แพทย์รามาฯ แนะแก้วิกฤตคนไทยอ้วนด้วยการผ่าตัด
ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรืออยู่ในสภาวะเป็นโรคอ้วน เผยการรักษาผู้เป็นโรคอ้วนที่เข้ารับการผ่าตัดในปัจจุบันประสบความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 59.3 โดยคนไทยมีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มสูงมากขึ้นเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน และมีภาวะเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เพิ่มสูงขึ้น
ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตทางศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดีกล่าวว่า เรื่องของปัญหาภาวะน้ำหนักเกินของคนไทย จนทำให้เป็นโรคอ้วน เป็นสาเหตุให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคตับ โรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี โรคซึมเศร้า ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับและโรคข้อเข่าเสื่อม เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคนอ้วนหรือผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินมีโอกาสเป็นโรคเหล่านี้มากกว่าปกติ 2-3 เท่า นอกจากนี้ภาวะโรคอ้วนในประเทศไทย มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต จากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายพบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือมากกว่า 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และหากเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคอาเซียนพบว่าคนไทยอ้วนสูงสุดเป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 10 ประเทศอาเซียน รองจากประเทศมาเลเซียเท่านั้น โดยมีคนไทยอ้วนถึงร้อยละ 8.5 (ประมาณ 5.6 ล้านคน) และพบว่าคนไทยร้อยละ 0.9 เข้าเกณฑ์เป็นโรคอ้วนที่พึงได้รับการผ่าตัด (ประมาณ 6.7 แสนคน)
หลักการในการรักษาโรคอ้วนในปัจจุบัน คือการลดน้ำหนัก ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการหลัก 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1. การควบคุมการกินอาหารและเครื่องดื่ม 2. การออกกำลังกาย 3. การติดตามผลการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการศึกษาในประเทศอิสราเอลพบว่าสำหรับผู้เป็นโรคอ้วน (ดัชนีมวลกาย: body mass index; BMI ตั้งแต่ 40 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) แล้วโอกาสที่จะลดน้ำหนักสำเร็จได้ด้วยกระบวนการเหล่านี้ คือประมาณร้อยละ 7.5 และโอกาสไม่ประสบความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 92.5 เทียบกับผู้เป็นโรคอ้วนที่เข้ารับการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จสูงถึงร้อยละ 59.3 คือโอกาสสำเร็จมากกว่ากันถึง 7.9 เท่า
จากความสำเร็จในเรื่องน้ำหนักที่ลดลง ด้วยวิธีการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน ยังทำให้มีเรื่องของความสำเร็จในการควบคุมและรักษาโรคร่วมที่เกิดจากโรคอ้วน โดยเฉพาะ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหยุดหายใจขณะหลับ และภาวะระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งผู้เข้ารับการผ่าตัดจะสามารถควบคุมโรคร่วมดังกล่าวได้มากกว่าผู้ที่ไม่ผ่าตัดถึงเกือบ 5 เท่า ที่สำคัญที่สุดคือชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ทั้งนี้จากการศึกษาในประเทศสวีเดนพบว่าผู้เข้ารับการผ่าตัดมีอายุเฉลี่ยที่ยืนยาวกว่าผู้ไม่ผ่าตัดถึง 8 ปี ดังนั้นการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนจึงเป็นวิธีรักษาโรคอ้วนอย่างได้ผลมานานกว่า 60 ปีแล้ว
ในปัจจุบันนวัตกรรมด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic surgery) จะทำให้ผู้เข้ารับการผ่าตัดฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บน้อยกว่า แผลผ่าตัดเล็กกว่า แต่ต้องทำภายใต้กระบวนการดูแลที่เป็นระบบโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีทีมแพทย์ นักกำหนดอาหารและโภชนาการ พยาบาลและสาขาวิชาชีพที่พร้อม การรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนด้วยวิธีการผ่าตัดนั้นคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ดำเนินการรักษาด้วยการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนมานานกว่า 10 ปี มีผู้เข้ารับการผ่าตัดไปแล้วกว่า 200 กว่าราย โดยทีมแพทย์และระบบการดูแลที่เน้นความปลอดภัยของผู้เข้ารับการผ่าตัดเป็นหลัก และยังเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้แก่สังคม ประชาชนที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือผู้ที่ประสบปัญหาโรคอ้วน สามารถศึกษาหาข้อมูลจากช่องทางเฟสบุ๊ค “คลินิกรักษาโรคอ้วนครบวงจร”
รพ.รามาฯ จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการแนะแก้วิกฤตคนไทยอ้วน
ด้วยการผ่าตัด ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผศ.นพ.ปรีดา สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตทางศัลยกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี (ที่ 2 จากซ้าย) ได้จัดกิจกรรมงานประชุมวิชาการลดอ้วนลดโรค แก้วิกฤตคนไทยอ้วน ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs เพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องโรคอ้วน ให้แก่ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคอ้วนและประชาชนที่สนใจทั่วไป ภายในงานได้รับเกียรติจาก จาก คุณนรา เปาอินทร์ รองคณบดีฯ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (ที่ 3 จากซ้าย) มีการบรรยาย เรื่อง“การผ่าตัดรักษาโรคอ้วน” และการบรรยายเรื่อง “การเตรียมตัวและดูแลหลังการผ่าตัด” โดย อ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย อาจารย์สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ (ที่ 1 จากซ้าย) และการบรรยายเรื่อง “อาหารและการรับประทานอาหารของผู้เข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน” โดย อ.ดร.วนะพร ทองโฉม นักวิชาการโภชนาการ (ที่ 4 จากซ้าย ) ณ ห้องประชุม 910 B ชั้น 9 อาคารเรียนรวมและปฏิบัติการทางการแพทย์ (อาคารโรงเรียนพยาบาล) โรงพยาบาลรามาธิบดี