เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรแก้ว (เภาวิเศษ) ใจงาม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ และแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านการศึกษากับ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร. คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ
ในฐานะนักการศึกษา โอกาสของการได้เข้าพบในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่วิเศษที่สุด เนื่องจากได้เห็นวิสัยทัศน์ นโยบาย และความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาชาติของผู้นำกระทรวงเสมาทั้งสองท่าน เป็นแนวความคิด และมุมมองทางด้านการศึกษาที่สัมพันธ์สอดคล้องตรงกัน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากที่สุดในแง่ของ “การปฏิรูปห้องเรียน”
แนวคิดดังกล่าว เป็นการพัฒนาคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาและครู ให้สามารถส่งผ่านความรู้และทักษะใหม่ในการพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะไปให้ถึงตัวผู้เรียนอย่างเท่าเทียมกันทั้งนักเรียนปกติและนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ มุ่งส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์เชิงตรรกะที่เน้นความเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงความสามารถในการใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และภาษา Coding โดยผู้บริหารสถานศึกษาในฐานะเป็นผู้สนับสนุน กำกับดูแล ก็จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในด้านวิชาการที่จำเป็นต่อการพัฒนาไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นี้เช่นเดียวกับครู เพราะการศึกษา คือ เครื่องมือพื้นฐานของสังคมเครื่องมือเดียว ที่จะสามารถสร้างคุณภาพของคนในชาติให้ตอบโจทย์ประเทศไทยยุค 4.0 ได้ …เพราะ “คน คือ ศูนย์กลางของการพัฒนา” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ฯ
ทั้งนี้ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ย้ำว่า เจตนารมณ์และเป้าหมายของการเข้ามาทำงานในกระทรวงนี้ ก็เพื่อ “…ปกป้อง ดูแลความคุ้มค่าของการใช้จ่ายเม็ดเงินภาษีอากรของประชาชนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งของประชากรที่ยังอยู่ในวัยเรียน และในกลุ่มผู้สูงวัย รวมทั้ง หาแนวทางในการทำให้เกิดการศึกษาที่มีคุณภาพ ที่จะช่วยให้ประชากรผู้สูงวัย ได้รับการพัฒนาจนความสามารถดูแลตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นภาระในการแบกรับของเด็กหรือเยาวชนรุ่นหลังมากนัก…โดยทั้งหมดนี้ เน้นความประหยัด คุ้มค่า โปร่งใสและตรวจสอบได้…”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้สร้างความมั่นใจในการเป็นผู้นำที่เอาจริง ไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลใด ๆ ด้วยน้ำเสียงที่เข้มและสายตาที่เป็นประกายแสดงความถึงมุ่งมั่นว่า “…ผมไม่กลัว เสือ สิงห์ กระทิง แรด อะไรทั้งนั้น…เพราะผมเป็นสิงโต ที่ไม่เคยคิดที่จะมาแสวงหาประโยชน์อะไรจากที่นี่ ดังนั้น การทำงานของผม ทุกกิจกรรมทุกโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการทำ จะต้องมุ่งมองไปที่ประโยชน์ที่ถึงตัวผู้เรียนเท่านั้น…”
ในขณะที่ ดร.คุณหญิง กัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สุภาพสตรีผู้นำที่ไม่เคยสนใจต่อคำค่อนขอดของสังคมว่า กำลังแนะนำวิธีการเรียนรู้แบบเต่าล้านปี ที่จะให้นักเรียนคิดเลขในใจตอนเช้า ท่องสูตรคูณ และท่องอาขยานก่อนกลับบ้าน สร้างความงุนงงให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในลักษณะที่สวนทางกับแนวคิดการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ในยุคอินเทอร์เน็ต ที่ทุกคนกำลังวุ่นวายกับการเรียนรู้ผ่านแพลทฟอร์มและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จนอาจจะลืมคิดไปว่าจริง ๆ แล้ว มนุษย์เรียนรู้โดยการใช้สมอง
