เยือนหมู่บ้าน OTOP 3 จังหวัด ใน 1 คืน 2 วัน แล้วคุณจะ..รัก..เขา..
*วันแรกเชคอิน…บ้านร่องใหญ่..เพชรบุรี.. สารพัดจะฟิน..*
หากดูตามปฏิทินฤดูกาล วันที่ 20-21 ตุลาคม 2561 ในเส้นทางปักษ์ใต้นั้น จะย่างเข้าฤดูฝนเกือบจะเต็มตัวแล้ว แต่สื่อสัญจรคณะเรา ไม่หวาดหวั่นกับกิจกรรม สื่อมวลชนสัญจร….ฝั่งทะเลตะวันตก เพชรบุรี – ชุมพร -ระนอง เดินทางจากกรุงเทพ -สู่หมู่บ้านร่องหัน เพื่อเยือนหมู่บ้านร่องใหญ่ (กังหันทอง) เพชรบุรี ที่นี่นอกจากเราจะประทับใจกับการต้อนรับจากระบำกลองยาว ที่หน้าศูนย์กังหันทอง เราจะได้ชมทะเลโคลน ,ฟาร์มสาหร่ายพวงองุ่น และการสาธิตการเก็บหอยตลับ ถ่ายภาพจุด landmark และร่วมฐานกิจกรรม สาธิตสปา 5 คน และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือ
สำหรับบ้านร่องใหญ่ หมู่ที่ 7 ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เดิมเรียกว่า บ้านช่องขาด เนื่องจากบริเวณพื้นที่หมู่บ้านเป็นป่าใหญ่ ต่อมามีการสร้างถนนทำเส้นทาง จนเหลือช่องขาดอยู่เพียงช่องเดียว ปัจจุบันกลายเป็นคลองขนาดใหญ่ตัดผ่านหมู่บ้าน จึงเรียกกันว่า“บ้านร่องใหญ่”
หมู่บ้านมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งทรัพยากรทางทะเลที่มีคุณค่า ทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา และที่นี่ยังเป็นเส้นทางสายเกลือ (Scenic route) แหล่งผลิตเกลือสมุทรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศอีกด้วย โดยตลอดเส้นทาง ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีจุดชุมวิวและกิจกรรมมากมายให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม ขณะนี้ได้มีการเพ้นต์ภาพแต่งแต้มสีสันโรงเก็บเกลือที่อยู่ริมทางให้มีความสวยงาม เป็นภาพสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนทำเกลือ
ยังมีการสร้างสะพานไม้ทอดยาวลงไปในนาเกลือ พร้อมการต้อนรับของฝูงนกนางนวล เป็นจุดถ่ายภาพธรรมชาติให้นักท่องเที่ยวได้จอดรถลงมาเก็บภาพสวยงามเมื่อผ่านเส้นทาง โดยเฉพาะช่วงยามเย็นที่ฟ้าเปิดจะเห็นภาพพระอาทิตย์ตก ขณะนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก จนถือเป็นแลนด์มาร์คถนนสายเกลือและหมู่บ้านร่องใหญ่ เป็นจุดท่องเที่ยวแห่งใหม่ของอำเภอบ้านแหลม
ในพื้นที่ยังมีกังหันลมขนาดใหญ่ มีร้านค้าชุมชน ที่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบุรี ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว หมู่บ้านร่องใหญ่ RONGYAI otopvillage for Tourism ด้วย โดยมีสินค้า OTOP ขึ้นชื่อเป็นผลิตภัณฑ์เกลือสปากังหันทอง สามารถแวะผ่อนคลายด้วยการนวดสปาเกลือได้อีกด้วย
เสร็จสิ้นกิจกรรม เรารับประทานอาหารพื้นถิ่น เช่น แกงคั่วใบชะครามปู หมึกสายทอด น้ำพริกไข่เค็มกุ้งสะเออะ ปลากระพงต้มขมิ้น ขนมบัวใบชะคราม และข้าวต้มมัดใบชะคราม เป็นต้น อิ่มหนำสำราญได้เวลาเดินทางต่อ…ไปยังจ.ชุมพร
*สักการะ”พ่อตาหินช้าง”ซื้อ”กล้วยเล็บมือนางของฝากขึ้นชื่อ..ที่นี่ชุมพร*
ชุมชนพ่อตาหินช้าง บ้านหินกูบ ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งศาลพ่อตาหินช้าง จ.ชุมพร เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีองค์พระพิฆเนศเก่าแก่ประดิษฐานอยู่เป็นที่นับถือของคนชุมพรและบุคคลทั่วไป ศาลตั้งอยู่ติดถนนเพชรเกษมช่วงกิโลเมตรที่ 453-454 เวลาคนเดินทางสัญจรผ่านก็จะได้ยินเสียงแตรรถบีบเพื่อเป็นการสักการะ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เดินทางปลอดภัย เดินทางไปที่ไหนก็จะมีแต่โชคลาภความสำเร็จจะบังเกิด ที่ศาลนี้จะมีผู้คนมาทำการแก้บนอยู่ตลอดเสียงประทัดแก้บนดังไม่ขาดสาย
ที่นี่เราจะเห็นร้านค้าที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์ของกล้วยเล็บมือนาง หลากหลายประเภท เช่น เคลือบช็อคโกแล็ต ฉาบเค็ม ฉาบหวาน อบน้ำผึ้ง ตากและอบธรรมชาติ ทอดกรอบ ไอศกรีมกล้วยเล็บมือนาง ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดชุมพร ตามกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยว จะสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิที่วัดถ้ำพรุตะเคียน ศาลพ่อตาหินช้าง พร้อมซื้อของฝาก ชมตลาดน้ำวัดเนินทอง แหล่งรวมสินค้าพื้นบ้าน อาหารท้องถิ่น แวะศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชา ชมการสาธิตการทำขนมพื้นถิ่น เช่น ไข่นกกระทา ขนมใบบัว ขนมใบจาก ขนมลา การทำกาแฟดริปและชาเขียวในชุมชน หากนักท่องเที่ยวที่ต้องการแวะพักที่นี่ก็มีโฮมเสตย์ บรรยากาศอบอุ่นเป็นกันเอง
ตำนานศาลพ่อตาหินช้าง จากบันทึกคำบอกเล่าของนายถวิล อุ้ยนอง อดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านใหม่สมบูรณ์ ตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ปรากฏตามรายละเอียด ดังนี้เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2495 มีชาวไทย เชื้อสายมอญ ประมาณ 6 ครัวเรือนได้มาหักร้างถางพงปลูกกระท่อมอาศัยอยู่ ณ แถบเชิงเขาพ่อตาหินช้าง ประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าว ปลูกกล้วยน้ำว้า และทยอยเข้ามาประกอบอาชีพเกษตรกรรมอยู่หลังเขา ด้านที่ติดกับคลองท่าแซะอีกไม่กี่ครัวเรือน ชาวมอญซึ่งนับถือและเคร่งครัดต่อพระพุทธศาสนา ได้สร้างที่พักชั่วคราวไว้ให้พระสงฆ์มาประกอบพิธีกรรม โดยนิมนต์พระมาจากวัดแหลมยาง อำเภอท่าแซะ มาประจำ ณ ที่พักสงฆ์แห่งนี้
