วันที่ 3 มกราคม 2567 พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้ช่วย ผบ.ตร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ป.ป.ส. พร้อมด้วย พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ ตันตินวะชัย ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และ นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.สมพงษ์ ใจจา รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กอ.รมน แถลงผลงานยาเสพติดไตรมาสแรก (1 ต.ค.-31 ธ.ค. 66) ตามปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดระยะ 1 ปี Quick Win และการแก้ไขปัญหายาเสพติดทุกมาตรการ ตามนโยบายของรัฐบาล ณ ศูนย์ปฏิบัติการ สำนักงาน ป.ป.ส. (ดินแดง)
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยได้มอบนโยบายให้ทุกภาคส่วนร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหา และจากสถานการณ์ยาเสพติดในช่วงที่ผ่านมาที่มีผู้เสพยาเสพติดจนเกิดปัญหาทางจิตและสร้างความรุนแรงในชุมชน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้กำหนดปฏิบัติการ Quick win ในการสำรวจและนำผู้ป่วยจิตเวชเข้าบำบัด พร้อมกับลดการเข้าของยาเสพติดบริเวณชายแดนภาคเหนือและภาคตะวันออดเฉียงเหนือ ด้วยการยกระดับสกัดกั้นยาเสพติดตามมาตรา 5(10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย และนครพนม
น.พ.กิตติศักศักดิ์ กล่าวว่า การบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดตามปฏิบัติ Quick Win รวมถึงการฟื้นสภาพเพื่อให้กลับคืนสู่สังคม และการแก้ไขผู้มีปัญหาสุขภาพจิตยาเสพติดอยู่ใน 13 ประเด็นหลักในการดำเนินการของกระทรวงฯ โดยกระทรวงฯ ได้กำหนดการสถานบริการ 3 กลุ่มในระดับจังหวัดมี 1) หอผู้ป่วยที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวช ในโรงพบาบาลระดับจังหวัดทุกจังหวัด จำนวน 126 โรงพยาบาล 2) การให้บริการระดับอำเภอ มีการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลชุมชนให้มีศักยภาพเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช หรือ มินิธัญญารักษ์ ซึ่งเดิมทีสถาบันธัญญารักษ์มีเพียง 7 แห่งทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันได้มี มินิธัญญารักษ์ ใน 46 จังหวัด จำนวน 76 โรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชในระดับกลาง และตั้งเป้าขยายการดำเนินการให้ครบ 76 จังหวัด 153 โรงพยาบาล 3)ให้มีบริการแผนกดูแลผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติดในโรงพยาบาลชุมชน เป็นผู้ป่วยนอกที่ไม่มีความรุนแรง ใน 626 โรงพยาบาลชุมชน และมีความเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน
พล.ต.สมพงษ์ กล่าวว่าผลจากการกำหนดพื้นที่เร่งด่วนตามมาตรา 5 (10) ของประมวลกฎหมายยาเสพติด ภาคเหนือ จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ชายแดนภาคเหนือ (นบ.ยส.35) หรือ Taskforce 35 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) หรือ Taskforce 24 สามารถดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติดอย่างเข้มข้น และเด็ดขาด โดยมีการประชุมโต๊ะข่าว สืบสวนขยายผล ลาดตระเวน ตั้งด่าน/จุดตรวจ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถจับกุมผู้ต้องหา 372 คน ของกลางยาบ้า 14 ล้านเม็ดและเฮโรอีน 0.8 กิโลกรัม
ในส่วนของการร่วมแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการค้นหาเชิงรุก และเร่งนำผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการทางสาธารณสุข โดยเน้นหนักผู้มีอาการทางจิตเวชจากยาเสพติด และพิจารณาดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์รักษ์ใจ”
พล.ต.ท.คีรีศักดิ์ กล่าวถึงผลการดำเนินงานในส่วนของการปราบปรามผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติด โดยมีผลการดำเนินงานด้านการสืบสวนปราบปรามที่สำคัญในห้วง 3 เดือนแรก ดังนี้ 1) ผลการจับกุมคดียาเสพติดข้อหาร้ายแรงซึ่งเป็นกลุ่มผู้ค้ารายย่อย จำนวน 23,000 คดี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วในห้วงเวลาเดียวกันร้อยละ 30 2) ผลการจับจับกุมคดีรายสำคัญ 268 คดี เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10% และในด้านการดำเนินตามปฏิบัติการ Quick win ลดความเดือดร้อนประชาชนจากจิตเวช ได้นำผู้ป่วยจิตเวชจำนวน 1,052 คน เข้าสู่กระบวนการรักษา คิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์จากเป้าหมาย 4,414คน ที่ได้สำรวจ และจาการสำรวจพบผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ จำนวน 354 คน ได้นำเข้าสู่กระบวนการรักษาอีก 202 คน คิดเป็น 57 เปอร์เซ็นต์
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า การจับกุมผู้ค้ารายย่อยที่มากขึ้น ร้อยละ 30 เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ถ้าชุมชนเห็นว่าภาครัฐช่วยลดผู้ค้าในชุมชนได้จะเกิดความเชื่อมั่นในการทำงานของภาครัฐและเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเป็นไปตาม การมอบนโยบายของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2566 ที่ต้องปลุกประชาชนให้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ ได้กล่าวถึง การเตรียมเปิดโครงการให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมผลิตคลิปที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อต้านยาเสพติด เพื่อเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ และประกวดแข่งขันเพื่อรับรางวัล เพื่อเปิดให้เยาวชนได้แสดงออก เสนอไอเดีย และส่งต่อในกลุ่มเยาวชนด้วยกัน ถึงการต่อต้ายาเสพติด
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวอีกว่า 3 เดือนแรกของงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีผลความร่วมมือทางต่างประเทศที่ดีขึ้น โดยสามารถจับกุมได้จำนวน 275 คดี เพิ่มขึ้นถึง 139% การจับกุมผู้ต้องหา 519 รายเพิ่มขึ้นกว่า 200% จำนวนยาบ้า 202 ล้านเม็ด เพิ่มขึ้น 158% โดยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สปป.ลาว ได้จับกุมผู้ต้องหาสัญชาติมาเลเซีย อายุ 39 ปี ที่มีบทบาทในการลักลอบค้ายาเสพติดในภูมิภาคมาอย่างยาวนาน โดยถือเป็นสัญญาณความร่วมมือที่สำคัญ ในการดำเนินการต่อขบวนการยาเสพติดที่หลบหนีในต่างประเทศ ในขณะที่มาตรการปราบปรามในประเทศ การจับกุมข้อหาร้ายแรงคือ ครอบครอง/จำหน่าย/สมคบ สนับสนุน จำนวน 22,716 คดี เพิ่มขึ้น 28% การจับกุมยาบ้าได้ 205 ล้านเม็ด เพิ่มขึ้น 120% ในส่วนการยึดทรัพย์ยึดได้จำนวน 1,964 ล้าน และจะมีปฏิบัติการเร็วๆนี้ ถึงการยึดทรัพย์ผู้ต้องหารายสำคัญจำนวนกว่า 500 ล้าน
พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวตอนท้ายว่า การดำเนินการตามนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลต้องไปพร้อมกันทั้ง 5 เสาหลักคือ ทหาร ตำรวจ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และประชาชน ซึ่งป.ป.ส. จะเป็นเหมือนโซ่คล้องให้กับ 5 เสาหลักเดินในเรื่องของการแก้ไขปัญหายาเสพติด หากเรามีเป้าหมายเดียวกัน แนวทางเดียวกัน เราจะเดินไปพร้อมกันการแก้ไขปัญหายาเสพติดก็จะประสบผลสำเร็จ