“มะเดี่ยว ชูเกียรติ” ส่งผลงานสุดทะเยอทะยานเรื่องใหม่ “TAKLEE GENESIS ตาคลี เจเนซิส” พร้อมให้ทุกคนพิสูจน์ฝีมือในโรงภาพยนตร์วันนี้

               “TAKLEE GENESIS ตาคลี เจเนซิส” เป็นภาพยนตร์ไซไฟผสมแอ็กชันผจญภัย จากค่าย เนรมิตรหนัง ฟิล์ม โดย สตูดิโอ คำม่วน นำเสนอ ที่ขนนักแสดงมาวาดฝีมือคับคั่ง อาทิ พอลล่า เทย์เลอร์ / ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล / วนรัตน์ รัศมีรัตน์ / ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน / เจนจิรา ไวด์เนอร์ / ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล / นารา เทพนุภา / ภูษิตา วัฒนากรแก้ว / นุชนภา สร้อยดารา / กิตติศักดิ์ ปฐมบูรณา / อินทิรา เจริญปุระ ซึ่งตัดต่อโดย ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล และ รัตพงษ์ อภิชัย, ออกแบบงานสร้าง มณฑล พงษ์ภาพ กำกับภาพโดย ชูเกียรติ ณรงค์ฤทธิ์ และ นภนต์ ทิพย์ปัญญา, ออกแบบเครื่องแต่งกาย กัญญา  ผ่องภักดี, ดนตรีประกอบ ชัพวิชญ์ เต็มนิธิกุล, วิชวลเอฟเฟ็กต์  FATCAT, ควบคุมงานสร้าง โมไนย ธาราศักดิ์ / นคร โพธิ์ไพโรจน์ / กวีนิพนธ์ เกตุประสิทธิ ร่วมควบคุมงานสร้าง ชูยศ เมืองยศ, อำนวยการสร้างบริหาร กนกวรรณ วัชระ, บทภาพยนตร์ของ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล / ฐานะมาศ เถลิงสุข / สรวิชญ์ เมืองแก้ว โดยการกำกับภาพยนตร์ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล

               กับเรื่องราวเกิดในช่วงสงครามเวียดนาม กองทัพอเมริกันได้สร้างสถานีสื่อสารขนาดใหญ่ ณ ค่ายรามสูร ว่ากันว่ามันเป็นสถานที่ทดลองการเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสง ในชื่อโปรเจกต์ Taklee Genesis  สเตลล่า (พอลล่า เทย์เลอร์) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ชีวิตกำลังอยู่ในช่วงพลิกผัน เธอได้รับโทรศัพท์จาก อิษฐ์ (ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล) เพื่อนสมัยเด็กของเธอ ขอร้องให้สเตลล่ากลับไปดูแล ดวงพร (เจนจิรา  ไวด์เนอร์) แม่ที่กำลังป่วยหนัก ณ หมู่บ้านดอนหาย สถานที่ที่เธอจากมาตั้งแต่ยังเด็กพร้อมความทรงจำอันเลวร้าย เมื่อเธอเป็นประจักษ์พยานการหายตัวไปอย่างลึกลับของพ่อภายในป่าต้องห้าม แต่ไม่มีใครเชื่อเธอเลย 30 ปีต่อมา สเตลล่ากลับบ้านมาพร้อม วาเลน (ณัฐชา เจสสิก้า พาโดวัน) ลูกสาวที่พยายามพิสูจน์ตัวเองกับแม่ของเธอที่ดอนหาย สเตลล่ายังได้เจอกับ จำนูญ (ภูธฤทธิ์ พรหมบันดาล) หัวหน้าชุมชน และ ก้อง (วนรัตน์ รัศมีรัตน์) ลูกชายของเขา ซึ่งทั้งคู่ยังมีรูปร่างหน้าตา ไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ

