มูลนิธิสำรวจโลก และกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาคัดเลือกผลงานผลิตสารคดีตามโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่น และภูมิภาค เพื่อผลิตรายการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ครั้งที่ 2 ซึ่งมีผลงานทั้งหมด 60 เรื่อง ซึ่งมีงานสารคดีที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานดีเด่น 6 เรื่อง โดยผลงานเหล่านี้มาจากผู้เข้าร่วมการอบรมจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ได้งานสารคดีที่สะท้อนเรื่องราวของท้องถิ่นและภูมิภาคตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสื่อโทรทัศน์ ให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตรายการสารคดีเพื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประกอบวิชาชีพสื่อโทรทัศน์ นักศึกษา และประชาชน ที่มีความรู้พื้นฐานด้านผลิตสื่อโทรทัศน์ สมัครเข้าร่วมการอบรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมีผู้สนใจสมัครจำนวนทั้งสิ้น 540 คน ได้รับการคัดเลือกให้เข้าอบรมจำนวน 300 คน โดยแบ่งออกเป็นภูมิภาคละ 10 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 60 กลุ่ม
จากการอบรมความรู้สู่การผลิตเป็นผลงานสารคดีระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2562 ปรากฏผลงานที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจและได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นผลงานดีเด่น จำนวน 6 เรื่องซึ่งจะมีการประกาศผลในวันที่ 11 มิถุนายน 2562 และมอบเงินรางวัลจำนวน 20,000 บาทต่อทีม พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้กับผู้เข้าร่วมอบรม ณ ห้องกรุงเทพ 2 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ลาดพร้าว
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการฯ กล่าวว่า ตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ คือ การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากร ผลิตสื่อโทรทัศน์ในเชิงสร้างสรรค์ผลักดันองค์ความรู้ต่างๆ อันเป็นประโยชน์สู่ภาคประชาชนและเยาวชน โดยโครงการดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์เนื้อหารายการที่มีสาระเพื่อการเรียนรู้ของคนไทยในอนาคตต่อไป
นายอมรภัทร ชมรัตน์ ประธานมูลนิธิสำรวจโลก
นายอมรภัทร ชมรัตน์ ประธานมูลนิธิสำรวจโลก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการจัดทำโครงการครั้งที่ 2 มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรสื่อโทรทัศน์ระดับท้องถิ่นและภูมิภาคให้มีความรู้ความสามารถในการผลิตสารคดีเพื่อการเรียนรู้โดยผู้ที่ผ่านการอบรมได้มีการผลิตผลงานสารคดีจากเรื่องราวที่น่าสนใจในท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ที่สำคัญของโครงการฯ ในการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรื่องราวความรู้จากท้องถิ่นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้ชม นอกจากจะเป็นการสร้างมาตรฐานในการผลิตสารคดีเผยแพร่องค์ความรู้ต่างๆ จากผู้มีความรู้ความสามารถในท้องถิ่นต่างๆ ให้กับคนภายนอกได้รับรู้แล้ว ยังช่วยสร้างสมดุลระหว่างรายการจากผู้ผลิตในกรุงเทพมหานครกับผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
“ปัจจุบันเนื้อหารายการส่วนใหญ่ผลิตโดยผู้ผลิตจากกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเรื่องราวของท้องถิ่นต่างๆ ทำให้มีเนื้อหาที่มาจากมุมมองของผู้ที่ไม่ได้อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ การมีผู้ผลิตที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นจะช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่างและเป็นภาพสะท้อนที่แท้จริงออกสู่สังคมภายนอก ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของผู้ชม ทำให้รู้จักและเข้าใจท้องถิ่นของไทยได้อย่างถูกต้องมากขึ้น และช่วยยกระดับคุณภาพผลงานจากผู้ผลิตระดับท้องถิ่นให้ได้มาตรฐานเทียบเท่าผู้ผลิตจากกรุงเทพฯ”
นายจิรัฐิติ โรจนานนท์ ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสำรวจโลก
ทางมูลนิธิสำรวจโลกมีความคาดหวังว่าบุคลากรที่ผ่านการอบรมครั้งนี้จะมีส่วนในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานสารคดีของไทยให้ปรากฏสู่สายตาผู้ชมโทรทัศน์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนสารคดีที่ผลิตจากต่างประเทศ อันเป็นการส่งเสริมให้คนไทยได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไทยในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น
ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตสารคดีเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งจะช่วยขยายตลาดของอุตสาหกรรมการผลิตสารคดีของไทยให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ดีขึ้น และนำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเช่นเดียวกับภาพยนตร์บันเทิงต่างๆ
ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดมีความต้องการงานสารคดีโทรทัศน์มากขึ้น แต่ยังมีบุคลากรที่มีทักษะและความชำนาญด้านงานสารคดีจำนวนจำกัด ทางมูลนิธิจึงมีแนวคิดที่จะจัดโครงการอบรมและพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่นฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตรายการสารคดีได้อย่างเพียงพอกับความต้องการของตลาดในอนาคต
