เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 แผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ที่ดำเนินงานโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยรามคำแหง สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) ภาคใต้ และสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า จัดประชุมสานเสวนาผู้นำเกาะยั่งยืน (Sustainable Islands’ Leadership Forum) เพื่อระดมความคิดเห็น และกำหนดกรอบทิศทางการขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาคมชาวเกาะ และแลกเปลี่ยนสถานการณ์ทิศทางความต้องการของการพัฒนาเกาะในประเทศไทยที่เหมาะสมตามอัตลักษณ์เฉพาะของวิถีชาวเกาะแต่ละภูมิภาค ณ โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี การเสวนาครั้งนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องตามข้อตกลงในปฏิญญาเกาะเต่าในประเด็นการจัดทำแผนและดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน กลุ่มวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการแผนงานท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ บพข. บรรยายพิเศษ เรื่อง การบริหารจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยมี คุณเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับและให้มุมมองแก่ผู้ร่วมงานเสวนา คุณณรงค์ พรหมจิตต ผู้แทนการตลาด สำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (MICE) ภาคใต้ นำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และได้รับการสนับสนุนจากคุณรำลึก อัศวชิน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า คุณรัฎดา ลาภหนุน และคุณศิราณี อนันตเมฆ ที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
ผู้นำประชาคมชาวเกาะ 21 เกาะ ประกอบด้วย เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะทะลุ เกาะพิทักษ์ เกาะพะลวย เกาะพยาม เกาะภูเก็ต เกาะราชา เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะหลีเป๊ะ เกาะพีพี เกาะปู เกาะจัม เกาะลิบง เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า ได้ร่วมกันทบทวน วิเคราะห์ปฏิญญาเกาะเต่าที่มีความมุ่งมั่นต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งเสวนาแลกเปลี่ยน โอกาส ข้อจำกัด ทิศทางการพัฒนาเกาะอย่างยั่งยืน และกำหนดทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนในภาพรวมของประเทศไทย
ข้อเสนอแนะที่ได้จากการเสวนาครั้งนี้จะเสนอต่อการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามประกาศปฏิญญาเกาะเต่า เพื่อการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม “ภายใต้กิจกรรมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจคาร์บอนในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน” ระหว่างวันที่ 26 – 27 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งดำเนินการโดยกรมการท่องเที่ยว