สสว. ร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา มุ่งยกระดับเศรษฐกิจฐานราก 2,150 ราย ให้เติบโตและสร้างมาตรฐานสินค้า พบช่องทางการตลาด จนต่อยอดสู่การส่งออก จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ (Business Development Service : BDS) ในโครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชนและรายย่อย กิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพของสินค้า/บริการ เพื่อผลักดัน MSME เติบโตได้เกินเป้ากว่า 65 ล้านบาท
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)กล่าวถึง โครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชนและรายย่อย เพื่อการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและช่องทางการตลาด ปีงบประมาณ 2566 ว่า สสว. ให้ความสำคัญในการเร่งยกระดับให้กับผู้ประกอบการให้มากขึ้น ผลักดันผู้ประกอบการฐานรากให้สามารถเข้าถึงบริการจากหน่วยงานภาครัฐ ผ่านการส่งเสริมด้วยกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ผอ.สสว. เผยอีกว่า ผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการพัฒนาตั้งแต่แนวคิด วิธีการทำงาน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแต่ละธุรกิจ เพื่อเพิ่มมูลค่าและตอบสนองต่อผู้บริโภคหรือความต้องการของตลาด ไปสู่ช่องทางการตลาดที่กว้างขึ้น เพิ่มรายได้มากขึ้น ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ไม่ต่ำกว่า 65 ล้านบาท
“ปีนี้ สสว. ได้ร่วมกับ มรภ.สวนสุนันทา ในการผลักดัน MSME ที่มีความพร้อม จำนวน 1,100 ราย เพื่อรับบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) ของหน่วยงานบริการทางธุรกิจ SME (Service Provider) ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะต่อยอดให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและการบริหารจัดการธุรกิจ เป็นต้น
ผอ.สสว. เผยอีกว่า “หลังจากที่ได้เข้าสู่ระบบ BDS แล้ว ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ จากผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่ได้ขึ้นทะเบียนกว่า 90 ราย หน่วยงาน สามารถรองรับและให้บริการ ได้กว่า 400 บริการ โดยสามารถเลือกให้เหมาะสมกับประเภทธุรกิจ การดำเนินงาน หรือเป้าหมายตลาดที่ต้องการ เพื่อให้เข้าถึงและตรงเป้าที่สุด หมายถึง ตรงกับเป้าหมายการเติบโตทางธุรกิจ ลูกค้าหรือตลาดเป้าหมาย และยังตรงตามรูปแบบหรือประเภทของธุรกิจ ได้แก่ การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ การพัฒนาและการบริหารจัดการธุรกิจ การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด การพัฒนาตลาดต่างประเทศ การพัฒนานวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการพัฒนาและการยกระดับทางธุรกิจ โดยมุ่งหวังที่จะให้ MSME สามารถที่จะดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ เหมือนเป็นการสร้างมืออาชีพ ด้วยบริการมืออาชีพจากทั้งภาครัฐและเอกชนในระบบ BDS นี้”
นายสมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ คณบดีวิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวถึงผลการดำเนินกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพของสินค้า/บริการ ในโครงการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชนและรายย่อย เพื่อการเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและช่องทางการตลาด ปีงบประมาณ 2566 ว่า มรภ.สวนสุนันทา จัดกิจกรรมหลักในการอบรมให้ความรู้และให้คำปรึกษา รวมถึงการวิเคราะห์กิจการแก่ผู้ประกอบการ จำนวนทั้งสิ้น 32 ครั้ง ในพื้นที่ตามกลุ่มจังหวัดทั่วประเทศ มีผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน 2,150 ราย โดยมีทั้งนิติบุคคล (จำนวน 427 ราย/ ร้อยละ19.9) วิสาหกิจชุมชน (จำนวน 574 ราย / ร้อยละ 26.7) และบุคคลธรรมดา (จำนวน 1,149 ราย / ร้อยละ 53.4) ครอบคลุมประเภทธุรกิจทั้งสินค้าและบริการ โดย 3 อันดับแรก เป็น การผลิตแปรรูปอาหาร บริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม และ ผลิตแปรรูปและจำหน่ายสินค้าทางการเกษตร พร้อมทีมคลินิกสัญจรช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความพร้อม 1,100 ราย ให้ได้รับโอกาสในการเข้าสู่ระบบ BDS
ผู้ประกอบการสามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมได้ที่ Facebook : OSMEP สสว. / http://bds.sme.go.th / SME CONNEXT / Facebook : ecommercebyssru และ Line : @smebds