“สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47”ณ ศูนย์สิริกิติ์ ส่งไม้ต่อ“เมืองทองธานี”
สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย นำโดย นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ประกาศความพร้อมจัด“สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47” และ “สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17” ในวันที่ 28 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “รักคนอ่าน” ชวนสัมผัสกับกิจกรรมพิเศษ “9 สิ่งใหม่ … เพราะรักจึงจัดให้ ” พร้อมเวทีเสวนาและกิจกรรมน่าสนใจอีกมากมายตลอด 11 วัน โดย นางสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า
“งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 47 และ งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด“รักคนอ่าน” เป็นการแสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างคนทำหนังสือกับคนอ่านหนังสือ ความรักระหว่างคนอ่านหนังสือด้วยกัน รวมถึงความรักที่คนอ่านหนังสือมีต่อคนทำหนังสือ เรียกได้ว่าในงานหนังสือครั้งนี้จะมีแต่การแสดงออกถึงความรักระหว่างกัน และจะต้องเป็นความรักที่จับต้องสัมผัส รับรู้ได้จริง จึงตกผลึกมาเป็น concept รักคนอ่าน ซึ่งงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 47 และ งานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 17 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 มีนาคม ถึง 7 เมษายน 2562 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานได้รวบรวมสำนักพิมพ์กว่า 374 สำนักพิมพ์ โดยมีสำนักพิมพ์ต่างประเทศกว่า 17 สำนักพิมพ์เข้าร่วมงาน มีจำนวนบูธรวมทั้งสิ้นกว่า 924 บูธ ซึ่งเป็นบูธจากสำนักพิมพ์ต่างประเทศ 46 บูธ โดยเป็นที่รู้กันดีว่าแต่ละสำนักพิมพ์จะเปิดตัวหนังสือใหม่ในงานนี้ ส่วนหนังสือปกเดิมก็จะมีการจัดโปรโมชั่นพิเศษสุดๆ ทั้งลด แลก แจก แถม ให้กับประชาชนที่สนใจภายในงานครั้งนี้อีกด้วย
เราใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์อย่างคุ้มค่าและเป็นประโยชน์ที่สุด ให้สมกับเป็นการจัดงานสัปดาห์หนังสือครั้งสุดท้าย ก่อนศูนย์ฯ ปิดปรับปรุงครั้งใหญ่นานถึงสามปี ในครั้งนี้เราจึงได้จัดกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายให้กับผู้เข้าชมงานตลอดทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมแสดงบนเวทีมากถึง 98 รายการ มีการอบรมสัมมนาในหัวข้อต่างๆ กว่า 30 กิจกรรม นิทรรศการพิเศษกว่า 30 จุด และมีโซนวิวัฒน์หนังสือไทย จะมีเปิดหนังสือใหม่ของสมเด็จพระเทพฯ เรื่อง“ยลดอยตุงเยือนเชียงตุง” ที่ Hall A
และเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ความพิเศษเท่านั้น แต่เป็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในงานสัปดาห์หนังสือ เราเรียกทุกสิ่งนี้รวมกัน ประกอบไปด้วย 9 สิ่งใหม่ … เพราะรักจึงจัดให้ คือ 6 ทศวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง จากสนามหลวงถึงศูนย์สิริกิติ์ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร? , 23 ปีแห่งความทรงจำกับงานหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์ เราไม่อำลา ไม่อาลัย จะให้คนที่มางานเขียนความประทับใจนำไปติดท้ายรถบรรทุก, Cheer Reader : Book Fair Souvenir , ลุ้น รับจับรางวัล ทุก 500 บาทที่ซื้อหนังสือนำใบเสร็จมาแลกของที่ระลึก โซน Cheer Reader , คลินิกซ่อมหนังสือ หนังสือที่ชำรุดนำมาซ่อมได้ที่งานนี้, อ่านนอกเส้น: เล่นเส้นเล่นสี มีนักวาดการ์ตูน นามปากกา“ล่องหน” หรือ ปอนด์-ณัฐพล ฉัตรมงคลยิ่ง และ นามปากกา“ไอ้หัวยุ่ง” หรือ บูม ปภังกร แย้มวงษ์, Book Blind Date นัดบอดกับหนังสือชวนอ่าน เป็นการนำหนังสือมาแลกกันอ่าน, แชะ & แชร์ กับหกล้อ ถ่ายภาพในงานแล้วแชร์ในเฟซบุ๊ก จะได้รับโปสการ์ดของป๊อด โมเดิร์นด็อก, ตุลานี้เจอกันที่ เมืองทอง อยากมีอะไรใหม่ ๆ ที่บอกได้เลย….?? ให้คนอ่านเขียนสิ่งที่อยากเห็นกับอะไรที่อยากให้เกิดขึ้นที่เมืองทองมาบอกเราค่ะ
นอกจากนี้เราได้พันธมิตรใหม่คือ KERRY เป็นสปอร์นเซอร์รายใหม่และรายใหญ่ด้วย ส่วนภายในงานจัดกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการสำคัญ อีก 2 โครงการ คือ
1.โครงการ ๑ อ่าน ล้านตื่น โครงการนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 เพื่อมอบรางวัลแก่ผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการอ่านและเป็นแรงสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดการอ่านมากขึ้น ปีนี้คุณโอม ค็อกเทล จะมาร่วมงาน พร้อมการจัดมอบหนังสือให้กับพื้นที่ขาดแคลนทั่วประเทศ ด้วยการให้เลือกหนังสือที่ต้องการอ่านด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการอ่านที่ตรงเป้าหมายดีที่สุด และ
2.โครงการ Read for Thailand อ่านสร้างคน คนสร้างชาติ โครงการใหม่ที่เปิดตัวในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้เป็นปีแรก เป็นโครงการที่เกิดจากการร่วมมือของภาคีเครือข่ายรักการอ่านทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอ่านให้คนไทย เป็นการสร้างสังคมให้อุดมด้วยความรู้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาชาติแบบยั่งยืนและดีที่สุด
3. สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรม Flash Talk สาระเนื้อหาแห่งชีวิต ของวรรณกรรมในยุคสมัย โดยนักเขียนชื่อดังมากมาย อาทิ คุณกนกวลี พจนปกรณ์ คุณเสรี ทัศนศิลป์ คุณกุดจี่ พรชัย แสนยะมูล เป็นต้น และเราจับมือกับไต้หวัน ถือเป็นพันธมิตรหลักที่แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กับเรามาอย่างยาวนาน
จะมีการเซ็น MOU เผยแพร่ลิขสิทธิ์ซึ่งกันและกัน รวมถึงจัดโซน business matching จับคู่ธุรกิจไทย ไต้หวัน จีน และได้เชิญวิทยากรพิเศษอยู่ประจำบูธทุกวัน เพื่อบรรยายเรื่อง“คนเรียงพิมพ์” นำเสนอเครื่องพิมพ์ตัวอักษรแบบโบราณ ก่อนพัฒนามาเป็นระบบโรงพิมพ์ในปัจจุบัน และที่พลาดไม่ได้คือ การให้ความรู้เรื่องการขายหนังสือ ขายลิขสิทธิ์หนังสือไทยไปต่างประเทศ และยังเป็นการเข้าร่วมงานหนังสือครั้งแรก ของสมาคมการ์ตูนไต้หวัน เพื่อขยายช่องทางการเผยแพร่งานซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการขยายฐานตลาดหนังสือไทยไปทั่วโลกในอนาคต
หลัง 24 มีนาคมนี้ เราจะมีป้ายกองโจร พูดถึงงานสัปดาห์หนังสือ มาจาก 22 หมวดหนังสือ ติดตรงสะพานลอย, หอสมุดแห่งชาติ โดยจะมีทีมนกฮูกไปติดจุดต่างๆ และเราไปจับมือกับทางด่วนแจกใบบิลศรีนครินทร์ ท่านใดได้รับใบบิล ก็นำมารับของที่ระลึกที่งานหนังสือได้ เราไม่ได้คาดหวังแต่ยอดขาย หรือยอดสมาชิกผู้ออกบูธเท่านั้น แต่เรามองถึงเรื่องการสร้างสังคมการอ่านเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ดังที่ได้กล่าวไปในส่วนของโครงการต่างๆ ที่เราจัดขึ้นในงานสัปดาห์หนังสือเป็นประจำทุกปี ดังนั้น หากจะกล่าวถึงความสำเร็จของการจัดงานสัปดาห์หนังสือที่แท้จริง ต้องมองถึงสถานการณ์การอ่านที่ดีขึ้น เด็ก เยาวชน หันมาสนใจการอ่านมากขึ้น สังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญในการอ่านมากขึ้น ซึ่งก็ได้ผลน่าพอใจเพราะเด็กและเยาวชนเข้าชมงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีร้อยละ40 และหัวใจหลักที่สำคัญที่สุดที่สมาคมฯ ได้ตระหนักและย้ำเสมอมาคือ การสร้างสังคมการอ่านให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ซึ่งเรายังคงพยายามต่อไป โดยเพิ่มความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศและต่างประเทศ หน่วยงานใดที่ร่วมมือกันแล้ว ก็จะต้องร่วมกันมองหาช่องทางเพิ่มภารกิจหรือพัฒนาภารกิจเดิมให้สำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก และนอกจากนั้นสิ่งที่สมาคมฯ จะต้องรับผิดชอบและดูแลเป็นพิเศษก็คือการย้ายสถานที่จัดงานไปยังเมืองทองธานี ซึ่งจำเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนทราบ ต้องอำนวยความสะดวกให้สมาชิกออกบูธและผู้เข้าชมงานให้ดีที่สุด ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สมาคมฯ ต้องทำให้ดีที่สุด”