บริษัท ซินเคอหยวน สตีล ส่งทีมทนายแถลงชี้แจงมาตรฐานเหล็ก ปมตึก สตง. ถล่ม น่าจะมาจากปัจจัยอื่น ยืนยันมีมาตรฐาน โต้จีนเทา ประกอบธุรกิจโดยสุจริตมาตลอด
นายปิยะพงศ์ คงมะลวน พร้อมด้วย นายสรุศักดิ์ วีระกุล และ นายปัทมากร ภิญโญชัยพลกุล ทีมทนายความตัวแทนจาก บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จํากัด หรือ SKY ร่วมกันแถลงข่าวและชี้แจงเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็กของบริษัทหลังถูกนําไปใช้ในการก่อสร้างตึก สตง. ถล่ม และถูกตรวจสอบว่าเหล็กไม่ได้มาตรฐาน
นายปิยะพงศ์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และดำเนินกิจการภายใต้มาตรฐาน ISO9000 รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดต่างๆ ของไทยอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ไม่เคยมีประวัติการร้องเรียนเรื่องคุณภาพสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่วนสาเหตุหลักของการที่ตึก สตง. ถล่มน่าจะมาจากปัจจัยอื่น มากกว่าจะเป็นคุณภาพของเหล็กเส้น ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนน้อย
บริษัทฯ เห็นว่า สาเหตุหลักของการที่ตึก สตง. ถล่มน่าจะมาจากปัจจัยอื่น เช่น แบบการก่อสร้าง หรือการควบคุมงานของวิศวกร มากกว่าจะเป็นคุณภาพของเหล็กเส้น ซึ่งเป็นเพียงองค์ประกอบส่วนน้อย สอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการและวิศวกรโครงสร้างหลายท่าน ที่เริ่มออกมาให้ข้อมูลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการชี้แจงข้อเท็จจริงด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
ส่วนประเด็นเรื่องคุณภาพเหล็กที่ตรวจ 2 ครั้ง แต่ไม่ได้มาตรฐาน นายสุรศักดิ์ ระบุว่า การทดสอบดังกล่าวทำที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเครื่องมือวัดค่าโบรอน ไม่มีขีดความสามารถในการวัดตามเกณฑ์ที่ มอก. กำหนด ทางบริษัทฯ ขอให้มีการตรวจพิสูจน์ซ้ำเป็นครั้งที่ 3 ที่สถาบันยานยนต์ ซึ่งมีเครื่องมือที่สามารถวัดค่าได้ตามเกณฑ์ แต่ทาง สมอ. ยืนยันว่าจะไม่มีการตรวจครั้งที่ 3
นอกจากนี้ยังพูดถึงประเด็นตัวอย่างเหล็ก ที่ สมอ.เก็บจากซากตึก สตง.ไปตรวจสอบ และรายงานผลว่าพบเหล็กไม่ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม โดยระบุว่า เป็นเหล็กของ บริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ถือว่าผลตรวจไม่เป็นธรรม เนื่องจากได้เก็บตัวอย่างเหล็กที่ผ่านการใช้งานไปแล้ว
“เหล็กที่เอาไปสร้างตึก สตง.เป็นการขายผ่านดีลเลอร์ ซึ่งเมื่อจะใช้งานลูกค้าก็ต้องตรวจสอบมาตรฐานซ้ำก่อนใช้ และที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีลูกค้าร้องเรียนเรื่องมาตรฐาน แต่การตรวจสอบของตึก สตง. ทราบว่าเป็นการนำเหล็กที่ใช้งานแล้วไปตรวจสอบมาตรฐาน ส่วนนี้ก็มองว่าอาจจะใช้อ้างอิงมาตรฐานไม่ได้ ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย และตอนนี้สาเหตุหลักของอุบัติเหตุก็ยังไม่ได้สรุป”
ส่วนกรณี ฝุ่นแดง ที่ถูกอายัดจากที่โรงงาน จังหวัด ระยอง นั้น บริษัทฯ ชี้แจงว่าเป็น ฝุ่นดำ ซึ่งมีสังกะสีปนเปื้อนสูง เกิดจากกระบวนการผลิตตามปกติ และมีการจัดการตามข้อกำหนดการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การเคลื่อนย้ายต้องได้รับอนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทฯ ยืนยันว่าได้ดำเนินการแจ้งขออนุญาตแล้วทุกครั้งที่มีการเก็บและเคลื่อนย้าย ส่วนปริมาณฝุ่นดำที่มีปริมาณเกือบ 5 หมื่นตัน เป็นความคลาดเคลื่อนในการใส่ข้อมูลในระบบออนไลน์ ซึ่งได้ชี้แจงกับทางอุตสาหกรรมจังหวัดระยองแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การแถลงข่าวในวันนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเหล็กเส้นที่ใช้ก่อสร้างอาคาร สตง. ซึ่งถูกนำไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยทีมกฎหมายถูกว่าจ้างให้มาชี้แจงเฉพาะเรื่องการถูกสั่งปิดโรงงานเท่านั้น จึงไม่ทราบเรื่องรายละเอียดการตรวจสอบของวันที่ 31 มีนาคม 2568
ทั้งนี้ทีมกฎหมายให้ความเห็นกรณีการเก็บตัวอย่างเหล็กเมื่อ 31 มีนาคม 2568 ไม่เป็นธรรมต่อบริษัทฯ เพราะการนำเหล็กที่ผ่านการใช้งานและอยู่ในซากอาคารที่ถล่มไปทดสอบมาตรฐาน ไม่สามารถสะท้อนคุณภาพ ณ เวลาผลิตได้ เพราะเหล็กได้ผ่านแรงกดทับและความเสียหายแล้ว การนำผลทดสอบดังกล่าวมาชี้นำสังคมถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
นายปิยะพงศ์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ประกอบธุรกิจโดยสุจริตมาตลอดไม่เคยถูกร้องเรียนและไม่ใช่จีนเทาอย่างแน่นอน โดย 5 ปี หลังสุดมีการเสียภาษีกว่า 856 ล้านบาท