               ในคืนหนึ่ง สเตลล่าได้รับการติดต่อกลับมาจากพ่อของเธออีกครั้ง ผ่านวิทยุสื่อสารเครื่องเก่า ซึ่งแม้เวลาผ่านมา 30 ปีแล้ว แต่ในที่ที่พ่อของเธออยู่นั้น เวลาเพิ่งผ่านไปแค่ 30 นาที สเตลล่าตั้งใจจะช่วยพ่อกลับมายังโลกปัจจุบันให้ได้ โดยภารกิจคือเธอต้องกลับไปเปิดเครื่อง Taklee Genesis อีกครั้ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นการผจญภัยสู่อดีตถึงอนาคต ที่กินระยะเวลานับพันปี

               ผลงานสุดทะเยอทะยาน วาระครบรอบ 20 ปีการทำหนังของ “มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล” ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มะเดี่ยว-ชูเกียรติ ได้ประเดิมผลงานกำกับและเขียนบทหนังยาวฉายโรงเรื่องแรก คือ “คน ผี ปีศาจ” (2004) ซึ่งในวันนั้น เขามีอายุเพียง 23 ปีเท่านั้น ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ชูเกียรติได้ผลิตหนังที่เป็นหมุดหมายสำคัญต่อวงการภาพยนตร์ไทยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “13 เกมสยอง” (2006) ที่ได้รับการซื้อสิทธิ์ไปรีเมกเป็นฉบับฮอลลีวูด ในชื่อ 13 Sins (2014), “รักแห่งสยาม” (2007) โดยหนังสามารถกวาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากทุกเวทีรางวัลในปีนั้น นอกจากนี้ยังมี “โฮม ความรัก ความสุข ความทรงจำ”  (2012), “เกรียนฟิคชั่น” (2013) และ “ดิว ไปด้วยกันนะ” (2019)

              ไม่เพียงงานกำกับเท่านั้น ชูเกียรติยังมีส่วนร่วมในงานเขียนบทภาพยนตร์เรื่องดัง อย่าง “บอดี้ ศพ#19” (2007) งานกำกับของ ปวีณ ภูริจิตปัญญา ซึ่งเขียนบทร่วมกับ เอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ ที่เคยสร้าง “13 เกมสยอง” ด้วยกันมาแล้ว และ “แสงกระสือ” (2019) ผลงานการกำกับของ สิทธิศิริ มงคลศิริ

               และในปี 2024 นี้ มะเดี่ยว-ชูเกียรติกลับมาอีกครั้งในผลงานที่ทะเยอทะยานที่สุดในชีวิตการทำหนังในรอบ 20 ปี นั่นคือ Taklee Genesis “ตาคลี เจเนซิส”

อะไรคือเเรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้?

               ด้วยความที่ชอบหนังไซไฟอยู่แล้ว และก็มีการติดตามอ่านบทความเกี่ยวกับ โลก จักรวาล อวกาศ มิติต่าง ๆ ทำให้เราพบว่า เรื่องพวกนี้มันเป็นสิ่งที่เร้นลับพอ ๆ กับเรื่องผีเลยนะ จนมาถึงจุดที่เราสนใจเรื่องพวกนี้มากกว่าเรื่องผีด้วยซ้ำ เพราะกับเรื่องผี เรารู้สึกว่าความเป็นไปได้ของมันสามารถไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด อาจจะเหนือความเป็นจริงไปเลยก็ได้ แต่กับหนังไซไฟ ความเป็นไปได้มันจะต้องถูกอธิบายด้วยอะไรบางสิ่งบางอย่าง และสิ่งนี้มันคือเสน่ห์ของวิทยาศาสตร์

               เวลาที่เราอยู่ ชีวิตที่เราดำเนินไปทุกวันเนี่ย มันมีอยู่จริงมั้ย ตัวเราเอง เราเป็นคน เป็นเนื้อเป็นหนัง เป็นกลุ่มก้อนทางชีววิทยา หรือจริง ๆ เราเป็นภาพสะท้อนของอะไรบางอย่าง สิ่งเหล่านี้มัน inspired เรามานานแล้ว และเราก็หาโอกาสที่จะทำเป็นหนังสักเรื่อง

               พอได้มีโอกาสคุยกับทาง เนรมิตรหนัง ฟิล์ม เขาอยากให้ทำอะไรแบบนี้ เราก็งงเลย เพราะว่าหนังแนวนี้เป็นหนังแสลงสำหรับคนไทยพอสมควร แต่เราก็ไม่คิดว่าคนไทยจะไม่เก็ตเรื่องพวกนี้นะ ก็เลยรวบรวมสิ่งที่เขียนไว้มาทำเป็นบทขึ้นมา