ประธานมูลนิธิสำรวจโลก กล่าวสรุปว่า การจัดโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการสารคดีระดับท้องถิ่นฯ ครั้งที่ 2 นี้ ถือว่ามีผลสำเร็จเป็นที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากมีผู้ให้ความสนใจสมัครเป็นจำนวนมากขึ้นจากครั้งแรก และผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมมีความตั้งใจจริงที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ ทำให้ผลงานสารคดีที่ผลิตออกมามีคุณภาพและมาตรฐานที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นที่นำเสนอ การเล่าเรื่อง ไปจนถึงเทคนิกการถ่ายทำและตัดต่อ ทางมูลนิธิจึงคาดหวังว่าผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งต่อๆ ไปจะได้รับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตรายการสารคดีมากขึ้นอีก
ผลงานสารคดีดีเด่นทั้ง 6 เรื่อง
ผลจากการพิจารณาของคณะกรรมการ ได้ประกาศผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสารคดีดีเด่นจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่
- ทีม มันส์เผาโปรดักชั่น สารคดีเรื่อง “1 วันศรัทธา”
เล่าเรื่องถึงศรัทธาอันแรงกล้าและมหาศาลของผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาร่วมประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ในหนึ่งวันนั้นมีเรื่องราวในมิติใดเกิดขึ้นบ้างทั้งในแง่ของความเชื่อ กิจกรรม และเศรษฐกิจ ทำให้ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นหัวใจสำคัญในการส่งเสริมให้องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดโลกในเวลาอันใกล้นี้
2.ทีม Major Media สารคดีเรื่อง “กะเหรี่ยงรวมมิตร”
สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวการดำเนินชีวิตภายในหมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตร หมู่บ้านชาวเขาที่อาศัยอยู่รวมกันหลายชาติพันธุ์ มีประชากรเพียง 2,000กว่าคน อาศัยอยู่ริมแม่น้ำกก รายล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงาม อยู่ห่างตัวเมืองเชียงรายไม่มากนัก เดิมชื่อ “บ้านอ้ายอู” หรือ “บ้านแม่กกเหนือ” เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งเรียกตนเองว่า “ปกาเกอะญอ” ที่แปลว่าผู้รักความสงบ
3.ทีม นอกกะลา สารคดีเรื่อง “ห้องเรียนธรรมชาติ”
สารคดีนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เรียกว่าจิตศึกษา หนึ่งในนวัตกรรมที่ทางโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้พัฒนาขึ้นและใช้มานานกว่าสิบปี ซึ่งในแต่ระดับชั้นจะมีความแตกต่างกันไป หัวใจหลักของกิจกรรมมี 3 องค์ประกอบคือ 1) การสร้างสภาพบรรยากาศความเป็นชุมชน สถานที่ ผู้คน ที่เอื้อต่อการงอกงามภายใน 2) การใช้จิตวิทยาเชิงบวกต่อกัน การให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันทุกคน และ 3) กิจกรรมที่เน้นให้เห็นคุณค่าของตัวเอง เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองและสิ่งต่างๆ
4.ทีม ปางสีดา สารคดีเรื่อง “ควายสอนคน คนสอนควาย”
สารคดีเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวเพื่อสะท้อนมุมมองของสังคมที่เปลี่ยนไป ให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันกลับมาสู่วิถีชาวนาไทยแบบดั้งเดิม ด้วยการใช้แรงงานคนและควายทำนา รวมถึงความผูกพันของคนกับควายในแง่มุมต่างๆ สู่การฟื้นฟู “ประเพณีสู่ขวัญควาย”และถ่ายทอดองค์ความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เกี่ยวกับควายและเครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร
5.ทีม Boy Photo สารคดีเรื่อง “ลูกข้าวเหนียว วัฒนธรรมแห่งอีสาน”
ลูกข้าวเหนียวเป็นสารคดีที่บอกเล่าการเดินทางของ โตส เด็กหนุ่มจากกรุงเทพฯ ที่มีความสงสัยในเรื่องของข้าวเหนียว การจากนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารอีสาน ที่แทบทุกโต๊ะจะมีข้าวเหนียวเป็นหลัก ซึ่งต่างจากชีวิตของโตสที่รับประทานข้าวเจ้าเป็นหลักเขาจึงเริ่มออกไปตามหาข้อมูลเรื่องข้าวเหนียวตั้งแต่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ไปจนถึงวัฒนธรรมประเพณีของชาวภูไท
6.ทีม มองมาดู (อุดรอะไรดี) สารคดีเรื่อง “KHID เส้นด้ายแห่งชีวิต”
สารดีที่จะนำคนดูไปสัมผัสกับเสน่ห์ของภูมิปัญญาการทอผ้า มรดกแห่งวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านแพรพรรณไหมขิด เส้นด้ายแห่งชีวิตที่ถักทอเข้าด้วยกัน ความผูกพันระหว่างเส้นไหมกับผู้ทอ ที่ไม่เพียงจะนำคนดูเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตของการทอผ้าแบบโบราณ แต่ยังสร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่กำลังจะเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลาด้วยยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนไป
ผลงานดีเด่นที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 6เรื่องนี้ จะนำไปออกอากาศทางช่องของดีประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมและองค์ความรู้ของท้องถิ่นให้กับผู้คนทั่วไป ช่วยให้เกิดการส่งผ่านทางวัฒนธรรมข้ามภูมิภาค รวมถึงเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับการผลิตสารคดีไทยจากฝีมือของผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นอีกด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ www.realmetro.com/foundation