เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 (เวลา15.30 น.) ณ ประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ อ.เชียงคาน จ.เลย กรมชลประทาน เดินหน้าพัฒนาแหล่งน้ำภาคอีสาน หวังเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้มีใช้อย่างเพียงพอในทุกฤดูกาล เร่งดำเนินโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก จ.เลย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืนในอนาคต
นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5 เปิดเผยว่า โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จลพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ปัจจุบันงานก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ มีความคืบหน้าแล้วกว่า 96 %
โดยตั้งเป้าให้แล้วเสร็จภายในปี 2570 นี้ เพื่อให้สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประตูระบายน้ำแห่งนี้ จะทำหน้าที่ตัดยอดน้ำที่ไหลผ่าน อ.ภูหลวง ด้วยลักษณะของพื้นที่เป็นที่สูงลาดชัน ก่อนจะไหลลงพื้นที่ลุ่มต่ำตอนกลาง ผ่านพื้นที่เชิงเขาในเขต อ.วังสะพุง และพื้นที่ลุ่มเขตเมืองเลย และไหลลงสู่ลุ่มน้ำแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงคาน และผันน้ำส่วนเกินลงสู่อ่างเก็บน้ำ จำนวน 59 โครงการ ฝ่ายทดน้ำ จำนวน 65 โครงการ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จำนวน 27 โครงการ พื้นที่ชลประทาน 57,171 ไร่/พื้นที่รับประโยชน์ 140,948 ไร่ ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำเลย ลดปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่โดยรอบ
ส่วนงานปรับปรุงเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำของลำน้ำสายต่าง ๆ อาทิ อ่างฯ ห้วยแห้ว , อ่างฯ ห้วยน้ำพาว , อ่างฯ ห้วยน้ำหมาน , อ่างฯ น้ำเลย , อ่างฯ ห้วยอีเลิศ , อ่างฯ ห้วยน้ำทบ , อ่างฯ ห้วยน้ำคู้ , อ่างฯ น้ำสวย , ฝ่ายยางทดน้ำ เสร็จเรียบร้อยแล้วและประตูระบายน้ำศรีสองรักฯ ปัจจุบันแล้วเสร็จ 96 % จึงถือได้ว่า ปตร.ศรีสองรักฯ เป็นโครงการอเนกประสงค์ ที่ช่วยบรรเทาทั้งน้ำหลากและน้ำแล้ง เมื่อโครงการฯ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 จะสามารถสนับสนุนน้ำให้พื้นที่ชลประทานสองฝั่งลำน้ำเลยตอนล่างในหน้าฝนได้ 72,500 ไร่ ในหน้าแล้งได้ประมาณ 18,100 ไร่ รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ราษฎรรวม 44 หมู่บ้านในตำบลต่างๆ ของอำเภอเชียงคาน ได้แก่ นาซ่าว, เขาแก้ว, ปากตม, ธาตุ, จอมศรี และหาดทรายขาว ทั้งยังช่วยสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นการก่อสร้างควบคู่ไปกับสถาปัตยกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของ จ.เลย มีการนำหัวผีตาโขนประดับที่บริเวณตอม่อและตกแต่งประดับไฟเพื่อความปลอดภัยให้แสงสว่าง และเพื่อความงดงามในยามค่ำคืน อีกทั้งมีหอชมทัศนียภาพ จำนวน 6 หอ ความสูง 28 เมตร นับเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาชมทัศนียภาพลำน้ำเลยและแม่น้ำโขง นำรายได้สู่ราษฎรในพื้นที่และจังหวัดอีกด้วย