“ตาคลี เจเนซิส” คืออะไร? โลกมันใหญ่ขนาดไหน? อยากให้ลองอธิบายให้ฟังหน่อย

               “ตาคลี เจเนซิส” ในเรื่อง มันคือโครงการทดลองของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม เหตุที่ชื่อ “ตาคลี” เพราะว่าในยุคนั้น อ.ตาคลี เป็นฐานทัพสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือจริง ๆ ฐานทัพมันมีหลายที่นะ อย่างที่ สัตหีบ อุดรธานี แต่สำหรับฐานทัพตาคลี เราคิดว่าสถานที่ที่มันใหญ่ขนาดนั้น มันอาจจะมีอะไรบางอย่าง แล้วหลัง ๆ ก็มีสมมติฐานมากมายเกี่ยวกับความลับในตาคลี เช่นว่า ตาคลีมีมนุษย์ต่างดาวอยู่ตรงนั้น เฮ้ย อันนี้มีคนพูดจริงนะ ไปดูได้ในยูทูบ (หัวเราะ)

               แต่สำหรับตัวหนัง ไม่ได้อยู่เเค่ในพื้นที่ตาคลีนะ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นแถวภาคอีสานมากกว่า ซึ่งเราได้ไปเจอสถานีเรดาร์ร้างที่ค่ายรามสูร จ.อุดรธานี ดูแล้วมัน inspired มาก ในโลกนี้มีอยู่ 7 แห่งเองนะ ที่เป็นเสาล้อม ๆ แบบนี้ โดยสถานีเรดาร์ ค่ายรามสูรเนี่ย ถูกพูดถึงในหลาย ๆ เหตุการณ์สำคัญของไทยด้วย ในยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา

               สำหรับหนัง “ตาคลี เจเนซิส” จักรวาลแรกเริ่มต้นที่สงครามเย็น หลังจากนั้นพอมันพูดถึงการทดลองเพื่อที่จะควบคุมเวลาได้ เราก็เลยลองพามันไปไกลสุด ก็น่าจะ 75 ล้านปี แล้วก็เป็นแสนปี ห้าพันปี แล้วก็ไปในอนาคตอีกสองถึงสามร้อยปีอะไรแบบนี้ เป็นความท้าทายว่าเราจะเขียนเรื่องให้มันเกี่ยวเนื่องกันยังไง ใน Time scale ที่มันกว้างใหญ่ขนาดนั้น

ที่พูดมาถึงขนาดนี้ “ตาคลี เจเนซิส” มีทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ มีทั้งวิทยาศาสตร์ การรีเสิร์ชหนักหน่วงขนาดไหน?

               โอ้ กว่าจะมาเป็นบทหนัง ใช้เวลานานมากเหมือนกันนะ ก็เก็บเล็กผสมน้อย เวลาเราเกิดไอเดียอะไรก็จะจดเอาไว้เป็นหัวข้อ ๆ วันหนึ่งก็จะหยิบมันขึ้นมาขยายบ้าง ซึ่งไอเดียพวกนี้ มันอยู่ในที่จดของเราเยอะมาก มันเป็นก้อนความคิดเต็มไปหมดเลย แล้วทุกอย่างมันเชื่อมโยงถึงกันได้หมด