ในช่วงนั้นมีการตัดถนนสู่ภาคใต้ บริษัทรับเหมาสร้างถนนมาถึงตรงเชิงเขา ก็พบกับหินก้อนหนึ่งรูปร่างคล้ายช้าง ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ช่างที่มาควบคุมงานพยายามใช้เครื่องกลหนักเพื่อเอาหินก้อนนั้นออก แต่มีปัญหารถแทรกเตอร์ไม่สามารถทำงานได้ ทั้งหิน ต้นไม้ (ต้นตะเคียนทองขวางทางอยู่) ชาวบ้านบอกให้บนบานบอกกล่าวเจ้าที่ แต่นายช่างโยธาซึ่งเป็นฝรั่งไม่เชื่อ เมื่อพยายามใช้รถดันเท่าไรก็ไม่ได้ผล จึงตกลงให้ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือ โดยถ้าอภินิหารมีจริงก็ขอให้ใช้รถแทรกเตอร์สามารถดันหินขึ้นเขาได้ หากไม่จริงอย่างคำเล่าลือก็จะผลักลงเขาไปเลย ผลปรากฏว่ารถสามารถดันก้อนหินคล้ายรูปช้างขึ้นเขาได้จริง ๆ ทำให้คนงานและนายช่างเกิดความศรัทธา จึงร่วมกับชาวบ้านสร้างศาลพ่อตาหินช้างขึ้น การตัดถนนเพชรเกษมก็ผ่านไปด้วยดี
เมื่อตัดถนนเสร็จรถที่วิ่งผ่านไปผ่านมาก็หยุดสักการะ จุดประทัดกราบไหว้บูชาให้เดินทางปลอดภัย ศาลพ่อตาหลังแรกนั้นสร้างเล็กๆ แต่เต็มไปด้วยความรู้สึกที่อบอุ่น ปลอดภัย ต่อมามีรถของนายณรงค์ ชวนชัยศิษย์ ชาวกรุงเทพฯ เดินทางผ่านรถเกิดเสียจึงได้พักค้างคืนที่หน้าศาล และได้ทราบเรื่องพ่อตาหินช้าง จึงได้บนบานขอให้ประสบความสำเร็จในงาน แล้วจะสละตัวเป็นร่างทรงให้เจ้าพ่อ เมื่อประสบความสำเร็จดังที่ปรารภไว้ จึงรับเป็นผู้บูรณะ ปรับปรุงศาลให้ดียิ่งขึ้น และได้ตัดถนนขึ้นไปบนภูเขา เพื่อเป็นที่พักผ่อนของผู้มาเยือน
โดยในวันที่ 24 สิงหาคม ของทุกปี นายณรงค์ กับคณะจะมาสักการะถวายเครื่องสังเวยทำพิธีเข้าทรง เพื่อช่วยเหลือลูกหลานให้อยู่เย็นเป็นสุข เจริญรุ่งเรือง โดยจัดให้มีภาพยนตร์ 3 คืนหรือตามที่ขอไว้ เรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าในแถบนี้จะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “พ่อตา” มาอยู่คู่กับคลองท่าแซะ หลายแห่ง เช่น พ่อตาหินงู พ่อตาหินก้อง พ่อตาหินช้าง ท่านจะช่วยดูแลคุ้มครองป้องกัน ไม่ให้สัตว์ที่ไม่ดีมารังแกมนุษย์ได้ หลังเขาพ่อตาหินช้าง เป็นวังน้ำลึกมีหินที่หน้าผา รูปร่างคล้ายช้างหมอบ ล่างลงไปอีกคุ้งน้ำมีวังน้ำลึกอีกหลายแห่ง ชาวบ้านเรียกว่า“วังพ่อตาและวังแม่ยาย”ยังปรากฏเค้าลางมาถึงปัจจุบัน
ส่วนที่มาของกล้วยเล็บมือนาง มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ นายหนู ลงจับปลาในคลองท่าแซะ ตรงวังพ่อตา ได้เห็นกล้วยเล็บมือนางก็นำมาขายที่หน้าศาลพ่อตาหินช้าง ต่อมานายต๊ะ (นายสมจิต กมสินธ์) มาเปิดร้านขายดอกไม้ ธูปเทียนประทัด และกล้วยเล็บมือนาง นายพลกับนายสาย เห็นว่ากล้วยเล็บมือนางขายดี จึงไปซื้อหน่อกล้วยลักษณะดีจากอำเภอท่าแซะมาปลูกขายให้นายต๊ะ โดยขนหน่อกล้วยมาทางเรือ เมื่อการซื้อขายมีมากขึ้น บางครั้งขายไม่หมด นายต๊ะได้นำกล้วยสุกงอมไปตากแดดมาวางขายเป็นกล้วยตาก จากนั้นชุมชนแห่งนี้ก็ปลูกกล้วยเล็บมือนางขายเป็นอาชีพหลัก และใช้กล้วยเล็บมือนางบดให้ลูกกิน ซึ่งที่อื่นใช้กล้วยน้ำว้า เมื่อมีงานบุญหรือมีแขกมาเยี่ยม ก็จะเอากล้วยเล็บมือนางรับแขก และเป็นของฝากที่ดี มีความหมาย จนเป็นเอกลักษณ์ของบ้านพ่อตาหินช้างมาจนถึงปัจจุบัน