ด้วยความที่เป็นนักฟิสิกส์วิทยาศาสตร์ คุณหญิงจึงเข้าใจการทำงานของสมองว่าโดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์จะเรียนรู้ผ่านการจดจำและลอกเลียนแบบเป็นเบื้องต้นก่อนเสมอ และความรู้ที่เราร่ำเรียนนี้ หากไม่ผ่านการฝึกหัดทบทวนเป็นประจำแล้ว ข้อมูลความรู้เหล่านั้นจะถูกลืมเลือน และสมองจะไม่สร้างเส้นใยประสาทขึ้นมารองรับให้เกิดเป็นความจำระยะยาว
แนวคิดและนโยบายการศึกษาของคุณหญิงที่สวนกระแส จึงเป็นการผสมศาสตร์การเรียนรู้ที่เป็นคลาสสิคเทียรี่ตามทฤษฎีการเรียนรู้และการทำงานของสมองของเบนจามิน บลูม (Bloom’s Taxonomy – Classic Theory) กับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมความเก่งและสร้างคุณภาพของเด็กไทยด้านความสามารถในการใช้ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และภาษา Coding
…ในอนาคตอีก 3 – 5 ปี ข้างหน้า เราจะได้เห็นเด็กไทยที่รู้จักรากเหง้าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ของตัวเอง มีความรัก ความภูมิใจ และหวงแหนในความเป็นคนไทยและชาติไทย รักภาษาไทยที่เป็นภาษาแม่ และพูดภาษาไทยได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ รู้จักหน้าที่ของตนเองในฐานะพลเมืองไทยที่ดีมีคุณธรรมจริยธรรม มีทักษะการคิดเชิงตรรกะ เป็นเหตุเป็นผล สามารถใช้ภาษาอังกฤษ และภาษาต่างประเทศอื่น ๆ ในการสืบค้น ค้นคว้า เรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นนักคิด นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์อย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม บนพื้นฐานแนวคิด และนโยบายการศึกษาที่น่าชื่นชมของท่านรัฐมนตรีทั้งสองท่านนี้ ในฐานะนักการศึกษาที่อยากเห็นความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นโจทย์ใหญ่ของชาติได้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ดิฉันจึงขอนำเรียนข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เริ่มประกาศใช้ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ใน พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยปฏิรูปการศึกษามาครบ 20 ปีพอดี แต่ก็พบว่า คุณภาพของการศึกษาไทยยังคงล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณภาพผู้เรียน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายปลายทางท้ายสุดของการปฏิรูปการศึกษาชาติ
หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาก็คือ คะแนนผลการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-NET) และคุณภาพของผู้เรียนที่ขาดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และเป็นปัญหาเรื้อรังที่กระทรวงศึกษาธิการแก้ไขไม่ได้ เพราะเกาไม่เคยถูกที่คัน และยังเป็นเส้นผมบังภูเขามาจวบจนทุกวันนี้…
20 ปี ที่ผ่านมา ประเทศไทยวุ่นวายและเสียเวลาการปฏิรูปการศึกษาไปกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร อ้างความไม่เป็นเอกภาพทางการศึกษา ด้วยการควบรวมการศึกษาในทุกระดับ ทั้งปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษาเข้ามาไว้ด้วยกัน ผู้นำทางการศึกษาของประเทศเราเก่งแค่เพียงมองหาเก้าอี้ให้พรรคพวกตนเอง ก่อนหน้านั้น เรามีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเกิดขึ้นทั่วแผ่นดิน ต่อมา เราก็เพิ่มหน่วยงานศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมาทำหน้าที่ทับซ้อน และควบคุมอำนาจการบริหารงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้เกิดความยุ่งยาก ซับซ้อน และอุ้ยอ้ายหนักมากยิ่งขึ้นไปอีก และประการที่สำคัญที่สุดก็คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างไม่ได้ทำให้คุณภาพผู้เรียน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียนสูงขึ้น
ปัจจุบันนี้ เราได้แยกการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกไปตั้งเป็นกระทรวงใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่หมุนกลับไปเหมือนกับการจัดระบบโครงสร้างการศึกษาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แถมยังดึงเอาหน่วยงานระดับชาติอีกหลายหน่วยงานไปกระจุกรวมเข้าไว้ด้วยกัน โดยยังคงใช้เหตุผลเดิม คือ เพื่อความเป็นเอกภาพของส่วนงานที่มีลักษณะงานที่คล้ายคลึง และส่งเสริมศักยภาพระหว่างกัน…ซึ่งอาจจะเกิดผลดีอย่างมากมายในอนาคตก็เป็นได้
สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของการปฏิรูปการศึกษา และมองว่า การปฏิรูปการศึกษาสามารถทำให้สำเร็จลุล่วงได้โดยง่ายและเร็ว ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และด้วยการสั่งการให้คนระดับล่างปฏิบัติตามก็สำเร็จแล้ว
…แต่เราก็ได้เรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่าน ๆ มา ไม่ว่าจะแยกหน่วยงาน หรือยุบรวมหน่วยงาน ไม่ว่าจะควบรวมหน่วยงานที่จัดการศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาเข้าด้วยกัน หรือจะแยกออกจากกันเช่นในปัจจุบันนี้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนในภาพรวมระดับประเทศจากผลการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-Net) ใน 5 รายวิชาหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษก็ยังคงตกต่ำเหมือนเดิม และบางปียิ่งต่ำลงมากกว่าเดิมเสียอีก
ข้อมูลวิจัยบ่งชี้ว่า มีนักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาที่อ่านหนังสือไม่ออกและเขียนหนังสือไม่ได้ยังมีเป็นจำนวนมาก และจะเป็นปัญหาต่อไปเมื่อพวกเขาขยับขึ้นเรียนต่อไปในระดับชั้นที่สูงขึ้น เราอยากได้คะแนนการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาที่ดี เราจึงไม่ยอมให้เด็กนักเรียนที่ไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ และคิดเลขไม่เป็นจำนวนมากเหล่านี้ตกซ้ำชั้น เราไม่กล้าที่จะให้สังคมได้รับรู้ความจริงที่แสนจะน่าอับอายเหล่านี้ คุณภาพการศึกษาของชาติจึงยิ่งตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ
…ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้างขององค์กร แต่อยู่ที่การพัฒนาคุณภาพให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษา …ซึ่งก็คือ การสร้างคุณภาพผู้เรียน นั่นเอง
ดังเช่นพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2523 ความว่า “…การศึกษานั้น ไม่ว่าจะศึกษาเพื่อตนหรือจะให้แก่ผู้อื่น สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ตรงตามวัตถุประสงค์ จึงจะได้ผลเป็นคุณเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นจะต้องมีการผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้น ทำให้เสียเวลาและเสียประโยชน์ไปเปล่า ๆ
วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นคืออย่างไร กล่าวโดยความคิดรวบยอด ก็คือ การทำให้บุคคลมีปัจจัยหรือมีอุปกรณ์สำหรับชีวิตอย่างครบถ้วน เพียงพอทั้งในส่วนวิชาความรู้ ส่วนความคิดวินิจฉัย ส่วนจิตใจและคุณธรรมความประพฤติ ส่วนความขยันอดทน และความสามารถในอันที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานของตนเองให้ได้จริง ๆ เพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขความเจริญมั่นคง และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองได้ตามควรแก่ฐานะด้วย…”
ความหมายที่แท้จริงของการปฏิรูปการศึกษา หรือการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Change in education) คือ การนำนโยบายใหม่ทางการศึกษาไปสู่การปฏิบัติ (New policy implementation) ซึ่งนโยบายใหม่ที่ว่านี้ หมายถึง การนำเอาแนวคิดใหม่ หลักสูตรใหม่ และสื่อประกอบการจัดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อให้เกิดผลจริงในระดับชั้นเรียน ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ครูผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดความเชื่อ (Teacher’s beliefs) และวิธีการจัดการเรียนรู้ (Teaching strategies) ของตนเองให้เป็นไปตามแนวคิดการจัดการเรียนรู้ใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เชื่อว่าผู้เรียนสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพ และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรใหม่ ด้วยการถ่ายทอด จัดประสบการณ์การเรียนรู้ และอำนวยความสะดวก เพื่อให้สิ่งที่เป็นวัตถุประสงค์ของหลักสูตร อันได้แก่ มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ไปช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ และสร้างสัมฤทธิผลให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนให้จงได้… “ครู” คือ ศูนย์กลางของการพัฒนาคนของชาติ… “ถ้าครูเก่ง…นักเรียนเก่ง…” “ครู” จึงคือ แกนนำสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูป
ดังนั้น ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ไม่ได้อยู่ที่ตัวหลักสูตร และไม่ได้อยู่ที่การสั่งการของผู้กำหนดนโยบาย หรือผู้บริหารสถานศึกษา แต่อยู่ที่การนำหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียนของครู ซึ่งมักจะถูกดำเนินการตามความคิด ความเชื่อ ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการสอนของครู…โดยไม่มีใครสามารถสั่งการหรือบีบบังคับได้ การปฏิรูปการศึกษาในขั้นตอนที่เป็นการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจึงเป็นขั้นตอนที่ก้าวสู่ความสำเร็จได้ยากที่สุด และการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยก็ยังคงติดหล่มอยู่ ณ จุดนี้
…คนไทยส่วนใหญ่พยายามหาแพะมารับบาปความล้มเหลวที่ว่า ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน ต่างก็บ่นตีโพยตีพายต่อเนื่องกันมาตลอดระยะเวลา 20 ปี ว่า หลักสูตรไม่ดี หลักสูตรไม่ทันสมัย หลักสูตรไม่สามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หลักสูตรทำให้ผลการเรียนตกต่ำ หลักสูตรทำให้นักเรียนไม่มีความสามารถทางด้านการคิดวิเคราะห์ ขาดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ทำให้นักเรียนใช้เทคโนโลยีไม่เป็น และขาดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และ บลา…บลา…บลา..อีกมากมายหลายประการ ทั้งๆ ที่แบบทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-Net) ก็เกิดจากการวิเคราะห์ และออกข้อสอบตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของหลักสูตรอย่างชัดเจน และสถาบันทดสอบทางการการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีการประชาสัมพันธ์บลูพริ้นท์ที่เป็นแนวและกรอบของข้อสอบว่า ในแต่ละปีการศึกษาจะเน้นการวัดและประเมินผลความรู้ขั้นพื้นฐานของนักเรียนในแต่ละช่วงชั้นตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดอะไรบ้าง…และจริง ๆ แล้วเมื่ออยู่ในห้องเรียน ครูสอนอะไร
คนไทยชอบโวยวาย กล่าวโทษ และติเตียนสิ่งอื่นและผู้อื่น โดยลืมหันมามองความบกพร่องของตนเองว่า ปมปัญหาสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาของชาติไม่สำเร็จจนถึงทุกวันนี้ เป็นเพราะเราขาดการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่ครู เราอบรมพัฒนาครูในแต่ละปีมากมายหลายเรื่อง แต่เราลืมพัฒนาเรื่องที่เป็นหัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ในชั้นเรียน เราลืมพัฒนาครูซึ่งเป็นผู้ที่นำหลักสูตรไปใช้ในห้องเรียน ให้เขาเป็นครูที่เก่ง และใช้หลักสูตรเป็น เราขาดการนิเทศ ติดตาม ช่วยเหลือและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของครูอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ครูส่วนใหญ่จึงยังใช้หลักสูตรไม่เป็น การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนจึงไม่ตรงกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด ด้วยเหตุนี้ ครูจึงไม่สามารถนำพาให้ผู้เรียนบรรลุการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ หรือตามมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดของหลักสูตรได้เลย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าอาจจะมีครูหลาย ๆ คนที่มีความเข้าใจในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของหลักสูตรบ้าง แต่การสังเกตการสอนในชั้นเรียน ก็พบว่า ครูก็มักจะสอนตามความคิด ความเชื่อและประสบการณ์ และความเคยชินของตนเอง โดยใช้หนังสือเรียนเป็นตัวตั้ง และทิ้งหลักสูตรไว้นอกห้องเรียน…ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลาย ๆ ท่านที่ผ่านมา ก็ขาดการวิเคราะห์ถึงปมปัญหาคุณภาพการศึกษาที่ฝังรากลึกมานาน และมักอ้างเหตุผลเดิม ๆ อยู่เสมอว่า หลักสูตรที่มีอยู่ไม่ดี ไม่มีความทันสมัย ต้องเร่งปรับปรุงหลักสูตร …คุณภาพการศึกษาไทยจึงเหมือนกับกระทงที่ลอยวนเวียนหมุนไปมาอยู่ในอ่าง ไม่ก้าวหน้าไปถึงไหนเสียที เพราะพอเริ่มต้นเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็มาเริ่มต้นกันที่การแก้ไข ปรับปรุงหลักสูตรซ้ำแล้วก็ซ้ำเล่า
