สกู๊ปพิเศษ
โดย…ยอดเยาวพา
“คามิเลียสีชมพู” ผู้ปลุกตำนาน “พ่อปู่สมิงตาไฟ” ร่ายเวทย์ใส่ความสนุกในนิยายเกิดเป็นตัวละครมากมายหลายเรื่องราว
กว่าจะได้นักเขียนฝีมือฉกาจนามปากกา “คามิเลียสีชมพู” มาก็ต้องรอเจ้าตัวหายป่วยและพักรักษาตัวจนสามารถตอบสัมภาษณ์ได้ จากคำถามที่ถามไปว่านิยายที่ร้อยเรียงเรื่องราวและแตกตัวละครออกมามากมายต้องวางโครงเรื่องอย่างไร ไหนจะเรื่องของการต่อสู้ด้วยคุณไสยถือเป็นงานยากแค่ไหน ซึ่งที่ได้เจอนักเขียนจากโดนปกนิยายเรื่อง “จันทระอสุรา (ปเรียนน์จันทร์-สุระอสุรา)” ป้ายยาด้วยความสวยของลายเส้น ความหล่อ เท่ห์ กล้ามโตของพระเอกทำให้ทักหานักเขียนและได้ร่วมงานกัน มิหนำซ้ำหลังจากได้อ่าน “มันตราสมิง” พลอยให้หลงใหล พ่อปู่สมิงตาไฟ เชื่อไหม หลงจนอ่าน 2 รอบจากนิยาย 2 เล่มจบ ทุกวันนี้ยังคิดถึงพ่อปู่อยู่แต่ยังเจียดเวลาอ่านไม่ได้ และจากอ่านนิยายทุกเรื่องของคามิเลียสีชมพูได้รู้วิถีชีวิตที่นักเขียนใส่ลงไปจนนึกภาพออก นอกจากนี้ยังนึกภาพผ้าซิ่นลวดลายที่กว่าจะทอออกมานั้นยากที่ให้นางเอกใส่ในแต่ละเรื่อง พร้อมกับเรียนรู้ความสุขของคนท้องถิ่นที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย กินง่าย ทว่ามีเรื่องของไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องร่วมสร้างสีสัน ความสนุก ก็เป็นครั้งแรกที่ได้อ่านแนวนั้นนะ คราวนี้จะพาไปรู้จักนักเขียนเจ้าของนิยายที่ตัวละครเชื่อมโยงกันออกมาเป็นเซตให้เลือกอ่านตามความชอบ โดยกิ๊ฟ หรือ คามิเลียสีชมพูเล่าว่า
“สวัสดีค่า “คามิเลียสีชมพู” ค่า เขียนนิยายมาน่าจะประมาณ 5 ปีแล้วค่ะ ในการวางโครงเรื่อง เพื่อสร้างตัวละครเชื่อมโยงกัน เรื่องที่เชื่อมโยงกันเริ่มมาจากเรื่อง “มันตราสมิง” ค่ะ จากนั้นก็เชื่อมโยงไปแทบจะทุกเรื่องเลยค่ะ
o มันตราสมิง (มันตรา-สมิง)
o จันทระอสุรา (ปเรียนน์จันทร์-สุระอสุรา)
o ดารกาวายุ (ดารกา-วายุ)
o ไอยรีสิตามัน (ไอยรีสิตามัน-อ้อมจักกวาฬ)
o จันทรามนตรา (จี-โยรุ)
o ดวงใจไวษวาหะ (พระพาย-ไวษวาหะ)
o เกสรราชสีห์ (เกสร-ไกรสร)
o ไพลินนิลกาฬ (เนตรไพลิน-นิลลกาฬ)
o นาคาเกี้ยวจันทร์ (เกี้ยวจันทร์-อาศีรชต)
o สืบปริศนากับนาคาน้อย (โรส-จุฬนาคา)
o นาคาเคียงจันทร์ (เกี้ยวจันทร์-อาศีรชต)
o และเรื่องที่กำลังเขียนปัจจุบัน “บุปผาการกะ” (ลำดวน-การกะ) ค่ะ
แน่นอนว่าทุกเรื่องสามารถอ่านแยกกันได้ โดยจะมีการกล่าวถึงตัวละครต่าง ๆ ไว้แล้วส่วนหนึ่ง แต่หากได้อรรถรสในการอ่านมากขึ้นก็สามารถอ่านเรียงตามลำดับการเขียนได้เลยค่า
