องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เดินหน้าขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระบบฟาร์มอุตสาหกรรมผ่านโครงการ “ฟาร์มแชมเปี้ยน” ที่มุ่งเน้นการสร้างต้นแบบการเลี้ยงไก่ที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งเป็นหมุดหมายใหม่ที่สำคัญต่อ สุขภาพของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดงาน “Farm Champion Market: ไก่งามเพราะคน” ณ ปฐมออแกนิก คาเฟ่ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาสนับสนุนอาหารปลอดภัยและมีมนุษยธรรม งานนี้นำเสนอความเปลี่ยนแปลงจากฟาร์มสู่เมือง มุ่งให้ไก่มีความสุขและผู้บริโภคมีสุขภาพดีไปพร้อมกัน
ภายในงานจัดนิทรรศการเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน และประโยชน์ของการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง ถอดบทเรียนผ่านหัวข้อเสวนาที่เข้มข้น เรื่อง “ไก่โคราชสวัสดิภาพสูง: ผลกระทบต่อสัตว์ คน และสิ่งแวดล้อม” นำโดย ผศ.ดร.วิทธวัช โมฬี หัวหน้างานวิจัยของโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, แผ้ว ภิรมย์ ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย และ ผู้คร่ำหวอดในวงการเกษตรอินทรีย์ อาทิ Influencer เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์ จาก Udon Organic Farm, ธวัชชัย พวงจันทร์ จากพลูโตฟาร์ม, และสุเทพ ศิริมูล จากเทพศิริฟาร์ม และหัวข้อ “สวัสดิภาพสัตว์ในมุมมองธุรกิจและผู้บริโภค” นำโดยพันชนะ วัฒนเสถียร ประธานสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่และเจ้าของร้านอาหารเมนูมิชลิน “เป็นลาว” วันเพ็ญ สอนสำโรง จากสุพัตตราฟาร์ม, วรากร เลาหะเสรีกุล เจ้าของฟาร์มคิดดี และ คิม ธิติสรรค์ กู้ดเบิร์น Mister International 2023 คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเข้มข้นโดยมีผู้สนใจร่วมงานคับคั่ง
แผ้ว ภิรมย์ ผู้จัดการแคมเปญระบบอาหาร องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการ “ฟาร์มแชมเปี้ยน” ว่า องค์กรมีเป้าหมายในการสร้างต้นแบบการทำฟาร์มที่เน้นสวัสดิภาพสัตว์เป็นหลัก โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และเกษตรกรรายย่อยจาก 11 ฟาร์มใน 6 จังหวัด ซึ่งร่วมกันส่งมอบไก่สายพันธุ์ใหม่จากงานวิจัย คือ “ไก่โคราช” ให้กับฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อทดสอบและพัฒนาแนวทางการเลี้ยงที่ใส่ใจทั้งสวัสดิภาพและความยั่งยืน ช่วยให้สัตว์ เกษตรกร และผู้บริโภคมีความสุขไปพร้อมกัน จากความสำเร็จนี้ องค์กรมีแผนต่อยอดทันที โดยตั้งเป้าขยายผลเพิ่มเป็น 35 ฟาร์มในปีหน้า และขยายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วประเทศ นอกจากการส่งเสริมฟาร์มที่มีการเลี้ยงไก่ด้วยสวัสดิภาพสูงแล้ว โครงการนี้ยังย้ำแนวคิด “Good Life Standards” ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ผศ.ดร.วิทธวัช โมฬี หัวหน้างานวิจัยโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า “การเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงไม่ซับซ้อน เพียงแค่ต้องการพื้นที่ให้ไก่ได้ออกกำลัง เคลื่อนไหวร่างการตามธรรมชาติ หลังจากที่จบโครงการในครั้งนี้ พบว่าเกษตรกรสามารถขายไก่ในราคาที่สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นแรงจูงใจที่ดี ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยง อย่างมีนัยยะสำคัญซึ่งจะสามารถสร้างให้เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ได้มีอาชีพที่ยั่งยืนและสร้างรายได้มั่นคง ผลสำเร็จของโครงการฟาร์มแชมเปี้ยนที่ผมเห็นชัดเจน คือการใช้ชีวิตที่เป็นธรรมชาติ มีสุขภาวะที่ดีเราแทบไม่เห็นการจิกตีกัน ขนของไก่สวยและสุขภาพดี แข้งและจะงอยปากของไก่มีสีเหลืองสวยจากสารสีธรรมชาติ ไม่มีปัญหาอุ้งเท้าเป็นแผลเหมือนในฟาร์มอุตสาหกรรม ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าได้รับประทานไก่ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ส่วนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงก็มีความสุขไปกับการประกอบอาชีพเป็นรางวัลอีกด้วย
เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์ เกษตรกรรุ่นใหม่หัวใจเกษตร ที่โด่งดังจาก TiKTok น้องเจนทำฟาร์ม สาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ เจ้าของ Udon Organic Farm เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำฟาร์มว่า เกิดจากความต้องการให้สัตว์ที่เลี้ยงมีความสุขและได้ทำกิจกรรมตามธรรมชาติในทุกวัน เธอจึงจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อให้สัตว์ได้แสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติและปลอดภัยจากสิ่งรบกวนภายนอก โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์อยู่เสมอ เช่น พฤติกรรมของไก่ที่เลี้ยงควบคู่กับหมูในฟาร์มที่เธอสังเกตว่า “เวลาหมูขุดดิน ไก่ก็จะมาช่วยเขี่ยกลบ” ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้สะท้อนถึงความสุขและสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ การได้รับอาหารที่หลากหลายจากธรรมชาติยังช่วยส่งเสริมสุขภาพของไก่ ทำให้ไม่ต้องพึ่งยาปฏิชีวนะ ต่างจากฟาร์มอุตสาหกรรมที่ต้องผสมยาปฏิชีวนะในอาหารเพื่อป้องกันโรค ซึ่งการบริโภคไก่จากฟาร์มอุตสาหกรรมอาจนำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งเป็นประเด็นที่น่ากังวล แหล่งที่มาของเนื้อสัตว์จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ โครงการฟาร์มแชมเปี้ยนช่วยให้เรารู้ว่าใครคือเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เราจะมั่นใจได้ว่าสัตว์ได้รับการดูแลที่ดีและสวัสดิภาพที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญ
สุเทพ ศิริมูล เจ้าของเทพศิริฟาร์ม จ.อุบลราชธานี เล่าถึงการเลี้ยงไก่ในโครงการว่า “ผมมีสโลแกนว่า ‘มีตู้เย็นข้างบ้าน มีพยาบาลใกล้ตัว ทุกครอบครัวมีโรงปุ๋ย’ หมายถึง การที่เราเลี้ยงไก่ในพื้นที่เปิดให้เขาได้หากินเองตามธรรมชาติ เปรียบเหมือนมีตู้เย็นข้างบ้านที่มีอาหารสดใหม่อยู่เสมอ การมีพยาบาลใกล้ตัวก็คือสมุนไพร ไก่จะคุ้ยเขี่ยและกินสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งช่วยดูแลสุขภาพของเขา และเมื่อปล่อยไก่ออกไป สิ่งที่ตามมาคือปุ๋ยจากมูลไก่ที่กระจายอยู่บนหญ้า ทำให้เราได้ปุ๋ยที่ปลอดภัยและเป็นธรรมชาติ” สุเทพยังเสริมว่า เขามีแผนขยายเครือข่ายเกษตรกรในการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูง โดยเน้นไปที่กลุ่มเยาวชนที่จบการศึกษาระดับ ม.6 และต้องการสร้างอาชีพต่อไป
ธวัชชัย พวงจันทร์ จากพลูโตฟาร์ม หนึ่งในผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า “การเลี้ยงไก่แบบอุตสาหกรรมมักมีการกักบริเวณ ตัดจะงอยปาก ซึ่งเป็นการทรมานสัตว์ และเมื่อเลี้ยงในพื้นที่หนาแน่นหลักพันตัวขึ้นไป ไก่จะเกิดความเครียดและมีพฤติกรรมทำร้ายกัน แต่การเลี้ยงแบบปล่อย ไก่จะได้มีพื้นที่และอิสระ ไม่ทำร้ายกัน ทำให้เราสังเกตได้ว่าไก่มีอารมณ์ที่ดีขึ้น” เขาเชื่อว่าการเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงส่งผลดีต่อผู้บริโภคโดยตรง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพราะการได้รับอาหารที่ปลอดภัยจะส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ ธวัชชัยกล่าวว่า “เราคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก การเลี้ยงไก่สวัสดิภาพสูงตอบโจทย์และสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงทั้งหมดได้จริง ๆ”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดแสดงเมนูอาหารจากไก่โคราชในโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมาก ร้านอาหารระดับมิชลิน ‘เป็นลาว’ โดยคุณพันชนะ วัฒนะเสถียร นำเสนอเมนูพิเศษ ‘ไก่โคราชใต้น้ำ’ และพืชผักออร์แกนิก ส่วนร้าน ‘แต่เก่าก่อน’ ก็นำเมนูแกงไก่โคราชมาร่วมจัดแสดง เชฟทุกท่านต่างลงความเห็นว่า ‘ไก่โคราช’ จากโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน มีคุณลักษณะโดดเด่นทั้งในด้านรสชาติและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างจากไก่ทั่วไปอย่างชัดเจน
แผ้ว ภิรมย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในอนาคตโครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มีความยั่งยืน ไม่ต้องพึ่งพาระบบอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีกระบวนการเลี้ยงที่สร้างความทุกข์ทรมานและขาดมนุษยธรรมต่อสัตว์ การเลี้ยงไก่แบบธรรมชาติ จะทำให้ไก่แข็งแรงและสุขภาพดี ลดปัญหาต่างๆ ที่พบในฟาร์มระบบปิด อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ปลอดภัยอย่างมีมนุษยธรรม เกษตรกรหลายรายใช้ไก่สายพันธุ์โคราชควบคู่ไปกับการพัฒนาวิธีการเลี้ยง ด้วยอุปกรณ์ส่งเสริมพฤติกรรมตามธรรมชาติ ร่วมกับการให้อาหารเสริมด้วยพืชสมุนไพรเป็นอาหารทางเลือกที่ปลูกไว้บริเวณรอบฟาร์ม จะเป็นการลดการพึ่งพาระบบอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้เงินลงทุนสูง ทั้งนี้องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจะนำความสำเร็จในเฟสแรกนี้ เตรียมขยายโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน รุ่นที่ 2 เพื่อดึงดูดเกษตรกรทั่วประเทศ และปลูกฝังความรู้แก่เยาวชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น”
ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์และโครงการฟาร์มแชมเปี้ยน สามารถติดตามได้ที่ Facebook: องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก และ YouTube: World Animal Protection Thailand