ที่ห้อง MR 206 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ วช. ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ การใช้โดรนทางการเกษตรในการจัดการสวนผลไม้เชิงพาณิชย์ในงาน อว. แฟร์ Sci : Power For Future โดย มีนางสุภาพร โชคเฉลิมวงศ์ ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม1 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานเสวนา
นางสุภาพรฯ กล่าวว่า วช. มีความยินดีที่วันนี้เป็นอีกวาระหนึ่งที่จะได้แนะนำให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแนะนำแก่เกษตรกรซึ่งปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน การนำโดรนมาใช้ประโยชน์แก่เกษตรกรจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งได้อย่างดี
ด้านรศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการ เก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ วช. กล่าวว่า ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ ประกอบด้วยนักวิจัย 38 คน จาก 18 สถาบัน เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยไปสู่ความเป็นศูนย์กลางด้านงานวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติซึ่งเป็นการสนับสนุนการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายนักวิจัยให้ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรวมถึงพัฒนาทักษะของบุคลากรวิจัยให้มีศักยภาพมากขึ้น เป็นแหล่งกิจกรรมทางวิชาการ รวบรวม เผยแพร่และเป็นแหล่งอ้างอิงขององค์ความรู้ เฉพาะด้านที่ถูกต้อง แม่นยำตามหลักวิชาการอย่างต่อเนื่องในประเด็นระดับประเทศหรือประเด็นความต้องการในการแก้ปัญหาประเทศในมิติต่างๆ สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างในระดับประเทศพร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย รวมถึงการยกระดับเครือข่ายความร่วมมือ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
“ การจัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ เราหวังจะนำเสนอองค์ความรํู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการจัดการสวนผลไม้ ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีโดรนมีความก้าวล้ำนำหน้าไปมากแต่เกษตรกรไทยยังให้การยอมรับน้อย เพราะเป็นเรื่องใหม่ของคนไทยและราคาค่อนข้างสูง เราจึงต้องการนำองค์ความรู้มาเผยแพร่เนื่องจากขณะนี้เรามีโดรนที่ประกอบโดยคนไทย คนไทยทำได้เองและโดรนที่เป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เกษตรกรสามารถเลือกได้ตามบริบทที่เหมาะสม จับต้องได้ก่อน หรือจะต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ เพื่อทดแทนแรงงานคนไทยซึ่งตอนนี้แรงงานแพงมาก นอกจากนี้ในอนาคตยังสามารถนำไปใช้เป็นวิชาชีพในการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้ นักศึกษาที่จบด้านการเกษตร ออกไปทำงานมีโดรนเพียงตัวเดียวสามารถสร้างรายได้จากการให้บริการฉีดพ่นยาและสารเคมีทางการเกษตร เลี้ยงตัวเองได้อย่างสบาย ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าธุรกิจนี้จะขยายผลต่อไปได้อีกมาก เพราะปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความจำเป็นที่ต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย โดรนช่วยลดต้นทุนได้ถึง 50 เปอร์เซนต์ ลดค่าแรง ทำให้เกษตรกรได้กำไร และทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ”
เวทีเสวนาครั้งนี้ รศ.ดร. พีระศักดิ์ ฉายประสาท หัวหน้าศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ยังได้บรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ การประยุกต์ใช้โดรนในการทำการเกษตรแม่นยำ ขณะที่ พ.ต.อ.เกรียงศักดิ์ ธีระศรัณยานนท์ จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ใช้ความรอบรู้ในฐานะครูนักบินโดรน 1 ใน 90 คนของประเทศไทยบรรยายเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้โดรนการเกษตร รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการจากการใช้โดรนเพื่อการเกษตรในเชิงธุรกิจและสังคมชั้นนำ 4 ท่าน ประกอบด้วย คุณมหิศร ว่องผาติ จากบริษัท เอชวีโรโบติก จำกัด คุณอัศวิน โรมประเสริฐ จากบริษัทอีซี่ 2018 จำกัด คุณสาธิต ชุมพล จากบริษัทโดรนโปรเพส ประเทศไทยจำกัด และคุณรชฏ จันทร์โชติ จากบริษัทซิสทรอนิกส์ มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์จริง และถอดบทเรียนที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจนำแนวทางไป ประยุกต์ใช้อีกด้วย