จากที่วางโครงเรื่องเขียนเล่มแรกออกมา จริง ๆ ไม่ได้มีการวางแผนอะไรขนาดนั้นค่ะ ในตอนนั้นพอออกเรื่องแรกไป พอผ่านไปประมาณ 1 เดือนก็จะเริ่มเขียนเรื่องใหม่ต่อทันที ส่วนระยะเวลาในการเขียนจบนั้นขึ้นอยู่กับเวลาของการทำงานและความสะดวกจริง ๆ ค่ะ แรก ๆ อาจเขียนได้มากหน่อยเพราะเขียนทุกวัน (จนทำให้บางวันแทบไม่ได้นอนเพราะต้องทำงานประจำไปด้วย) จึงส่งผลให้ช่วงหลัง ๆ งานไม่ได้ออกมาเร็วเท่ากับช่วงแรก ๆ ค่ะ เรื่องของสุขภาพด้วย และงานประจำด้วยซึ่งก็ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก ๆ
เรื่องของการออกแบบบุคลิกนั้นไม่ยากค่ะ แต่จะยากก็ตรงที่เวลาเขียนฉันจะสามารถคงนิสัยใจคอและการกระทำของตัวละครนั้น ๆ ไว้ได้หรือไม่ เพราะบางครั้งหากฉันอินกับเนื้อเรื่องมากเกินไป ฉันก็มักจะเผลอเอาความคิดของตัวเองใส่เข้าไปในการกระทำของตัวละครจนทำให้บางครั้งต้องกลับมาเขียนใหม่ กลับมาคิดทบทวนให้ดีว่าหากเป็นตัวละครตัวนี้มีนิสัยเช่นที่ออกแบบไว้ เขาจะทำอย่างไรเมื่อเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ค่ะ ส่วนนี้แหล่ะค่ะที่ยาก
เรื่องเสื้อผ้าเน้นไปทางชุดพื้นเมืองถามว่าทำการบ้านหนักไหม ส่วนนี้ยอมรับเลยค่ะว่าค่อนข้างหนัก แต่ก็เป็นส่วนที่เป็นสำคัญจุดหนึ่ง เพราะทางฉันเองชอบที่จะใส่ความเป็นเหนือเข้าไปในนิยาย รู้สึกว่าชุดพื้นเมืองนั้นมีเสน่ห์ แต่หากจะใส่ไปส่ง ๆ ก็คงจะรู้สึกผิดกับครูบาอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งท่านทอผ้ามาก่อน ก็จะพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ค่ะ อาจจะไม่ได้แน่นมากถึงขั้นทอผ้าได้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็พอจะมีลายผ้าและความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับผ้าซิ่นให้คุณคุณของฉันได้อ่านได้
ในการเขียนแต่ละเรื่องปรกติแล้วฉันจะให้เวลาตัวเองประมาณ 1 เดือนสำหรับหาข้อมูลเบื้องต้น และเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง แต่จะไม่หาข้อมูลทั้งหมดและเขียนไปทีเดียวเพราะฉันเป็นคนขี้ลืมค่ะ แม้จะจดไว้แล้วก็ตามค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะเขียนสรุปไว้ในสมุดแล้วจึงเริ่มเขียนนิยาย พอถึงจุดที่ต้องหาข้อมูลเพิ่มก็จำเป็นต้องกลับมาเปิดหาข้อมูลอีกครั้ง หรือกลับไปหาจากอ้างอิงเดิมที่เคยหาไว้ค่ะ เป็นแบบนี้เสียงส่วนใหญ่ค่ะ
