งาน “Green Technology Expo 2024” แก้ปัญหาให้โลกระยะยาว ส่งเสริมแผนความยั่งยืน-ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนฯสีเขียว

เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย  นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “ Green Technology Expo 2024  เปิดประตูสู่อนาคต ”Driving Sustainable Solutions : Advancing Business Through Green Technology ส่งเสริมแผนงานความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสีเขียว โดยความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน  ตลอดจนภาคเอกชนผู้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาร่วมจัดแสดงงานหลายบริษัท ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ฮอลล์ EH 102 โดยมีศาสตราจารย์ ดร.พิชัย สนแจ้ง  เลขาธิการสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน และคณะผู้จัดงานให้การต้อนรับ

ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวว่า สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทย-จีน เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี สู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ระหว่างหน่วยงานวิจัย มหาวิทยาลัย ภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม ทั้งภาครัฐและเอกชน ในประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน และนานาชาติ

ดังนั้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 18 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของโลกและการดำเนินชีวิตของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 20 มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ในอัตราที่สูงมาก ทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเกิดการสะสมของก๊าซเรือนกระจก เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ในปัจจุบันนานาชาติต่างยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาของโลกและจำเป็นต้องมีความร่วมมือแก้ไขในระยะยาว โดยให้เป็นนโยบายสำคัญของสหประชาชาติ ซึ่งมีการประชุมและให้สัตยาบันในข้อตกลงกรุงปารีส ประเทศสหรัฐอเมริกาก็กลับมาใช้สนธิสัญญาปารีส โดยประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 50-52 ขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศแผน green deal มุ่งสู่ความเป็นกลาง  ทางคาร์บอนภายในปี 2050 ประเทศจีนก็ประกาศแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดภายในปี 2030

สำหรับประเทศไทยก็ได้ให้สัตยาบัน ณ กรุงปารีส โดยประกาศจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Green House Gas : GHG)ให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 หรือ พศ. 2573 และได้ประกาศการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วย Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ในปี พศ. 2567 นี้

ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวต่อไปว่า จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Green Technology Expo 2024 ขึ้น ในระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร โดยงานดังกล่าวจะเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีสีเขียวหรือ Green Technology จากบริษัท และหน่วยงานชั้นนำจากประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศต่างๆโดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีสีเขียวในด้านต่างๆซึ่งการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสีเขียวเพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และของเสียจากกระบวนการผลิต

” ในนามของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยจีน ผมขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงาน Green Technology Expo 2024 ในครั้งนี้ ทั้งร่วมในการนำเสนอเทคโนโลยีสีเขียวในด้านต่างๆและหรือร่วมในการเข้าเยี่ยมชมงาน ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 เวลา 10 โมง ถึง 1 ทุ่ม ณ Hall EH 102 ครับ” ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวในตอนท้าย

ทางด้านศาสตราจารย์ ดร.พิชัย กล่าวว่า การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมมีผลต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มพื้นที่เมืองและลดพื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เกิดการสะสม Green House Gas (GHG) เกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับได้ จนเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน หรือ Global Warming ย้อนกลับมามีผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ภาคบริการ และการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างที่ทุกคนรับทราบ และเผชิญปัญหาร่วมกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยสมาคมฯเห็นว่าการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนการผลิตและกระบวนการทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และบริการ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพัฒนานวัตกรรม

โดยการจัดงาน “Green Technology Expo 2024” ครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการกระจาย การใช้การพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม โดยเป็นพื้นที่ให้เกิดการพบปะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเจ้าของเทคโนโลยี นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้สนใจทั่วไป ที่จะร่วมกันเสนอเทคโนโลยีและความคิดใหม่ ต่อยอดความรู้ แก้ปัญหา และสนองความต้องการ ซึ่งจะเกิดทั้ง Business Matching และ Technology Matching สร้างธุรกิจที่สนองนโยบาย SDG และ BCG-Economic ของ UN 

อีกทั้งนโยบายของประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในประเทศต่างๆ โดยยึดหลัก mutual benefit และ sincerity ซึ่งในการจัดงานปี 2023 ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับประเทศสาธารณรัฐจีน เกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และประเทศอื่นๆ ทำให้เกิดความร่วมมือ ในการลงทุน การพัฒนา       อุตสาหกรรม นวัตกรรม เทคโนโลยี พลังงานจากไฮโดรเจน การจัดการน้ำเสียและอื่นๆ   

” ผมว่าเราต้องใส่ใจ Carbon Footprint ให้ความสำคัญใน commitment ที่ได้ให้ไว้กับ สหประชาชาติ ต้องพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้มี Value หรือมีคุณค่ามากขึ้นเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้นนั่นเอง” ศาสตราจารย์ดร.พิชัย กล่าวและย้ำว่า การจัดงานในครั้งนี้เราได้นำเทคโนโลยีต่างๆมาเผยแพร่ในประเทศไทย เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศไทย ประเทศจีนและนานาชาติ ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการใช้ Green Technology ในการเพิ่มมูลค่าการผลิตด้านอุตสาหกรรม หรือ กิจกรรมอื่นๆในแต่ละภาคส่วน

” เราจึงขอเชิญทุกภาคส่วน การเกษตร อาหาร สุขภาพ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม หน่วยงาน ภาคการลงทุนต่างๆ ธนาคาร หรือ องค์กรที่กำกับดูแลสิ่งแวดล้อม มาร่วมงานเพื่อการแสวงหาเพื่อนใหม่ อันนำไปสู่ความร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีต่อไปซึ่งการจัดงานของเราไม่ได้จัดเพื่อการแสวงหากำไร มาเถอะครับมาคุยกัน” ศาสตราจารย์ดร.พิชัย กล่าว

สำหรับการจัดงาน งาน Green Technology Expo 2024 “เปิดประตูสู่อนาคต ”Driving Sustainable Solutions : Advancing Business Through Green Technology ส่งเสริมแผนงานความยั่งยืน ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสีเขียว

ระหว่างวันที่ 24-26 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00-19.00 น ณ Hall  EH 102  ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา เพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2025 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 ซึ่งทางสมาคมฯได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสนับสนุนการลดปัญหาสภาพภูมิอากาศโลกและส่งเสริมการพัฒนาแบบยั่งยืน (SDG) รวมทั้งสนับสนุนนโยบายของประเทศด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน

Related posts