ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่หนองคาย ตอนที่ 3
การเดินทางมาท่องเที่ยววิถีไทย วิถีชุมชนในจังหวัดหนองคายเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่ภาระกิจเชื่อมความสัมพันธ์สองฝั่งโขง จะได้บวกการท่องเที่ยวนครเวียงจันทน์ เข้าไปเป็นเนื้อเดียวกันกับวิถีชีวิตของชาวหนองคาย ลาว เข้ามาร่วมกันได้ วัฒนธรรมและประเพณีไม่แตกต่างกันมาก ทั้งสองประเทศเลยต้องร่วมมือกันทำธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยกันอย่างลงตัวที่สุด
เช้านี้ หลังจากทานอาหารแล้ว พวกเราเตรียมตัวกันเดินทางข้ามสะพานไทยลาวแห่งแรกที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเดินทางข้ามโขงไปยัง สปป.ลาว ไปเยือนนครเวียงจันทน์เพื่อไปกราบไหว้วัดพระธาตุหลวง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่นครเวียงจันทน์ วันนี้ นครเวียงจันทน์เปลี่ยนแปลงรูปแบบในความเจริญผิดหูผิดตา ศูนย์ราชการขยายออกไปนอกเมืองมากขึ้น และกำลังจะมีอาณาจักรเมืองใหม่ของเวียงจันทน์ ซึ่งก่อสร้างโดยคนจีนมีคอนโดผุดขึ้นมาอย่างมากมาย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม กับ เวียงจันทน์สมัยใหม่อีกไม่นานจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูง ความสะดวกสบายความเจริญก้าวหน้าจะครอบคลุมนครเวียงจันทน์ยุคใหม่ที่เมืองไทยต้องดูการจัดผังเมืองเอาความเจริญไปสู่ท้องถิ่นในปริมณฑลของนครเวียงจันทน์กับความใหม่ศิวิไลซ์ที่น่าชื่นชม
จุดหมายของเราจุดแรกผ่านไปแล้ว เรากำลังเดินทางไป บ้านสวนมณีจันทร์ บ้านที่เป็นโฮมสเตย์ศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนชาวลาวแบบวิถีชีวิตของพวกเขา การทำอาหารพื้นบ้าน แกงหน่อไม้ต้องเดินไปเก็บหน่อไม้สดๆมาทำอาหารกลางวันเพื่อเลี้ยงพวกเรา ด้วยรสชาติที่ใกล้เคียงกับอาหารพื้นถิ่นของชาวหนองคาย ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนแนวความคิดเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชมสร้างความพอใจกับความดิบธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่งมาก บ้านมณีจันทร์ ออกจากตัวนครเวียงจันทน์ราว20กิโลเมตร ออกมาเจอถนนลูกรังแล้วมาทานอาหารกลางวันในแบบอาหารพื้นถิ่นของชาวลาวได้รับอรรถรสมาก
เรามีเวลาน้อยมากเพราะอยู่ บ้านสวนมณีจันทร์ ต้องเดินทางเข้ามาในนครเวียงจันทน์ เพื่อเข้าชมศูนย์หัตถกรรมผ้าไหมโบราณของชาวลาวซึ่งมีชื่อเสียงมายาวนาน ที่ศูนย์แห่งนี้จะเป็นศูนย์ที่ทอผ้าไหมตั้งแต่ขั้นตอนการเก็บหม่อนเลี้ยงไหม การต้ม การสาวไหม จนถึงขั้นตอนการย้อมแล้วมาถึงการทอ ทุกขั้นตอนยากมากแต่ไม่แตกต่างทางภาคอีสาน ผ้าไหมโบราณของทางลาวราคาค่อนข้างจะสูงมากมาย
เสร็จจากการเยี่ยมชมศูนย์ทอผ้าไหมโบราณทางทีมงานลาว พาคณะจากไทยไปเยี่ยมชมร้านกำแพงเวียงหัตถกรรมเครื่องเงิน เป็นร้านทำผลิตเครื่องเงินใหญ่ที่มีสารพัดเครื่องเงิน ผ้าไหมผ้าทอของชาวลาวไว้จำหน่ายแต่ราคาก็สูงไปตามสภาพของฝีมือ เหมาะแก่การช้อปปิ้งเป็นของฝากได้เป็นอย่างดี ก่อนที่พวกเราจะกระเป๋าเบามากกว่านี้ ต้องรีบชิ่งออกมาเพื่อเดินทางไปยังจุดสุดท้าย กำแพงเก่านครเวียงจันทน์ ซึ่งพวกเราต้องผ่านกันอยู่แล้ว กำแพงนครเวียงจันทน์มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช สร้างนครเวียงจันทน์จนรุ่งเรือง กำแพงเมืองแห่งนี้จึงไปศูนย์การเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ในอดีตแห่งความรุ่งเรืองของลาว วันนี้ กำแพงเก่านครเวียงจันทน์กลายเป็นตลาดนัดขายสินค้าอาหารในยามเย็นไปถึงค่ำ เป็นชุมชนค้าขายเป็นตลาดย้อนยุคที่สร้างเงินหมุนเวียนได้ดี ทุกเย็นชาวลาวจะมารวมตัวกันท่องเที่ยวตามวิถีกันที่นี่
เราอำลานครเวียงจันทน์กลับสู่ด่านฝั่งลาวเพื่อจะข้ามมาฝั่งไทย คืนนี้ต้องนั่งรถไฟขบวนพิเศษตู้นอนกลับกรุงเทพถึงพรุ่งนี้เช้า เงินบางคนแม้จะพร่องไปเยอะแต่ก็ยังพอมีไว้ใช้สอยจับจ่ายกันที่ร้านดิวตี้ฟรีของลาวและตลาดรอบด่านพอให้เราซื้อของฝากกันกลับบ้าน มีสารพัดอย่างให้เราได้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ ก่อนที่จะข้ามมาฝั่งไทยคืนนี้เราต้องเตรียมตัวเดินทางกลับแล้ว ทริปนี้เสร็จสิ้นภาระกิจ ขอขอบคุณ คุณวรากร เจียรเสริมสิน นายกสมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองคาย พัฒนาชุมชนจังหวัดหนองคาย และ ขอขอบคุณ คุณภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ สทน.ที่อำนวยความสะดวกในการนำมวลสมาชิกและสื่อมวลชนมาท่องเที่ยววิถีชุมชนของจังหวัดหนองคายและข้ามไปยัง สปป.ลาว ด้วยความเอิบอิ่มมีรอยยิ้มแห่งความสุขใจ ทริปหน้าคงมีโอกาสมาร่วมงานกันอีกครั้งด้วยความเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง.