วันที่ 28 สิงหาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบรางวัลผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2567 ระดับปริญญาตรี และระดับบัณฑิตศึกษา ภายในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 : Thailand Research Expo 2024” ณ เวทีกิจกรรม Highlight Stage ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ชื่นชมในความคิสร้างสรรค์ ความพยายาม และความมุ่งมั่นของสายอุดมศึกษา ที่ได้ทุ่มเทเวลาและพลังกาย พลังใจ ในการพัฒนาผลงานอันทรงคุณค่าเหล่านี้ ผลงานของสายอุดมศึกษาไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อวงการการศึกษาและการวิจัยเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพในการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม และเศรษฐกิจของประเทศชาติ ความสำเร็จของสายอุดมศึกษา อีกทั้งเป็นเครื่องหมายแห่งความทุ่มเทและความมุ่งมั่นในการศึกษาและวิจัย สะท้อนถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ของเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศชาติไปข้างหน้าอีกด้วย
โดยการแบ่งการตัดสินเป็น 2 ระดับ ดังนี้
– ระดับปริญญาตรี
กลุ่มเรื่องที่ 1 ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ระดับดี ได้แก่ ผลงานเรื่อง “ฟิล์มพอลิไวนิลแอลกอฮอล์ผสมคาร์บอนดอทจากน้ำตาลทราย สำหรับเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารต้านเชื้อแบคทีเรีย” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
กลุ่มเรื่องที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง “การออกแบบพัฒนาอุปกรณ์ถ่างขยายสำหรับการรักษามะเร็งท่อน้ำดี ณ ตำแหน่ง Perihilar” จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
กลุ่มเรื่องที่ 3 ด้านวิศวกรรมศาสตร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง ”ระบบเซนเซอร์ตรวจวัดการเคลื่อนไหวพร้อมเกมสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายสำหรับผู้ใช้วีลแชร์“ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กลุ่มเรื่องที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีวัสดุ และ BCG Economy Mode
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง ”ขดลวดค้ำยันหลอดเลือดแดงคาโรติดจากวัสดุฉลาดที่ขยายตัวได้เองสำหรับการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง“ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
และกลุ่มเรื่อง 5 ด้านคุณภาพชีวิตและ Soft Power
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง ”นวัตกรรมการออกแบบเครื่องประดับ โดยใช้ทฤษฎี Deconstruction และทฤษฎี Modular ด้วยแนวคิดการผลิตซ้ำเพื่อสืบทอดวัฒนธรรม ( Reproduction for Culture Transmission) เพื่อสร้าง แบรนด์เครื่องประดับไทยสู่สากล “ออริไทย (Orithai)”” จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
– ระดับบัณฑิตศึกษา
กลุ่มเรื่องที่ 1 ด้านเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมชุดตรวจแถบสีความไวสูงสำหรับตรวจปลาที่ติดเชื้อ TiLV” จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
กลุ่มเรื่องที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง “KKU AI Measurement Acetabular Cup Angle: ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการวัดมุมของชิ้นส่วนเบ้าสะโพกเทียม“ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
กลุ่มเรื่องที่ 3 ด้านวิศวกรรมศาสตร์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง ”รถตรวจการณ์ทางรถไฟแบบอัตโนมัติ“ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
กลุ่มเรื่องที่ 4 ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีวัสดุ และ BCG Economy Mode
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง ”นวัตกรรมสิ่งทอหมุนเวียนจากเศษเหลือทิ้งเปลือกทุเรียนสู่สินค้าเครื่องแต่งกายต้านเชื้อแบคทีเรีย“ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และกลุ่มเรื่อง 5 ด้านคุณภาพชีวิตและ Soft Power
ระดับดีเด่น ได้แก่ ผลงานเรื่อง ”นวัตกรรมการพัฒนาเส้นใยบัวหลวงผ่านกระบวนการพลาสมา“ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และยังมีการมอบเหรียญรางวัล(ทอง/เงิน/ทองแดง) ของผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2567
การมอบรางวัลการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2567 วช. หวังว่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนให้เป็นนักวิจัย นักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพ สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนและการแข่งขันในเวทีระดับชาติและนานาชาติ และส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มีเครือข่ายด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน อีกด้วย