การให้นมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กทารก และเป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลกพยายามรณรงค์ให้คุณแม่ทุกคนตระหนักถึงคุณค่าการให้นมแม่แก่ลูกมาตลอด แต่ในความเป็นจริงคุณแม่หลายคนมักประสบปัญหาการให้นมแม่กับลูก เนื่องจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักที่คุณแม่ต้องหยุดการให้นมแม่มากที่สุดก็คือ หน้าที่การงาน และปัญหานมแม่หมดจึงไม่สามารถให้นมลูกได้ตามที่ต้องการ
งานวิจัยบ่งชี้ หน้าที่การงานมีผลต่อระยะเวลาการให้นมแม่มากที่สุด
งานวิจัยล่าสุดจาก สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (Pediatric Nutrition Manufacturer Association : PNMA) ในหัวข้อการสำรวจรูปแบบวิธีการบริโภคและความเข้าใจของสารอาหารในเด็ก สำรวจความคิดเห็นจากคุณแม่ในวัย 18-50 ปี ที่มีลูกอายุ 1-3 ขวบปี จำนวน 800 คนทั่วประเทศ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพ จนถึงต่างจังหวัดในตัวเมืองและนอกเมือง ระบุว่า การกลับไปทำงานและการมีน้ำนมไม่เพียงพอ เป็นสาเหตุสำคัญในการหยุดให้นมแม่
โดยเหตุผลการกลับไปทำงานทำให้ต้องหยุดให้นมแม่สูงถึงร้อยละ 39 รองลงมาคือเหตุผลน้ำนมหมด ร้อยละ 38 เป็นสองสาเหตุหลักที่ทำให้คุณแม่ส่วนใหญ่เลือกที่จะหยุดให้นมลูก แล้วหันมาใช้นมเสริมอาหารเพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เหตุผลว่าอยากเสริมอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้ลูกอยู่ที่ร้อยละ 31 และ อยากให้ลูกหัดเรื่องการเคี้ยวอาหารและคิดว่าปริมาณสารอาหารในนมแม่ไม่เพียงพอ อยู่ที่ร้อยละ 21
นอกจากนี้เกณฑ์เฉลี่ยการให้นมแม่ของกลุ่มประชากรตัวอย่าง ระบุว่า มีระยะเวลาการให้นมแม่เฉลี่ยอยู่ในช่วง 3.1-6 เดือน สูงถึงร้อยละ 28 คุณแม่ที่ให้นมแม่ในกลุ่มระยะเวลานี้ ส่วนใหญ่เป็นคุณแม่ที่อาศัยในกรุงเทพและต่างจังหวัดเขตเมือง และมีอายุ 25 ปีขึ้นไปซึ่งอยู่ในช่วงวัยทำงาน
ส่วน ระยะเวลาการให้นมแม่ 0-3 เดือน, 6.1-9 เดือน, 9.1-12 เดือน และให้นมแม่มากกว่าปีครึ่ง อยู่ที่ร้อยละ 12 เท่ากันทั้งหมด และพบว่ คุณแม่ที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองและอายุน้อย มีการให้นมบุตรที่ยาวนานกว่าคุณแม่ที่อาศัยอยู่นอกเมืองแต่อายุเยอะ ขณะที่อายุของการให้นมบุตรโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 1 ปีในทุกกลุ่มย่อย
จากตัวเลขผลการวิจับทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าคุณแม่ส่วนใหญ่ในทุกช่วงอายุ ตระหนักถึงความสำคัญในการให้นมแม่เป็นอย่างดี เพียงแต่ความจำเป็นในหน้าที่การงาน และปัญหาน้ำนมแม่หมด ทำให้ต้องหยุดการให้นมแม่แก่ลูก
ควรเร่งกระจายความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการเด็กให้ทั่วถึง
พญ.กิติมา ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก (Pediatric Nutrition Manufacturer Association : PNMA) กล่าวว่า สิ่งที่น่าประหลาดใจในผลการวิจัยชิ้นนี้ก็คือ เราพบว่าคุณแม่ที่อาศัยในต่างจังหวัดทั้งในตัวเมืองและนอกเมือง มีเปอร์เซ็นต์การให้นมแม่ที่ระยะเวลา 0-6 เดือนมากที่สุด โดยคุณแม่ต่างจังหวัดนอกเขตเมืองสูงถึงร้อยละ 47 และคุณแม่ต่างจังหวัดในตัวเมืองสูงถึงร้อยละ 37 ในขณะที่คุณแม่ในกรุงเทพ มีอัตราให้นมแม่ในระยะยาว 6-12 เดือน สูงถึงร้อยละ 48 เราจึงจำเป็นต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนมแม่และนมเสริมอาหาเพื่อการเสริมพัฒนาการที่ดีสำหรับเด็กอย่างต่อเนื่อง
“จากงานวิจัยผมเห็นว่าเราจำเป็นต้องเร่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านสารอาหารในนมแม่และนมเสริมอาหาร อย่างครบถ้วนและเป็นไปตามพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปซึ่งเป็นช่วงรอยต่อสำคัญของเด็กที่จะต้องเริ่มกินอาหารบดละเอียดครั้งละน้อยๆ แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณควบคู่ไปกับการดื่มนมแม่ หรือนมเสริมอาหารในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ เพื่อให้เด็กได้ปรับระบบการย่อยอาหารตามพัฒนาการร่างกาย และได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเติบโตอย่างครบถ้วน หากคุณแม่ขาดความรู้ความเข้าใจด้านโภชนาการสำหรับเด็ก ในช่วงรอยต่อระหว่างนมแม่และการใช้นมเสริมอาหารตรงนี้ไป อาจส่งผลต่อพัฒนาการและสุขภาพร่างกายของเด็กในระยะยาว ซี่งจะกระทบเป็นลูกโซ่ถึงคุณภาพประชากรไทยรุ่นใหม่ในอนาคตอีกด้วย
ดังนั้นใช้การสื่อสารทุกช่องทางตั้งแต่การโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ สื่อออนไลน์ เว็บไซต์ เพจโซเซียลมีเดีย สื่อบุคคลที่มีความรู้ความน่าเชื่อถือเช่น กุมารแพทย์ และนักโภชนาการ เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่คุณแม่ทั่วประเทศอย่างทั่วถึง เพราะเชื่อว่าคุณแม่ส่วนใหญ่ล้วนอยากให้นมแม่แก่ลูกด้วยความรักความห่วยใย แต่ทว่าในแต่ละครอบครัวล้วนมีความจำเป็นและทางเลือกที่แตกต่างกันออกไป การส่งเสริมความรู้ด้านสารอาหารในนมแม่และนมเสริมอาหาร อย่างรอบด้านและเข้าถึงได้ทุกครอบครัว จะช่วยให้คุณแม่ทุกคนสามารถบริหารจัดการโภชนาการสำหรับลูก ภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง ได้อย่างมีประสิทธิภาพแก่เด็กในทุกช่วงวัย” พญ.กิติมา กล่าวทิ้งท้าย