               แล้วเราก็ทั้งดูยูทูบ ทั้งอ่านหนังสือ อย่าง “ต่วย’ตูน พิเศษ” ที่เราอ่านตั้งแต่เด็ก มัน  inspired เรามากเลย เพราะมันมีทั้งเรื่องในอดีต เรื่องในอนาคต เรื่องสัตว์ดึกดำบรรพ์ อะไรแบบนี้ เราว่ามันน่าจะเป็นจุดแรกที่จุดประกายเราให้สนใจเรื่องพวกนี้ก่อน  เสร็จแล้ว พอมีคนบ้าไปด้วยกันแล้ว เราก็ไปหาคนบ้าหลาย ๆ คนที่เนิร์ดในสิ่งเดียวกัน หนึ่งในนั้นก็มี “น้องพีพี” (พัทน์ ภัทรนุธาพร ผู้ช่วยวิจัยแห่ง MIT สหรัฐอเมริกา) เป็นน้องจาก MIT ตอนนั้นน้องเขากำลังเรียนดอกเตอร์อยู่ที่โน่น ก็คือคุยกับใครไม่รู้เรื่อง ต้องไปคุยกับเด็ก MIT แล้วเขาก็อินไปด้วยกัน สิ่งที่รีเสิร์ชมีตั้งแต่อเมริกาทำอะไรกับใครไว้บ้างในช่วงสงครามเย็น การทดลองนี้มันมีจริงหรือเปล่า แล้วถ้าเกิดมันมีอารยธรรมต่างดาวที่เขาสามารถควบคุมความเร็วเหนือแสงได้ มันจะนำไปสู่อะไร จะนำไปสู่การควบคุมเวลา ควบคุมการเดินทางไปที่นั่นที่นี้ในจักรวาล แล้วจักรวาลกว้างไกลแค่ไหน จักรวาลมีหนึ่งเดียวหรือเปล่า เนิร์ดมาก ๆ ครับ หนังเรื่องนี้ (หัวเราะ)

แล้วถ้าคนไม่เนิร์ด ดูเรื่องนี้ได้มั้ย?

               จริง ๆ แก่นของมัน ก็คือเรื่องของผู้หญิงคนหนึ่ง ที่มีปมในชีวิตมากมาย เป็นเรื่องของคนธรรมดา มันอาจจะเป็นตัวเราเอง เป็นเพื่อนเรา เป็นพี่สาวเรา เป็นแม่เรา ที่กำลังบาลานซ์วิกฤตในชีวิตวัยกลางคน ลูกยังเล็ก สามีทิ้งไป แล้วก็มีปัญหาในที่ทำงาน แต่จริง ๆ ปัญหาของเธอทุกวันนี้ มันมีอะไรบางอย่างที่ส่งมาจากวัยเด็กที่มีปมเรื่องพ่อ เรื่องการเผชิญหน้ากับสิ่งลึกลับแล้วไม่มีใครเชื่อ จนเเธอต้องเชื่อแต่ตัวเอง แล้วการเชื่อแต่ตัวเองนำเธอไปสู่ปัญหาโน้น ปัญหานี้ แล้วการที่เธอได้มาเจอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง พิสูจน์ได้ว่า มันมีสิ่งที่เหนือความจริง เหนือธรรมชาติ เหนือสิ่งที่คนรับรู้ เกินกว่าที่ใครจะเข้าใจ เกิดขึ้นมาจริง ๆ แล้วเธอเองสามารถควบคุมสิ่งนั้นได้ เธอจะเอามันกลับมาควบคุมชีวิตตัวเองหรือเปล่า มันก็เหมือนเป็นสิ่งที่เราทุกคนเจอนั่นแหละ และถ้าตกอยู่ในสถานะเดียวกัน เราก็น่าจะเอาตัวเองไปเชื่อมโยงกับตัวละครนั้นได้

ขอเจาะไปถึง Production Design กว่าที่จะได้โลกแบบที่อยากให้เป็น ไม่ว่าจะในยุคไหน ใช้เวลานานมากมั้ย?

               นานนะ ใช้เวลารีเสิร์ชมาเยอะแยะ แต่เราไม่ได้พาไปสู่ซีนสงครามในอดีตอะไรที่มันจริงจังขนาดนั้น เพราะแก่นของเรื่องมันอยู่ที่ตัวละคร “สเตลล่า” เธอจะเป็นคนพาเราไปสู่ตรงนั้นตรงนี้ โดยมันก็จะมีโลกโบราณยุคดึกดำบรรพ์ ที่ได้รับผลกระทบจากไอ้เครื่องนี้ (“ตาคลี เจเนซิส”) ในโลกอนาคตก็เช่นกัน โดยมันจะมีความซ้อนเหลื่อมของสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ควรจะอยู่ในช่วงเวลานั้นขึ้นมา 

               หนังเรื่องนี้ศูนย์กลางจริง ๆ มันอยู่ที่ตัวละคร แม้เราจะเซตทุกอย่างไว้ใหญ่โต แต่ในมุมมองของเรา เราจะเห็นตัวละครไปสู่สิ่งเหล่านี้ แล้วแบคกราวด์ของมันจะเป็นเรื่องในลักษณะที่ให้เราลุ้นว่า เมื่อผู้หญิงคนนี้เข้าไปในสถานการณ์นั้น ๆ เธอจะเอาอยู่มั้ย จะไหว จะรอดไปจากตรงนี้หรือเปล่า?  อย่างในห้าพันปีก่อน มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์เขาอยู่กันยังไง ก็ไปรีเสิร์ชมา ปรากฎว่า มันก็ไม่ได้ต่างจากทุกวันนี้เท่าไหร่ ไม่ได้แปลว่าเขามีมือถือหรืออะไรแบบนี้ แต่เขาก็แต่งตัวกันจัดเหมือนกัน ผ้าก็ทอกันเอง มีลูกปัด มีศิลปะ กล่าวคือ mindset ก็เหมือนคนในทุกวันนี้เนี่ยแหละ ในแง่การหาข้อมูล เราก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ ไปดูเขาขุด พวกถ้วยชามรามไหอะไรที่เขาเอาขึ้นมาจริง ๆ แล้วก็มีภาษาโบราณ ที่เราสร้างขึ้นมาใหม่เหมือนกัน หรือกระทั่งว่า

              ถ้ามนุษย์ต่างดาวทำของขึ้นมาสิ่งหนึ่ง อันนี้ก็นั่งคิดกันเป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ แล้วมันคิดว่า อารยธรรมไหนในจักรวาลที่จะได้ไป แล้วต้องใช้มันให้เป็น มันจะทำยังไง ภาษาที่จะปรากฎขึ้นมาบนสิ่งของนั้น หรือวิธีการถ่ายทอด Knowhow ที่ส่งต่อมาในระยะเวลาเป็นล้านปี แล้วหน้าตามันควรจะเป็นยังไง

เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากที่สุดสำหรับมะเดี่ยวตั้งแต่ทำหนังมาเลย อะไรคือส่วนที่ยากที่สุด?

               มันยากไปทุกส่วนเลย จริง ๆ คิดไปคิดมา กูไม่น่าเริ่มต้นเรื่องนี้เลย (หัวเราะ) แต่เราก็ไม่รู้ว่าถ้าเราไม่ได้ทำในวันนี้ เราจะได้ทำอีกเมื่อไหร่ มันก็ท้าทายการรับรู้ระดับหนึ่งเลยนะ มันท้าทายตั้งแต่แรกแล้วว่าเราจะอธิบายสิ่งเหล่านี้ให้คนเข้าใจได้ยังไง หนังมันต้องมีการอธิบายเยอะมากเลยนะ ในแต่ละสเตจที่ตัวละครต้องไปเจอ เราจะคงความเป็นมนุษย์ของตัวละครยังไงไปจนจบเรื่อง ให้คนดูเอาใจช่วยเขา และเห็นพัฒนาการจากปมฝังใจ การต่อสู้ ผิดหวัง สูญเสีย ลุกขึ้นมาใหม่ จุดนี้เราจะพาคนดูไปยังไง ท่ามกลางการที่เขาดูแล้วต้องเกิดคำถามแน่เลยว่า ไอ้นั่นคืออะไรวะ ไอ้นี้คืออะไร ทำไมมาอยู่ตรงนั้นตรงนี้ อันนี้คือความยากของการเล่าเรื่อง และด้วยงานสร้างที่ค่อนข้างจะมีหลากหลายเซตที่อยู่ในช่วงเวลาต่าง ๆ ซึ่งวิธีคิดของคนที่อยู่ใน แต่ละยุคสมัยเป็นอย่างไร วิธีการสื่อสารถึงกันมันควรเป็นแบบไหน รวมไปถึงเรื่องการทำเสียง sign ของการข้ามเวลา การที่มีสัตว์ประหลาดโผล่ เสียงของทุกสิ่งทุกอย่างที่มาประกอบกัน มันเป็นเรื่องใหญ่โตมากเลยครับ

เหตุผลที่ทำให้เลือกนักแสดงชุดนี้ ตอนเขียนบทได้คิดมาในหัวมั้ย?

               เราเคยร่วมงานกับพี่พอลล่า พี่ปีเตอร์ เมื่อ 2-3 ปีก่อน แล้วเราคิดว่า อยากให้แก (พอลล่า) ได้เล่นหนัง เพราะว่าแกมีความ cinematic มาก แล้วก็เป็นสัญลักษณ์ของ rom-com (หนังโรแมน ติกคอมเมดี้) ในยุคนึง แล้วแกเป็นคนเก่ง มีบุคลิกที่น่าเอาใจช่วย โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย (หัวเราะ) และอีกอย่างคือตัวละครที่พอลล่ารับบท ก็เป็นมรดกตกทอดมาจากสงครามเวียดนาม ก็เลยต้องมีความเป็นลูกครึ่ง เป็นฝรั่งในเมืองไทย สมัยนั้นก็มีความแปลกแยกนะ จะถูกบูลลี่ ถูกนั่น ถูกนี่ ดังนั้น Race ของตัวละคร เผ่าพันธุ์ของตัวละคร ก็มีความสำคัญต่อการเล่าเรื่องอยู่เหมือนกัน

รู้ว่าทุกอย่างมันยาก แต่ฉากไหนที่มะเดี่ยวคิดว่ากำกับยากที่สุด

               แต่ละฉากก็มีความยากแตกต่างกัน แต่ที่ยากเลย เหนื่อยเลย ก็คือฉากที่บ้านเชียงที่เป็น 5,000 ปีก่อน เป็นต้นตออารยธรรมที่เกิดอะไรบางอย่างขึ้น ทำให้ล่มสลายไป ตอนนั้นบ้านเชียงก็คือกลุ่มคาราวานกลุ่มหนึ่ง ที่เราจะต้องไปถ่ายกันที่เหมืองหินร้อน ๆ ซีนนั้นใช้เวลาถ่ายทำ 3 วัน ทั้งที่ในหนังโผล่มาวูบเดียวเอง แต่ผลที่ออกมา เราโอเคกับมันมากเลย เพราะว่ามันสวย มันเป็นหายนะที่สวยงาม ตัวละครฆ่ากันบรรลัย แต่มันรู้สึกว่า แสง มูดโทน ภาพ มันทำให้เราโอเค เอาใจช่วย แล้วก็ลุ้นตาม ซึ่งบรรยากาศมันร้อนมากตลอด 3 วัน แต่เชื่อมั้ยว่าตอนนั้นทุกคนหน้าเมือก เหงื่อออก แต่พี่พอลล่าก็ยังสวย สวยจนวันสุดท้ายที่ออกกอง ส่วนเราแบบ กูจะเก็บของแล้ว กูไม่อยู่แล้ว แต่พี่พอลล่ายังถ่ายรูปเซลฟี เอาลงไอจี สวยเชียว ก็คนเรามันเลือกเกิดไม่ได้เนอะ (หัวเราะ) แล้วเขาก็ทำงานเหนื่อยพอ ๆ กับเรานะ วิ่งสู้ฟัดตั้งแต่เช้า อยู่กลางแดด ทุกคนไม่บ่น ทุกคนสนุกกับมันมาก มีแต่เราที่แบบกูไม่ไหวแล้ว ร้อน ๆ (หัวเราะ)

               แล้วก็ฉากที่ยากก็พวกทำกับ CG เพราะส่วนใหญ่จะไม่เห็นว่ามันเป็นอะไร วิ่งหนีอะไรก็ไม่รู้แหละ นักแสดงก็จะเห็นแค่รูปที่เอาให้ดูว่ามันจะตัวประมาณนี้ จินตนาการเอาแล้วกัน

               พร้อมให้ทุกคนพิสูจน์ผลงานแกะกล่องไซไฟผสมแอ็กชันผจญภัยของฝีมือการกำกับ มะเดี่ยว ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กับภาพยนตร์สุดทะเยอทะยานงานสร้างเรื่อง “TAKLEE GENESIS ตาคลี เจเนซิส” ในโรงภาพยนตร์

Related posts