ในเรื่องที่พระเอกเก่งอาคม ต้องทำการบ้านหนักอีกเรื่องเรียกว่าหนักพอพอกับการหาข้อมูลผ้าซิ่นเลยค่ะ แต่โชคยังดีที่ฉันพอมีผู้มีความรู้อยู่รอบกาย แม้หลาย ๆ ท่านจะจากไปแล้วก็ตาม ตัวฉันเองแอบเสียดายที่เริ่มเขียนนิยายช้าเกินไป เพราะหากเริ่มเร็วกว่านี้ บางทีความรู้หลาย ๆ อย่างจากครูที่ยังมีลมหายใจอยู่ตอนนั้นอาจถูกบรรจุไว้ในรูปแบบของนิยายของคามิเลียสีชมพู สำหรับเรื่องคาถาอาคมนั้นส่วนใหญ่ฉันอาศัยศึกษาจากปั๊บสาโบราณซึ่งถูกแบ่งปันกันมาในกลุ่มของผู้เฒ่าผู้แก่ค่ะ
ปั๊บสาหรือใบลานบางเล่มนั้นถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น แต่ด้วยความที่หลายเล่มนั้นถูกจารึกด้วยภาษาล้านนา คนสมัยใหม่หลายคนจึงไม่อาจอ่านและเข้าใจได้ โชคยังดีที่ฉันเองก็พอรู้จักคนที่อ่านและศึกษาภาษาล้านนาอยู่บ้าง ต้องขอบคุณเขาจริง ๆ ค่ะ นอกจากนั้นก็คงเป็นพวกคาถาทั่ว ๆ ไปซึ่งก็สามารถหาข้อมูลได้จากทางเว็บ แต่ฉันเองอาจหาข้อมูลลึกลงไปอีก เช่น ความหมายที่แท้จริงของคาถานั้น ๆ การแกะความหมายของคาถาต่าง ๆ เป็นต้นค่ะ
สำหรับเรื่องที่นักอ่านจดจำส่วนตัวแล้วคิดว่าคุณคุณหลาย ๆ ท่านอาจติดตามมาจากเรื่อง “มันตราสมิง” ค่ะ อาจเพราะเสน่ห์ของพ่อปู่ละมั้งคะ? (ฮา) และตอนนี้ยังไม่มีค่ะ ทุกเรื่องเริ่มต้นจากมันตราสมิง และยังไม่ได้เริ่มเรื่องไหนที่แยกจักรวาลเลย
ปัจจุบันเป็นพนักงานบริษัทค่ะ ทำงานตั้งแต่ 9 โมงเลิกงาน 5 โมงเย็น ส่วนใหญ่แล้วกว่าฉันจะทำอะไรเสร็จหรือจัดการอะไรแล้วเสร็จก็จะประมาณ 3-4 ทุ่ม แล้วแต่วันนะคะ หากเขียนเอาให้เสร็จเลยก็คงราว ๆ ตี 3-4 บางทีถ้าเขียนจบก็จำเป็นต้องอ่านทวน 1 รอบ เช็กคำผิดอีก 1 รอบ แล้วถึงจะโพสต์ให้ทุกคนอ่านกันได้ค่ะ ส่วนเสาร์อาทิตย์เองก็จะแล้วแต่ว่ามีธุระอะไรหรือเปล่า หากไม่มีก็จะเขียนในช่วงกลางวันเพิ่มด้วยค่ะ ด้วยความที่มีงานประจำแล้วเขียนนิยายควบคู่เคยท้อบ้างมั้ย เรื่องท้อในการเขียนนิยายไม่มีค่ะ จะมีก็แต่ไม่มีเวลาเขียนจนท้อนี่แหล่ะค่ะ (ฮา) อย่างที่หลาย ๆ คนทราบดีจากเพจของฉัน การทำงานหนักและไม่ได้ลุกไปไหนเลยทำให้มีปัญหาสุขภาพตามมามากเชียวค่ะ ส่วนนี้น่าจะทำให้ท้อได้มากกว่า
สำหรับเรื่องล่าสุดนั้นตอนนี้ปล่อยให้อ่านกันแล้วทางเว็บอ่านนิยายค่ะ ชื่อเรื่อง “บุปผาการกะ” เป็นแนวพารานอมอลเหมือนเดิมค่ะ ที่สำคัญก็เชื่อมโยงกับเรื่องก่อนหน้าเช่นกันค่ะ (ฮา) แต่หากจะถามว่าจะจบเมื่อไหร่ ฉันเองก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ค่ะ เพราะช่วงนี้ฉันมีปัญหาสุขภาพค่อนข้างมาก เข้าออกโรงพยาบาลเป็นว่าเล่นเชียวค่ะ แต่อย่างไรเสียก็จะพยายามอัปเดตนิยายให้ได้บ่อยที่สุดน่าจะทำได้ค่ะ สำหรับรูปเล่ม หากไม่ติดขัดอะไรฉันก็อยากจะปิดจบเรื่องนี้ให้ได้ภายในปีนี้ค่ะ หวังว่าทุกคนจะชื่นชอบนิยายบุปผาการกะนะคะ”