สมาคมนิติศาสตร์รามคำแหง จัดเสวนาวิชาการ ผลักดันลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

สมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดเสวนาวิชาการทางกฎหมาย ภายใต้หัวข้อ “กฎหมาย ยาแรงลดอุบติเหตุ ทำไมลดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้ กับความท้าทายการบังคับใช้กฎหมาย”  ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา (ตึกรัฐศาสตร์ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง

โดยนายคณิต วัลยะเพ็ชร์ รองนายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธาน

  ดร.มนตรี นัฏธยานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รักษาราชการแทนคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

 ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย

นายรณยุทธ  ตั้งรวมทรัพย์  อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

พล.ต.ต. เอกรักษ์  ลิ้มสังกาศ  รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายประมาณ  เลืองวัฒนะวณิช ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายกรรมการบริหารสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ดำเนินรายการ

นายแพทย์แท้จริง  ศิริพานิช  เลขามูลนิธิเมาไม่ขับ

นายประพันธ์  คูณมี  อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แอลกอฮอลล์

นายปัญญา  สิทธิสาครศิลป์  ผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แมคเค็นซี่ จำกัด

สำหรับการเสวนาในครั้งนี้มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลผู้ใช้รถใช้ถนน ในด้านของความปลอดภัย ที่มีพระราชบัญญัติหลัก ๆ 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกออล์ พ.ศ.2551 นั้น แม้จะมีข้อบังคับที่เมื่อทำผิดแล้วก็มีบทลงโทษรุนแรงไม่น้อยไปกว่าในหลายประเทศ แต่ก็มีการปฎิบัติและพฤติกรรมหลายประการ ที่ทำให้เจตนารมย์ของการร่างและบังคับใช้กฎหมายยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ทำให้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย ยังไม่ลดลงอย่างที่ตั้งใจ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนของคนไทยเฉลี่ยที่วันละ 60 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยที่ร้ายแรง

พล.ต.ต.เอกรักษ์ลิ้มสังกาศ กล่าวว่า สถิติการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน เป็นสิ่งที่น่ากลัวโดยในส่วนของผู้เสนอและบังคับใช้กฎหมายได้หาวิธีที่จะมาปกป้องแต่ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพราะแม้กระทั่งนโยบายของรัฐบาลเองก็ยังไม่ถูกบรรจุเป็นเรื่องหลักที่ต้องทำ

“ทุกวันนี้มีใครบ้างในแต่ละวันไม่ต้องเดินทางไม่ต้องใช้รถ มีใครมั่นใจได้บ้างว่าต่อให้ขับรถดีแล้วจะไม่เกิดอุบัติเหตุที่ถูกใครก็ไม่รู้มาชน แล้วอย่างดีมายกมือไหว้ ขอโทษว่าเมื่อคืนดื่มหนักรถผมมีประกัน ซึ่งคนตายไปแล้วไม่ฟื้นนะ มันเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนอยากให้สังคมตระหนักถึงปัญหานี้” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ในส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการเสนอและใช้กฎหมายพล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าวว่า ได้มีการศึกษาและปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่องซึ่งเรื่องหนึ่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการและคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานคือการพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.จราจรทางบก อาทิการกำหนดให้มีระบบบันทึกคะแนนความประพฤติของผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ที่หากทำผิดจนถูกตัดคะแนนไปจนหมด จะถูกพักใช้ใบขับขี่ครั้งละ 90 วันและถ้าทำผิดซ้ำภายใน 1 ปี จะถูกเสนอให้สั่งเพิกถอนใบขับขี่

นายแพทย์แท้จริงศิริพาณิช กล่าวว่า เป็นผู้รณรงค์เรื่องเมาไม่ขับมากว่า 20 ปีเคยคิดเลิกสิ่งที่ทำมาครั้งหนึ่งเมื่อสิบปีมาแล้ว ด้วยเหตุที่ถูกคนเมาสุราขับรถชนแต่เมื่อมาคิดให้ดีว่า ขนาดมีการรณรงค์แล้วอุบัติเหตุยังเกิดขึ้นได้กับตัวเองแล้วถ้าไม่ทำเลยเหตุการณ์จะเลวร้ายไปอีกแค่ไหนซึ่งสิ่งที่ผ่านมาในการร่วมดำเนินการ ไม่ว่าการจัดกิจกรรมหรือการร่วมผลักดันการออกพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่งแต่ยังขาดหัวใจหลัก

“การที่ยังมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตัวเลข 60 คนต่อวันนั้น ผมว่านอกจากทุกท่านต้องไว้อาลัยแล้วยังต้องภาวนาด้วยว่าไม่ให้เกิดกับตัวเองหรือครอบครัว กฎหมายนั้นใช้ได้กับทุกประเทศ แต่ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่กับประเทศไทยเพราะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์กว่า คือเงิน คดีดัง ๆ เรื่องอุบัติเหตุจราจรมีใครติดคุกบ้างหรือยัง แล้วใครจะกลัวกันนี่คือความเสียหายที่ประเทศเรายังก้าวไม่ข้าม เรากำลังพูดถึงเรื่องความเป็นความตายดังนั้นใครจะรับผิดชอบ ผมว่าก็ต้องให้นายกรัฐมนตรีของประเทศ ไม่ใช่ผมโยนว่าอะไร ๆก็ต้องนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าผู้นำไม่ทำแล้วใครจะทำถ้าไม่เอามาเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลต้องทำ เขียนเป็นนโยบายมาให้ชัดเจนจะเอาอย่างไรเป้าหมายต้องมี” นายแพทย์แท้จริง กล่าว

นายรณยุธตั้งรวมทรัพย์ กล่าวว่า การลดอุบัติเหตุนั้นนอกจากกฎหมายซึ่งก็น่าเห็นใจกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทุกคนแล้วผู้ใช้รถใช้ถนนก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในการปรับพฤติกรรมของตัวเองถึงวันนี้หลายฝ่ายจะเห็นว่าเป็นพฤติกรรมที่แก้ไขปรับกันได้ยากแต่ก็ต้องทำถึงแม้จะไปเห็นผลกับคนไทยในรุ่นหลัง ๆ

“อยู่ที่คนอยู่ที่วินัย ความหวังอยู่ที่เยาวชนรุ่นลูกรุ่นหลานที่จะต้องดีขึ้นซึ่งสร้างกันได้ตั้งแต่ในโรงเรียน ต้องมีการสอน มีการอบรม” นายรณยุธกล่าว

นายปัญญาสิทธิสาครศิลป์ กล่าวว่า ปัญหาของการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์อยู่ที่การตีความ ซึ่งไปมุ่งกันที่คนขาย แต่ไม่ใช่มุ่งแก้ที่คนเมาเมาแล้วจะเป็นอย่างไร ทำอย่างไร ยิ่งไปทำผิดแล้วการลงโทษต้องแค่ไหน

“อย่างกฎหมายบอกว่าห้ามขาย ห้ามซื้อ แต่ไม่ได้ห้ามคนเมาเข้าไป ก็ไม่ทำให้ตรงกับการไม่เกิดอุบัติเหตุข่าวที่เราเห็นการทำตามกฎหมายคืออะไร ไปตามจับตามร้านต่าง ๆ ออกกฎหมายมาฉบับหนึ่งเสียเวลากับการตีความไปไม่รู้เท่าไหร่ อย่างมาตรา  32 ในกฎหมายถูกตีความกันเยอะ เรื่องห้ามโฆษณาจนมามีคำวินิจฉัยก็ 8 ปีล่วงไปแล้ว ว่าโฆษณาได้แต่ต้องไม่เป็นไปในเชิงยั่วยุและเชิญชวน แต่ทุกวันนี้ราชการก็ยังไม่ยอมมีคดีความคาราคาซังกันในศาลเต็มไปหมด ซึ่งตัวบทกฎหมายอะไรนั้นถ้ามันไม่ได้ดีอยู่แล้วการบังคับใช้ก็เข้ารกเข้าพงไปอีกอย่างเจตนาเรื่องให้ลดอุบัติเหตุลดการดื่ม มันจึงไม่เกิด” นายปัญญากล่าว

นายปัญญากล่าวด้วยว่า เมื่อ พระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผลในเรื่องของการป้องกัน ปราบปราม รณรงค์ ให้ลดจำนวนอุบัติเหตุและลดจำนวนผู้ดื่ม ก็ต้องทบทวนแก้ไขซึ่งผู้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายไม่ได้มีจำนวนมากเลย แต่ราชการสุดโต่งเกินไปซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการไม่ได้มีใครคิดร้ายต่อประเทศ พร้อมปฏิบัติตามและยังเห็นว่า การไปมุ่งนำเทคโนโลยีมาแก้ไข เช่น การติดกล้องคุณภาพสูงการตรวจสอบใบขับขี่ ยังจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ามาก รวมถึงเร่งการปลุกจิตสำนึกประชาชน

พล.ต.ต.นิพนธ์ ภู่พันธ์ศรี นายกสมาคมนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า การจัดเสวนาหัวข้อนี้ขึ้นมา เพราะมองเห็นปัญหาของประเทศที่มีมากขึ้น และวิทยากรที่มาร่วมเสวนาทุกคนล้วนมีประสบการณ์จริง ประสบทั้งความสำเร็จและปัญหา จึงจะได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องต่อไป

Related posts