เช่นเดียวกับความคิดของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาอิสระ ที่มุ่งโจมตีในประเด็นเดียวกัน แถมยังบอกด้วยว่าหลักสูตรปัจจุบัน เน้นการสอนให้นักเรียนท่องจำ โดยขาดการวิเคราะห์ว่า หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และที่ปรับปรุงแก้ไขอีก 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ในปี 2560 นั้น เป็นหลักสูตรที่ขึ้นต้นประโยคมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดทุกตัวชี้วัดในทุกระดับชั้น ด้วยคำกริยาที่เน้นพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้งสิ้น ทุกตัวชี้วัดของหลักสูตรจะบอกสิ่งที่เป็นเนื้อหาที่นักเรียนควรจะได้เรียนรู้ พฤติกรรมการเรียนรู้ที่นักเรียนพึงจะต้องปฏิบัติได้ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ควรจะเกิดในตัวผู้เรียน (What students should know and be able to do) ไม่ได้มีเฉพาะส่วนของเนื้อหาไว้สอนเพื่อให้เด็กท่องจำอย่างที่ท่านคิด แต่เป็นหลักสูตรที่พัฒนาให้เด็กได้เรียนรู้แบบบูรณาการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (…ถ้าครูใช้หลักสูตรเป็น…)
ดังนั้น ถ้าครูใช้หลักสูตรในการจัดการเรียนรู้จริง และใช้เป็น เราก็จะสามารถพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ทักษะ มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เกิดสมรรถนะสำคัญ และมีคุณสมบัติของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 ที่พร้อมต่อการเผชิญโลกในศตวรรษที่ 21 เป็นพลเมืองไทย และพลโลกที่ดีได้อย่างครบถ้วนตามแนวคิด และนโยบายของท่านรัฐมนตรีทั้งสองท่านอย่างแน่นอน แต่น่าเสียดาย เพราะในข้อเท็จจริง เรากลับลืมไปเลยว่า ผู้ที่มีบทบาทตัวจริงในการขับเคลื่อนความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา คือ ครู เพราะ “…ครู คือ ศูนย์กลางของการพัฒนา ถ้าครูเก่ง…นักเรียนเก่ง…”
ข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเกาได้ถูกที่คันจริง ๆ ก็คือ
- 1. กระตุ้นหน่วยผลิตครูให้มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตครูที่มีคุณภาพ และพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ในโรงเรียนที่จัดการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน โดยให้แยกวิชาเอกในการผลิตบัณฑิตตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่มีการจัดการเรียนการสอนจริงในโรงเรียน และคำนึงถึงการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรม ความศรัทธาในวิชาชีพ และจรรยาบรรณของความเป็นครู รวมทั้งความรู้และทักษะทางด้านวิชาชีพครูอย่างมีคุณภาพ
- ระบบและกลไกในการสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยต้องเป็นไปอย่างมีคุณภาพ เข้มข้น และโปร่งใส ข้อสอบที่ใช้สอบคัดเลือกและวิธีการในการคัดเลือกครู ต้องสามารถเลือกเฟ้นให้ได้เฉพาะคนเก่งที่ศรัทธาในวิชาชีพครูเท่านั้นมาเป็นครู อย่าให้การสอบเป็นแค่เพียงพิธีกรรม ที่มีการลดความยากของข้อสอบลง ทุกวันนี้ เราจึงได้เพียงคนที่มาช่วยคุมชั้นเรียน ได้คนที่สอนและใช้หลักสูตรไม่เป็นมาบรรจุเป็นครู ซึ่งเราคงไม่กล้าจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคุณภาพของการศึกษาชาติในห้วงระยะเวลาอีก 20 – 30 ปีข้างหน้า
- กระทรวงศึกษาธิการต้องพัฒนาครูประจำการที่มีอยู่ในทุกระบบการศึกษา ให้เป็นครูที่เก่ง เพื่อไปสอนลูกศิษย์ให้เก่ง เราอยากได้เยาวชนของชาติเป็นอย่างไร ก็จะต้องไปพัฒนาความรู้และทักษะของครูให้เกิดความเชี่ยวชาญตามนั้น เราอยากได้ครูที่สอน Coding เก่ง ๆ สอนภาษาอังกฤษเก่ง ๆ เราก็ต้องพัