สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ASEAN SMEs: a Health Tourism Roadmap from Regional to Global Market” (Micro, Small, Medium Enterprises) ณ โรงแรมพูลแมน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยภายในงานฯได้มุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งถือว่ามีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ในไทยและในภูมิภาค ที่จะได้พัฒนาจุดแข็งของตนเพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นหนึ่งใน Megatrend ของโลกที่น่าจับตามอง โดยภูมิภาคอาเซียน ถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทั้งในระดับภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากประเทศไทยมีจุดแข็งสำคัญ คือ มีบุคลากรที่มีคุณภาพและสถานพยาบาลได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับสากล มีอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับ และยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก โดยข้อมูลจาก Global Wellness Institute ในปี พ.ศ. 2560 พบว่าตลาด Wellness Tourism ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 124 ล้านล้านบาท และมูลค่าตลาดในประเทศไทยถือว่าใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของโลก สามารถสร้างรายได้ถึง 100,000 ล้านบาท มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการมากกกว่า 9.7 ล้านครั้งต่อปี จากข้อมูลตัวเลขดังกล่าว สสว. จึงมองเห็นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ สสว.จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนพัฒนาอาเซียนของรัฐบาลญี่ปุ่น (Japan-ASEAN Integration Fund) และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินโครงการ
นาย ปิยะบุตร ชลวิจารณ์
ด้านนาย ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันฯ กล่าวว่า มูลนิธิคีนันฯได้รับมอบหมายให้ออกแบบและบริหารจัดการโครงการฯ โดยโครงการฯได้ทำการศึกษาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน 4 ประเทศ คือ ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนามและกัมพูชา ตลอดจนจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย (Policy Recommendations) ด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน นอกจากนี้ยังมีการจัดทำ E-learning platform สำหรับให้ความรู้สำหรับ กลุ่ม SMEs ในเรื่องคลัสเตอร์ และ มาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
มูลนิธิคีนันฯ เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า องค์ความรู้ที่เกิดจากรายงานวิจัย กิจกรรมการประชุมสัมมนาในวันนี้ และ E-learning platform จะเป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการ SMEs ในไทยและในภูมิภาค ในการเตรียมความพร้อม พัฒนาจุดแข็ง เพื่อให้สอดรับกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป