เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 62 เวลา 18.00 น. ที่โรงแรมริชมอนด์ จ.นนทบุรี ดร.ประหยัด พวงจำปา รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินมูลค่ากว่า 227 ล้านบาทว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2560 ต่อมาได้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่อง บัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาลอนดอน ที่ภรรยาทำธุรกิจกับชาวต่างประเทศและขอกู้เงินเพื่อซื้อห้องชุดที่แจ้งว่าได้โอนกรรมสิทธิ์และปิดบัญชีไปเรียบร้อยแล้วแต่ยังไม่สามารถปิดได้ จึงได้ยื่นแสดงรายการบัญชีธนาคาร 3 บัญชีเพิ่มเติม ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 เรียบร้อยแล้ว จึงไม่เจตนาปกปิดแต่อย่างใด และชี้แจงว่าเป็นการที่ภรรยาถือครองกรรมสิทธิ์แทนบุคคลอื่นที่ทำธุรกิจร่วมกัน และได้ยื่นเพิ่มเติมปรากฏต่อคณะกรรมการเรียบร้อยแล้ว และชี้แจงไปแล้วอย่างบริสุทธิ์ใจ
ดร.ประหยัด กล่าวว่า “การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการกลั่นแกล้ง และดำเนินการไม่ชอบหลายประการ ไม่ให้ความเป็นธรรม และไม่เคยให้โอกาสเข้าชี้แจงด้วยวาจาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งที่ร้องขอความเป็นธรรมหลายครั้ง เป็นการพิจารณาไต่สวนเพียงฝ่ายเดียว โดยการไต่สวนไม่ชอบตามกฎหมาย และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 ที่ต้องพิสูจน์เจตนาและการดำเนินการกับข้าราชการ ป.ป.ช. มีการปกปิดพยานเอกสารและข้อมูลที่นำมาเป็นเหตุการณ์แจ้งข้อกล่าวหา ทำให้ตน ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไม่ถูกต้อง”
ดร.ประหยัดกล่าวต่อว่า “ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. อาวุโสอันดับ 1 รับราชการมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ได้รับรู้การทำงานภายในสำนักงาน ป.ป.ช. มาอย่างต่อเนื่องและยืนหยัดกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงต้องพิสูจน์ความถูกต้องและขอความเป็นธรรมต่อศาลยุติธรรม โดยได้ฟ้องนายวรวิทย์ สุขบุญ ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อหาหรือฐานความผิด เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นคดีหมายเลขดำที่ อท.40/2562 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ต่อไป
ทั้งนี้ ในส่วนของคดีตนที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกรณีนี้ ตามกฎหมายบอกว่าต้องส่งให้อัยการพิจารณา ยังมีโอกาสขอความเป็นธรรมต่อทนายแผ่นดิน พิสูจน์เจตนาว่าขั้นตอนการไต่สวนเป็นไปโดยชอบหรือไม่ ตนไม่ใช่คนทุจริต เรื่องนี้เป็นเรื่องข้อบกพร่อง ความเข้าใจคลาดเคลื่อนของภรรยา ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ การนำสืบต่างๆ เป็นตัวภรรยาที่หลงลืม ไม่ใช่ผมหลงลืม การที่ภรรยาสำคัญผิด ย่อมเกิดขึ้นได้ ยืนยันเป็นการยื่นทรัพย์สินครบถ้วนทุกขั้นตอน”
ดร.ประหยัด กล่าวอีกว่า ขอฝากสื่อมวลชน องค์กรยุติธรรมต่าง ๆ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือการถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช. ฝากเรียนไปยังพรรคการเมือง หรือ ส.ส.พรรคต่าง ๆ ถ้าเห็นว่าประเด็นตนมีข้อไม่เป็นธรรม ควรหยิบยกไปไต่สวนในสภา ขอเชิญมาบอกกับตนได้ จำนวนสมาชิก 125 เสียงเพื่อยื่นเรื่องต่อประธานสภา ไต่สวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งคณะ หรือประชาชน 2 หมื่นรายเข้าชื่อถอดถอนในประเด็นการดำเนินการที่มิชอบได้ ตนยินดีให้ความร่วมมือในกระบวนการว่าถูกต้องหรือไม่
เมื่อถามว่าคดีนี้มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเกี่ยวข้องกับคดีบริษัทเครือ ปตท. ลงทุนปลูกปาล์มที่อินโดนีเซีย ดร.ประหยัด กล่าวว่า คดีนี้เกิดขึ้นนานมาก ตนไม่เคยยุ่งเลย เคยไปอินโดนีเซียแค่ครั้งเดียวกับนายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. โดยไปศึกษาดูงาน ไม่เคยรู้จักเจ้าหน้าที่ ปตท. และภรรยาตนไม่เคยไปอินโดนีเซีย ไม่เคยรู้จักเหมือนกัน แต่เห็นว่าเป็นกรรมการผู้จัดการในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน มีการเชื่อมโยง คิดเอาเองทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่มีการพิสูจน์ ต้องพิสูจน์ให้ชัดก่อน
เมื่อถามว่ามูลเหตุที่ทำให้เชื่อว่าเป็นการกลั่นแกล้งกันคืออะไร ดร.ประหยัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนเคยเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมกับนายวรวิทย์ แต่เมื่อนายวรวิทย์ เป็นเลขาฯ ตนได้เป็นรองเลขาฯ และถูกลดบทบาทในการทำงาน บางครั้งต้องรักษาการรองเลขาฯ และสุ่มเสี่ยงถูกประเมินผลงานให้ถูกออกจากราชการ