อพท.3 นำเที่ยววิสาหกิจชุมชนตะวันออก
โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งวิสาหกิจการท่องเที่ยว ในพื้นที่พิเศษเมืองพัทยา และพื้นที่เชื่อมโยง(อพท.3) นำสื่อมวลชนจากส่วนกลางเดินทางเข้าไปสัมผัสวิถึชีวิตของชุมชนบ้านไม้รูดสุดชายแดนไทยที่มึเรื่องราวอย่างมากมาย กับการยกระดับให้เป็นชุมชนแห่งการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
การเดินทางจากรุงเทพมหานครมุ่งตรงไปยังจังหวัดตราด เราแวะศูนย์ราชการุณย์ของสภากาชาดไทย ดินแดนที่เคยเป็นค่ายอพยพของชาวกัมพูชาในช่วงสงครามล้างเผ่าพันธ์ุเมื่อ 40 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของการช่วยเหลือ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เราแวะสัมผัสเรียนรู้หลายสิ่งในอดีตที่วันนี้สงครามสงบลงที่นี่คือแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่ง
บ้านไม้รูด ในวันที่เราไปนั้นมีนายอำเภอคลองใหญ่เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงาน OTOP VILLAGE โครงการหมู่บ้านโอท็อป เพื่อการท่องเที่ยวเส้นทางที่ 2 ฝั่งทะเลตะวันออก ได้พบกืจกรรมหลากหลาย การสานหมวกด้วยใบมะพร้าว การถักแหวิถีชีวิตชาวประมง และขนมอาหารหลากหลายของชุมชนบ้านไม้รูด ที่รวมตัวกันนำสินค้าโอท้อปเข้ามาเปิดตลาดการขายเพื่อรองรับการท่องเที่ยว เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ต่างแยกย้ายกันกลับ เพื่อทำกิจกรรมใหม่ในบ้านไม้รูด ซึ่งมีผู้เข้ามาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
จากนั้นเรามาชมหาดทรายสองสีที่ทอดยาวไปไกลนับกิโลเมตร ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจากชายทะเลหาดสองสีนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของชาวบ้านไม้รูด เพราะมีการสร้างทางเดินเป็นคอนกรีต เพื่อไปยังบ่อน้ำญวนซึ่งในช่วงสงครามเวียดนาม ทหารเวียดนามเคยมาปักหลักแวะพักยังสถานที่แห่งนี้ การหาน้ำจืดทานจึงมีอยู่ริมทะเลก็ตรงนี้ที่หาดทรายสองสี การเป็นอีกตำนานเรื่องเล่าอีกแห่งหนึ่งของบ้านไม้รูด เป็นอีกสถานที่แห่งหนึ่งที่น่าสนใจ
วิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งของชาวบ้านไม้รูดคือการล่องเรือท่องเที่ยวป่าชายเลนบ้านไม้รูด การดำรงชีวิตเป็นชาวประมงผูกพันกับการทำประมงชายฝั่ง การล่องเรือดูวิถีชีวิตของชาวชุมชนบ้านไม้รูด ดูป่าโกงกางและเดินลุยทรายละเอียดในลำคลองซึ่งใสสะอาดมาก ชายเลนบ้านไม้รูดจะไม่เป็นเลนตม แต่จะเป็นทรายละเอียดสามารถใช้เท้าสะกิดเอาหอยถ่านที่อยู่ในทรายแห่งนี้มากมาย เราแล่นเรือไปชมป่าโกงกางจนตะวันลับลา จึงเดินทางกลับเพื่อมาพักผ่อน
รุ่งเช้า เราอำลาจากบ้านไม้รูดเพื่อมายังชุมชนบ้านกระแสบน อำเภอแกลง จังหวัดระยองเพื่อมาชมวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำประแสร์บน ซึ่งได้จัดตั้งชุมชนแห่งนี้ให้มาเรียนรู้วิถีชีวิตการดำรงชีพทั้งชาวสวนชาวไร่ชาวนาและประมง เดินทางถึงวัดกระแสร์คูหาสวรรค์ ชาวบ้านมาต้อนรับด้วยความอบอุ่น มีดนตรีไทยมาขับกล่อมบรรเลงฟ้อนรำวงให้กับแขกผู้มาเยือน ได้เห็นการทำขนมและการตัดกระดาษว่าวให้เป็นพวงมะโหดซึ่งใช้ในงานบุญต่างๆตามประเพณีนิยม การสาธิตการเก็บเกี่ยวข้าวนำมาตากและเอาข้าวเปลือกมาตำมาฟัดมาร่อน เพื่อได้เมล็ดข้าวสารเป็นการทำให้เห็นขั้นตอนของคนโบราณในการทำข้าวเปลือกให้ได้ข้าวสารซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยความสงสัยว่าคนสมัยก่อนสีข้าวอย่างไร
ส่วนภายในโบสถ์ได้เข้าไปกราบสักการะหลวงพ่อศิลาและหลวงพ่อเชียงรุ้ง พระคู่บ้านคู่เมืองของชาวกระแสบนมากว่า 800 ปี การนั่งรถสามล้อพ่วงข้าง เพื่อชมวิถีชีวิตของชาวชุมชนกระแสบน แวะไปสัมผัสสวนผลไม้ของ คุณลุงจริต นามสนิท เกษตรกรดีเด่น กับสวนมังคุดได้เรียนรู้เรื่องการเก็บและกินมังคุด กับการเปลี่ยนตัวแปลงของชาวสวนในยุคใหม่ ก่อนจะลงเรือไปชมแม่น้ำประแสร์ เพื่อดูตัวลั้ง กิ้งก่ายักษ์พื้นบ้านซึ่งมีที่สองฝั่งแม่น้ำอย่างมากมาย ถ้าช่วงหน้าแล้งใบไม้ไผ่จะร่วงหล่น เราจะเห็นตัวลั้งออกมาชูคอเล่นริมแม่น้ำ ชุมชนกระแสบนเปิดรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาชมวิถีชีวิตของชุมชนที่นี่ด้วยราคาไม่แพง ได้ทานอาหารที่ใกล้ชิดธรรมชาติมาก ใช้กระบอกไม้ไผ่มาทำเป็นแก้วน้ำหรือใส่อาหารทานได้นับว่าเป็นความแปลกใหม่ของชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ได้ทานกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ๆเป็นอาหารมื้อเที่ยว อร่อยจนลืมไม่ลงกับอาหารพื้นเมืองของชาวกระแสบน
ออกจากชุมชนกระแสบน เรามาสู่ชุมชนบ้านจำรุง มหาวิทยาลัยบ้านนอก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพการเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยบ้านนอก มาเรียนรู้การทำสวนแบบอินทรีย์ต่อต้านสารเคมี และปลุกจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีอากาศบริสุทธิ์ ทางมหาวิทยาลัยบ้านนอกแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ครบวงจรที่เกี่ยวกับการทำสวนผลไม้ ประมง มีรถรางนำเที่ยวไปอีกหลายหมู่บ้าน ได้ชมการกรีดยางที่มีอยู่มากมายในหลายตำบล ได้มาชมช่างตีมีดกรีดยางแบบวิถีพอเพียง ซึ่งตีมีดกรีดยางจนไม่พอกับความต้องการ สุดท้ายเราแวะชมโฮมสเตย์ในหมู่บ้านที่อยู่มากมายหลายแห่งแล้วนั่งรถรางมายังสะพานรักษ์แสม ซึ่งสะพานแห่งนี้นำเอาปูแสมมาแต่งงานกัน ช่วยกันอนุรักษ์ปูแสมให้อยู่คู่ทะเลชายฝั่งของอำเภอแกลง จังหวัดระยอง
เรากลับมาถึงมหาวิทยาลัยบ้านนอก บ้านจำรุงใกล้พลบค่ำ ทางรีสอร์ทของมหาวิยาลัยบ้านนอกจัดอาหารแสนอร่อยมื้อค่ำรองรับพวกเราก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครอย่างปลอดภัย การท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชนทางภาคตะวันออก ซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน)หรือ อพท.3 ได้สำรวจความพร้อมและความต้องการของนักท่องเที่ยวเพื่อเข้ามาเยี่ยมชมให้เกิดความประทับใจกับชุมชนทางภาคตะวันออกที่กำลังพัฒนาความพร้อมอย่างยั่งยืน.