3 ปี กองทุนยุติธรรม ช่วยเหลือประชาชนได้ตามเป้า
เล็งนำเทคโนโลยีเสริม เพิ่มความสะดวกเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น
เมื่อวันพุธ ที่ 24 เมษายน 2562 ณ ห้อง Wanda A Grand Ballroom โรงแรม Best Western Plus Wanda Grand Hotel จังหวัดนนทบุรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้มอบหมาย นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในงานพิธีเปิดโครงการแถลงข่าวสำคัญเนื่องในวันครบรอบสำนักงานกองทุนยุติธรรม (ครบรอบ 3 ปี) และ ในโอกาสที่ได้มีการจัดโครงการแผนบูรณาการตามนโยบายของรัฐบาล และ โครงการความร่วมมือ (MOU) การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างสังคมเท่าเทียมกัน ระหว่างหน่วยงาน 9 หน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรม
นายพงศธร สัจจชลพันธ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น โดยสำนักงานกิจการยุติธรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มีการสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงผู้ที่กระทำการใดๆ เพื่อปกป้อง คุ้มครอง หรือรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม
โดยหลังจากที่ กองทุนยุติธรรม ได้ยกระดับเป็นกองทุน มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ. 2558 (พ.ศ. 2559–ปัจจุบัน) ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2559 เป็นต้นมา เป็นระยะเวลา 3 ปี ที่กองทุนยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ในภารกิจ 1. การช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี, 2. การขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย, 3. การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และ 4. การให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริมว่า สำหรับก้าวต่อไปของกองทุนยุติธรรม จะมีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนภารกิจงานกองทุนยุติธรรม โดยปัจจุบันสำนักงานกองทุนยุติธรรมมีการใช้ระบบสารสนเทศ เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) Mobile Application 2) เว็บไซต์สำนักงานกองทุนยุติธรรม (jfo.moj.go.th) และผู้ขอรับความช่วยเหลือ ยังสามารถติดต่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม ศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัด โดยผู้รับคำขอสามารถติดตาม ความคืบหน้าของคำขอได้ด้วยตนเองผ่านทาง Mobile Application หรือเว็บไซต์ของสำนักงานกองทุนยุติธรรม ด้วยหมายเลขประจำตัวประชาชน และรหัสผ่านที่ได้ลงทะเบียนไว้
โดยการทำงานของกองทุนยุติธรรมทั่วทั้งประเทศ มีสำนักงานกองทุนยุติธรรม และ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด และอีก ๕ สาขา ประกอบด้วย สำนักงานยุติธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สาขาฝาง สำนักงานยุติธรรมจังหวัดตาก สาขาแม่สอด สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุรินทร์ สาขารัตนบุรี สำนักงานยุติธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดยะลา สาขาเบตง
ผู้มีความประสงค์บริจาคให้แก่กองทุน โดยสามารถได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนเงินที่บริจาค ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 651) พ.ศ. 2561 โดยมีช่องทางการบริจาค ดังนี้
- นำส่งเป็นเงินสด ณ สำนักงานกองทุนยุติธรรม อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ชั้น 22 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุร
- โอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาอาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค บัญชีกระแสรายวัน ชื่อบัญชี กองทุนยุติธรรม (เงินฝากคลัง) เลขที่บัญชี 568-6-00166-9
นางสาวมยุรี จำจรัส ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ กองทุนยุติธรรม ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงในโครงการความร่วมมือ (MOU) การอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างสังคมเท่าเทียมกัน กับหน่วยงาน 9 หน่วยงาน ในกระบวนการยุติธรรม ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม, สภาทนายความ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานศาลยุติธรรม, กรมราชทัณฑ์, กรมบังคับคดี, กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยางชน และ กรมคุมประพฤติ เพื่อขับเคลื่อนการทำงานของกองทุนยุติธรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สำนักงานกองทุนยุติธรรม โทร. 0-2502-6760, 0-2502-6742
ส่วนภูมิภาค : ติดต่อสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัด
หรือศูนย์ยุติธรรมชุมชนใกล้บ้าน