กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ได้จัดงานเสวนาระดับชาติ “Future Earth Thailand 2567” ขึ้น ณ ห้องประชุม ดร.สมศักดิ์และคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์กุล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค.
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ประธาน Future Earth Thailand และผอ. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า งานเสวนานี้มุ่งเน้นการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศร่วมกับเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการ “Future Earth Thailand 2567” มีหลักการและเหตุผลที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ทั้งการตรวจวัดสภาพอากาศ ฝุ่นละออง การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล และการใช้งานที่ดิน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในระบบติดตามและคาดการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม
ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์
ในปี 2567 ภาคีความร่วมมือวิจัย Future Earth Thailand ได้เน้นการดำเนินงานใน 3 แผนงานหลัก ภายใต้โครงการ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ เพื่อการจัดการด้านการเกษตรและแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่
1. การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศในการติดตามและควบคุมคุณภาพอากาศ การประเมินคาร์บอน และการตรวจวัดแผ่นดินทรุด
2. การจัดการภัยพิบัติ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีในการประเมินแผ่นดินทรุดและพายุซัดฝั่ง 3. การยกระดับเศรษฐกิจเกษตร โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศในการสนับสนุนการขอใบรับรองมาตรฐานด้านการเกษตร
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนและเครือข่ายความร่วมมือวิจัยทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้างระบบนิเวศการวิจัยและการฝึกอบรมบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีอวกาศและปัญญาประดิษฐ์ในการจัดการปัญหาเชิงพื้นที่และในระดับนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ
“Future Earth Thailand 2024 เป็นความร่วมมือจาก 10 มหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินโครงการต่างๆ 13 โครงการด้วยกัน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ โดยได้เงินสนับสนุนจาก องค์กร บพค.ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ อว. ครอบคลุมในส่วนของเรื่อง เกษตรอัจฉริยะ ปาล์ม ยางพารา การจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินทรุด การกัดเซาะชายฝั่ง เรื่องของมลพิษทางอากาศ ต่อไปเราคิดว่าคงจะได้รับความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานมากขึ้น โดยเฉพาะเครือข่ายระดับนานาชาติ เราจะมี Fututer Earth Global โดยในงานนี้ได้รับเกียรติจากFuture Earth Japan เข้ามาร่วม นอกจากนี้ยังมี Future Earth Taipei Canada Australia และ South Korea ที่ได้ส่งข้อความมาแสดงความยินดี กับ Future Earth Thailand ในครั้งนี้”
นายเบญจพล นาคประเสริฐ ผอ.กทบ.
ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต่างชาติ (กทบ.) กล่าวว่า “นโยบายสำคัญในการจัดตั้ง กองทุนหมู่บ้านขึ้นมาคือ ต้องการให้สมาชิกได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะสนับสนุนการทำงานด้านเกษตรของตนเอง เป็นความมุ่งหวังที่จะพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ
นอกจากนั้น ทางกองทุนหมู่บ้าน ยังมีโครงการนำร่องต่างๆ ที่จะช่วยทำให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่นโครงการบำบัดน้ำให้เกิดน้ำสะอาด ของแต่ละชุมชน โครงการเกษตรอินทรีย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคนฐานรากให้มีฐานะดีขึ้น เป็นนิมิตหมายที่ดี เมื่อ Future Earth เห็นความสำคัญของกองทุนหมู่บ้าน ตั้งแต่เรื่องของ มลพิษทางด้านอากาศ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ซึ่งกระทบต่อสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านที่มีจำนวนมากถึง 13 ล้านคน การนำเอาบทวิจัย บทวิเคราะห์ของ Future Earth ไปใช้กับกระบวนการทำงานของสมาชิก หรือในส่วนของกองทุนหมู่บ้านเอง ย่อมเกิดประโยชน์โภคผลตามมามากมายอย่างแน่นอน ซึ่งหากทุกฝ่ายร่วมมือกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาหลายประการร่วมกัน ก็น่าจะเกิดประโยชน์โลกโดยรวมอย่างยั่งยืน”
Future Earth เป็นโครงการริเริ่มการวิจัยระดับโลกที่มุ่งพัฒนาวิทยาศาสตร์ด้านความยั่งยืน และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่โลกที่ยั่งยืนและเท่าเทียม เป็นเวทีความร่วมมือที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานจากทั่วโลกเพื่อจัดการกับความท้าทายเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
Future Earth สนับสนุนความคิดริเริ่มในการเสริมสร้างขีดความสามารถเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรม การให้คำปรึกษา และการเข้าถึงทรัพยากร Future Earth ส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ปฏิบัติงานจากสาขาวิชาและภูมิภาคต่างๆ สิ่งนี้ช่วยให้แน่ใจว่าการวิจัยมีความเกี่ยวข้อง เข้าถึงได้ และมีประสิทธิภาพ