ย้อนไปเป็นฉากๆ จนปากพูดอะไรไม่ออก “ผมไม่รู้จะตอบแทนยังไง” ไม่เพียงไม่รู้จัก ไม่เคยแม้แต่เห็นหน้า และหมอท่านนี้ก็ไม่ได้แม้แต่ผลตอบแทนใดๆ แล้วจากไปด้วยคำทิ้งท้ายสั้นๆ “ดูแลลูกให้ดี ขอให้โตมาเป็นเด็กดีนะ ขอให้โชคดี”และสายก็ถูกตัดไป แต่เสียงยังตราตรึงใจ ไม่รู้ลืมไปตลอดกาล

“กระดาษโน้ตความทรงจำ” รายละเอียดการรักษาพ่อยังคงเก็บไว้ในกล่องเป็นอย่างดีจนเวลาล่วงเลยผ่านไปนานแสนนาน จนเด็กทารกน้อยคนนั้นเติบโตขึ้นย่างเข้าวัย 32 ปี ระหว่างกลับไปเยี่ยมพ่อของเขาในช่วงวันหยุด ก่อนจะสะดุดสายตากับกล่องพิลึกพิลั่นในห้องของพ่อ เปิดออกมาดูพบกระดาษโน้ตเก่าๆหลายแผ่นชวนฉงนใจ “พ่อ..พวกนี่คืออะไร” หลังพ่อได้เห็นกระดาษโน้ตเก่าความทรงจำในอดีตพรั่งพรูก่อนเริ่มเล่าเรื่องราวอันสุดมหัศจรรย์กับการชุบชีวิตทารกน้อย ผ่านสายโทรศัพท์ของหมอเทวดาท่านหนึ่ง “หมอวันดี โรงพยาบาลรามา” พ่อเอ่ยชื่อก่อนทิ้งท้าย “ตอนนี้อยู่ไหนแล้วพ่อไม่รู้นะ น่าจะอายุมากแล้ว” จะทันไหมนะ ทารกน้อยในวัยหนุ่มครุ่นคิดในใจ

“ตามหาผู้มีพระคุณ” ทารกน้อยในวัยหนุ่มออกตามหาหมอวันดีที่โรงพยาบาลรามาฯ แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าท่านได้เกษียณไม่ได้มาทำงานเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

“ตามหาผู้มีพระคุณ” ทารกน้อยในวัยหนุ่มออกตามหาหมอวันดีที่โรงพยาบาลรามาฯ แต่ทว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าท่านได้เกษียณไม่ได้มาทำงานเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว จนต้องออกตระเวนถามหาบ้าน จนได้มาถึงหน้าบ้านเก่าๆสุดสมถะ บรรยากาศสุดเงียบสงบ “มีใครอยู่ไหมครับ” หลังสิ้นเสียงเรียก เงาหญิงชราเคลื่อนไหวรางๆเป็นเงาสะท้อนออกมาจากประตูบ้าน ก่อนเปิดออกมาด้วยใบหน้าอันสงสัย “มาหาใครคะ” น้ำเสียงหญิงชราอันแสนเมตตาขยับเข้ามาใกล้ๆ ครั้งได้สบตาอากับกริยาสุดแสนใจดีทำให้ทารกน้อยวัยหนุ่มเข่าทรุดติดพื้นก้มลงกราบโดยอัตโนมัติก่อนบอกกับหมอที่อยู่ในอาการงุนงงว่า “ไม่รู้หมอจะจำผมได้มั้ย ผมคือเด็กที่หมอช่วยชีวิตผ่านโทรศัพท์เมื่อ 32 ปี ก่อน พ่อผมเล่าให้ฟังตอนผมไปเจอกระดาษโน้ตอันนี้ ที่ท่านบอกสูตรผสมกับวิธีการรักษาให้พ่อผม ทำให้ผมรอดตาย” หมอวันดีหยิบกระดาษโน๊ตขึ้นมาอ่านอย่างตั้งใจก่อนกล่าวว่า “นี่มันสูตรของชั้นจริงๆด้วย….ขอให้มีความสุขความเจริญนะ แล้วตอนนี้หนูเป็นอะไร” ทารกน้อยวัยหนุ่มกล่าวตอบ “ผมเป็นตำรวจอยู่นครบาลครับ” ก่อนจะถอดเสื้อคลุมสืบนครบาลตัวเก่งให้กับหมอวันดีโดยไม่ลังเล “เสื้อนี้มีค่าสำหรับผมมากครับ ผมขอให้หมอไว้นะครับ ถ้าไม่มีหมอผมคงตายไปแล้ว” หมอวันดีคลี่เสื้อดูก่อนบรรจงอ่านตัวอักษรบนเสื้อก่อนกล่าวว่า “ขอมอบให้ 9 ชีวิตเลยนะ ขอให้ปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นคนดีช่วยเหลือคนอื่นๆนะลูก ขอบใจนะที่คิดถึงกัน” หมอเทวดาในร่างหญิงชราค่อยหันหลังและเดินกลับเข้าบ้านไปพร้อมๆสายลมที่พัดเบาๆ พาใบเอาไม้ปลิวว่อน ภาพเบื้องหน้าความรู้สึกชวนให้ทารกน้อยวัยหนุ่มน้ำตาคลอ เสมือนเวลาได้ถูกหยุดลงที่หน้าบ้านของหมอวันดี

“ทารกน้อยจากแดนไกล” ปัจจุบันคือ พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ หรือสารวัตรแจ๊ะ สว.กก.สส.3 บก.สส.บช.น. เกิดมาพร้อมอาการป่วยออดๆแอดๆและแพทย์ในจังหวัดพิษณุโลกได้วินิจฉัยว่าเป็นโรค “โลต้าไวรัส” แต่การรักษาไม่ดีขึ้นจนสภาพร่างกายลีบแห่งใกล้เสียชีวิต เพราะแท้จริงเป็น โรคอุจจาระร่วงจากสารอาหารที่เข้มข้นในลำไส้ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในสมัยนั้น แต่ได้รับการรักษาจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวันดี วราวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคนี้โดยตรง “ผ่านทางโทรศัพท์” ซึ่งได้รักษาด้วยการให้สูตรอาหารผสมที่มีส่วนผสมของเกลือแกงและน้ำตาลทรายทำให้สารวัตรแจ๊ะจนรอดตายอย่างปาฏิหารเมื่อปี ค.ศ.1993 ต่อมา แพทย์หญิงวันดีฯ ได้วิจัยพัฒนาจนกลายเป็น “ผงวันดี” หรือ “วันดีรามา ORS” หรือที่เรียกว่า ผงน้ำตาลเกลือแร่ สารช่วยทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ ใช้รักษาโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ซึ่งคิดค้นมาจากการสังเกตุว่าคนไข้โรคอุจจาระร่วงจำนวนมากมักชักและตายอย่างรวดเร็วเพราะการที่ได้สารน้ำที่เข้มข้นเกินไป ซึ่งการคิดค้นสูตรของ แพทย์หญิงวันดีฯ ผลออกมาเป็นที่ยอมรับและใช้ได้ผล มีการนำเสนอผลงานนี้ทางเวทีวิจัยระดับนานาชาติจนเป็นที่ยอมรับทั่วโลก และที่สำคัญท่านได้ช่วยชีวิตคนมามากมาย “นับไม่ถ้วน”

ขอสดุดีจิตวิญญาณ “หมอเทวดา” แพทย์หญิงวันดี วราวิทย์

เพจจ๋อแจ๊ะจับโจร แอดมินฟันหนู เรียบเรียง/พิมพ์

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงวันดี วราวิทย์ อายุ 85 ปี

-การศึกษา

1.พ.ศ.2503 แพทยศาสตร์บัณฑิต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์

2.พ.ศ.2508 Diploma Anerican Board of Pediatrics, USA

3.พ.ศ.2510 Certificate in Pediatric Metabolism, Children’s Mercy Hospital, Missouri University, U.S.A.

4.พ.ศ.2518 อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์

5.พ.ศ.2547 อนุมัติบัตร สาขาโรคทางเดินอาหารและโรคตับในเด็ก

-ตำแหน่งงานที่เคยได้รับ

1.รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

2.รองคณบดีฝ่ายการศึกษาหลังปริญญา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

3.WHO Advisory Board of Enteric Infection and Waterborne Diseases,

4.WHO Regional Technical Advisory Group on Integrated Control of Acute Diarrheal and Respiratory Diseases (RTAG-ICDR)

5.Council member of APPSGHAN

6.ประธานชมรมโรคทางเดินอาหารและตับในเด็ก

-รางวัลที่เคยได้รับ

1.รางวัลชมเชยสภาวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ.2523

2.รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิจัย ปี พ.ศ.2528

3.รางวัล Life Time Achievement Award in diarrheal Diseases, Asian Society Conference on Diarrheal Diseases Committee 2006

4.รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล บี.บราวน์ ปี พ.ศ.2550

5.ปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ปี พ.ศ.2552

6.รางวัลกุมารแพทย์ดีเด่นจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ในวาระราชวิทยาลัยก่อตั้งครบ 50 ปี ปี พ.ศ.2554

7.รางวัลมหิดลทยากร สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ.2555

-ผลงานดีเด่น

1.รางวัลงานวิจัยเรื่อง “โรคอุจจาระร่วง” จากสภาวิจัยและมหิดล

2.รางวัลความเป็นครู “อาจารย์ที่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง” ในวาระฉลองภาควิชากุมารฯรามาธิบดีครบ 50 ปี ปี พ.ศ.2558

3.เป็นกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลผู้ป่วยด้วยความรักความเมตตา

4.เป็นผู้ตั้งกองทุนสำหรับผู้ป่วยยากไร้

5.อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สังคม “เป็นกรรมการพิจารณารับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม” กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปี พ.ศ.2538-ปัจจุบัน

Related posts