ดร.เฉลิมชัย เปิดงานวันสิ่งแวดล้อมไทย และวัน ทสม. แห่งชาติ ปี 2567 นำเสนอผลการประชุม COP29 มุ่งยกระดับความร่วมมือภาครัฐ-เอกชน-ประชาสังคม แก้ไขปัญหาโลกเดือด สู่เป้าหมายระดับโลก

               วันที่ 4 ธันวาคม 2567 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “Impact – Driven Policy: Empowering Action for Change รวมพลังลดโลกเดือด: เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” พร้อมเปิดเวทีนำเสนอผลการประชุม COP29 มุ่งยกระดับความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยสู่เป้าหมายระดับโลก โดยได้รับเกียรติจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และกล่าวรายงานโดยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ ชั้น 4 โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร

               ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สืบเนื่องจากจุดเริ่มต้นของวันสิ่งแวดล้อมไทย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงห่วงใยต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของไทยและโลกที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น และให้ถือเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และนับเป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้น้อมนำพระราชดำรัสมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมุ่งเน้นให้เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่าย ทสม. เป็นฟันเฟืองสำคัญในการส่งเสริมการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ส่งผลต่อเนื่องไปสู่การดำเนินงานร่วมกับประชาคมโลก และในโอกาสนี้ อยากให้ทุกคนเห็นความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบในขณะนี้ และจะต่อเนื่องไปอีกในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการดำเนินงาน ตามพันธกรณีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความตกลงปารีส โดยเร่งสร้างความพร้อมของการดำเนินงานในมิติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแก่ทุกภาคส่วน

               ดร. เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า จากการประชุม COP29 ณ ประเทศอาเซอร์ไบจาน ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้แสดงความมุ่งมั่นในการยกระดับการดำเนินงานทั้งการปฏิบัติตามเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงบูรณาการแผนการปรับตัวระดับชาติให้เชื่อมโยงกับระดับท้องถิ่น พร้อมกับการเร่งพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าให้แก่ประชาชนระดับพื้นที่ โดยเน้นย้ำว่าการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามกรอบอนุสัญญาฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานดังกล่าวให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งแนวทางดำเนินงานของประเทศไทย มีความมุ่งมั่นให้ภาครัฐเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีภาคเอกชน และภาคประชาชน เครือข่าย ทสม. เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ และมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและชัดเจน ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม

               “สุดท้ายนี้ ขอเน้นย้ำว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการจัดการปัญหาร่วมกัน จึงขอให้ใช้โอกาสนี้ สื่อสารสาระสำคัญจากผลการประชุม COP29 ในมุมมอง “จากโลกสู่เรา เพื่อเปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” และมุ่งหวังให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้รับรู้และร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายของประเทศอย่างเหมาะสมและเป็นรูปธรรม เพื่อส่งต่อโลกใบนี้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังต่อไปได้อย่างยั่งยืน”

               สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย และวัน ทสม. แห่งชาติ ปี 2567 ครั้งนี้ ได้มีการเปิดเวทีนำเสนอสรุปผลการประชุม COP29 โดย ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเสวนาในหัวข้อ “Impact – Driven Policy : Empowering Action for Change รวมพลังลดโลกเดือด: เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก” และ “สาระสำคัญจาก COP29 สู่การดำเนินงานของประเทศไทย” ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ กรอบความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส (Transparency Framework) การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) และเป้าหมายการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมพลังการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) และการเสริมศักยภาพ (Capacity Building)  รวมถึง ความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article6) อีกทั้งการจัดแสดงนิทรรศการให้ความรู้สาระสำคัญจาก COP29 และผลการดำเนินงานของ เครือข่าย ทสม. โดยมีผู้เข้าร่วมงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เยาวชนและเครือข่ายสถานศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และ เครือข่าย ทสม. รวมกว่า 800 คน ทั้งนี้ การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดงานแบบคาร์บอนนิวทรัลอีเว้นท์ ได้มีการนำคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER มาชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

Related posts