คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไอโอซีเมมเบอร์ เผยว่า โธมัส บาค ประธานไอโอซี กล่าวในที่ประชุมผู้นำชาติกลุ่ม จี 20 ถึงความสามัคคีของคนทั่วโลกโดยชี้ว่า “กีฬาโอลิมปิก อาจช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้กับโลกที่เปราะบางได้” พร้อมระบุ ปีหน้า ประชากรกว่าครึ่งโลกจะติดตามการแข่งขันโอลิมปิก โตเกียว 2020 จะได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักกีฬาจาก 206 ชาติทั่วโลก รวมถึงทีมผู้ลี้ภัย ซึ่งพลังของกีฬาโอลิมปิกคือความเป็นสากล ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนเคารพกติกาเดียวกัน และเสมอภาคกัน สิ่งนี้คือการสื่อสารที่สำคัญที่นักกีฬาโอลิมปิก จะแสดงออกให้โลกได้รับรู้
คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวว่า ประธานไอโอซี ได้รับเชิญจาก อาเบะ ชินโสะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้เป็นส่วนหนึ่งการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้ง 20 ชาติ หรือ จี 20 ที่ นครโอซากา ญี่ปุ่น เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กล่าวต่อที่ประชุมดังกล่าว ถึงความสามัคคีของคนทั่วโลกโดยชี้ว่า “กีฬาโอลิมปิก อาจช่วยสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันให้กับโลกที่เปราะบางได้”
ประธานไอโอซี เชื่อว่า ประชากรกว่าครึ่งโลกจะติดตามการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่ ญี่ปุ่น จะได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของนักกีฬาจาก 206 ชาติทั่วโลก รวมถึงทีมผู้ลี้ภัย ซึ่งพลังของกีฬาโอลิมปิกคือความเป็นสากล ไม่มีการแบ่งแยก ทุกคนเคารพกติกาเดียวกัน และเสมอภาคกัน สิ่งนี้คือการสื่อสารที่สำคัญที่นักกีฬาโอลิมปิก จะแสดงออกให้โลกได้รับรู้
ไอโอซีเมมเบอร์หญิงของไทย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นโลก (วาดา) ได้ร่วมหารือกับ สถาบันต่อต้านสารต้องห้ามระดับชาติ ที่ กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก เมื่อวันก่อน เพื่อหาทางยกระดับความร่วมมือในการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามในวงการกีฬา ด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายพุ่งเป้าลงไป ได้แก่
1. การให้คำมั่นในการพัฒนาความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างใสสะอาด
2. ทำงานร่วมกันในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นทั่วโลก เน้นที่ประเทศเล็ก ๆ ที่ขาดแคลนทรัพยากรผ่าน องค์การต่อต้านสารกระตุ้นระดับชาติ และองค์การต่อต้านสารกระตุ้นระดับทวีป และ
3.ให้ความมั่นใจว่า องค์การต่อต้านสารกระตุ้นระดับชาติ จะมีตัวแทนที่มีบทบาทอันเข้มแข็งใน คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานของวาดา ตามร่างแผนการปฏิรูปองค์กรของวาดา ซึ่งผ่านความเห็นชอบไปเมื่อเดือน พ.ย. 2018