เมืองมัลลิกา เมืองแห่งวัฒนธรรม และ วิถีชน
เส้นทางถนนกาญจนบุรี ไทรโยค จุดที่ตั้งของ“เมืองมัลลิกา” เมืองแห่งวัฒนธรรม บนพื้นที่ 60 ไร่ ซึ่งเนรมิตทุกตารางนิ้วของพื้นที่ ให้กลายเป็นแหล่งวัฒนธรรมย้อนยุคไปสู่ ร.ศ.124 ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปิยะมหาราช การเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง
การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแม้จะมีทาสในเรือนเบี้ยของเจ้าขุนมูลนาย ทำให้พระองค์ท่านมองถึงการณ์ไกล ในการปลดปล่อยทาสในเรือนเบี้ย ให้ได้รับอิสระภาพเพื่อความเป็นไทของตัวเอง พระองค์ท่านทรงประกาศเลิกทาส เป็นประเทศแรกในแถบนี้ สร้างความปลื้มปิติยินดีต่อข้าราชบริพารที่เคยเป็นทาสในเรือนเบี้ย นั่นเป็นเพราะพระองค์ทรงเมตตา ไม่อยากให้สยามประเทศถูกครหาว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน พระองค์ทรงรับอารยธรรมทางตะวันตกเข้ามาสร้างบ้านแปลงเมือง จนเกิดความรุ่งเรืองไปทั้งประเทศ ทรงวางรากฐานของความเจริญในบ้านเมืองทั้งรถไฟ รถยนต์ การไฟฟ้า การประปา ทำให้สยามประเทศก้าวเข้าสู่อารยธรรมความเจริญรุ่งเรืองในประวัติศาสตร์
คุณพลศักดิ์ ประกอบ นักธุรกิจที่มองการณ์ไกล ได้สร้าง “เมืองมัลลิกา” เมืองแห่งวัฒนธรรมและวิถีชน เพื่อฉีกกรอบการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แบบเดิมๆ พร้อมที่จะให้ทุกคนเดินย้อนยุคเวลานับร้อยกว่าปีไปสัมผัสรากเหง้าของความเจริญในยุคแรกของสยามประเทศ ด้วยการทุ่มทุนมูลค่ากว่า 200 ล้านสร้างเมืองมัลลิกาขึ้นมา ด้วยรูปแบบของความเป็นไทยในรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง โดยฝีมือการออกแบบของ อาจารย์ชาตรี ปกิตนนทกานต์ ในขณะที่ออกแบบนั้นท่านยังดำรงอยู่ในตำแหน่งคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ภาควิชา สถาปัตย์ กรรมไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ในตอนนั้น
รูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย เริ่มต้นด้วยหญิงสาวนาม มะลิ สาวสวยได้แต่งงานกับคหบดีหนุ่ม เริ่มต้นสร้างเรือนแพ และ สร้างวิถีค้าขายน้ำตาลกับคนต่างชาติ จนกระทั่งประสบความสําเร็จแล้วสร้างเรือนไทย ต่อมาสร้างเรือนหมู่เพื่อรองรับแขกบ้านแขกเมือง เรื่องราวของแม่มะลิ ดำเนินชีวิตจนกลายเป็นเศรษฐี ร่ำรวยมีข้าทาสบริวาร เรือนไทยหมู่สร้างขึ้นมานั้นเป็นเรือนไทยใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนเรือนหมู่จะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชนชาวสยามในอดีต การสร้างสตอรี่ของเรื่องผสมผสานไปกับความงามทางวัฒนธรรมของไทยสมัยโบราณซึ่ง เมืองมัลลิกา นำมาเสนอให้เห็นจริง
กำแพงเมืองด้านหน้าเปิดประตู เดินเข้าสู่อดีต ผ่านเรือนเดี่ยวที่สองข้างทางจะมีร้านค้าในสมัยโบราณให้ได้จับจ่ายด้วยมูลค่าเงินในสมัยนั้นเป็นสตางค์ คือ ทุกคนเข้ามาถ้าอยากอยู่ในตรีมของเรื่องราว ควรเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเป็นชุดไทยในสมัย ร.5 แล้วแลกเงินเป็นหลักสตางค์เพื่อใช้จ่ายให้บริเวณเมืองมัลลิกา ที่รายล้อมไปด้วยสวนดอกไม้ บ้านเรือนแพ เรือนไทย และย่านการค้าทั้ง 3 แพร่ง คือแพร่งนารา แพร่งภูธรและ แพร่งสรรพศาสตร์ นำมาวางเรียงรายเข้ากับยุคสมัยของถนนเยาวราช บางรัก เพื่อให้ทุกคนได้ซึมซับกับวิถีชีวิตของคนในสยามประเทศยุคนั้นมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างไรกัน
ภายในเมืองมัลลิกา ยังมีจุดชมวิวหลากหลายเราได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเรือนแพ การค้าขายทางน้ำ ทางเข้าเมืองร้านค้ารวมถึงมีหอคอยให้เดินขึ้นไปสู่มุมสูงมองภาพแห่งความสวยงามในเมืองมัลลิกาได้อย่างเต็มตา ผู้คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในเมืองมัลลิกา มักจะแต่งชุดไทยย้านยุคเดินเข้ามาในเมืองมัลลิกาด้วยความภาคภูมิใจ
150 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศเลิกทาส เป็นธีมเรื่องซึ่งเมืองมัลลิกา ได้จัดแสดงการเลิกทาสให้เห็น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเดินทางมาเป็นประธานในพิธี แขกผู้มีเกียรติมากมาย เพราะเมืองมัลลิกาได้สร้างปรากฏการณ์ให้ให้กับวงการท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ ได้เข้ามาท่องเที่ยวในวิถีชีวิตแบบย้อนยุคสู่สยามประเทศ จนเมืองมัลลิกาโด่งดังไปทั่วโลกกลายเป็นแลนด์มาร์คอีกแห่งหนึ่งของจ.กาญจนบุรี
เมืองมัลลิกา ได้จำลองวิถีชีวิตของชุมชนในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง มีประชากรอยู่มนนั้นกว่า 400 คนพร้อมที่จะรองรับนักท่องเที่ยวให้ความรู้ ทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องราวของเมืองมัลลิกา บนพื้นที่ 60 ไร่ดูจะคับแคบไปเพราะวางโครงสร้่าง การปลูกบ้านร้านค้ากับวิถีชีวิต เต็มไปหมด เป็นจุดพักผ่อนได้ดีในวันหยุดสุดสังปดาห์และเป็นวันธรรมดาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เข้ามาสัมผัสบรรยากาศของเมืองมัลลิกาได้อย่างเต็มพร้อมรอยยิ้มของพนักงานที่นี่ทุกคน
จ.กาญจนบุรี มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายกระจายไปทั้งจังหวัด เมืองมัลลิกา เป็นจุดหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาสัมผัสศึกษารูปแบบวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ เมืองมัลลิกาได้เนรมิตวิถีชีวิตของคนในยุคโบราณ ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งและมั่นคงถาวรสืบไป แวะไปสัมผัสดูจะรู้ว่ามัลลิกา คือเมืองแห่งวัฒนธรรมและ วิถีชน อย่างแท้จริงน่าสนใจ.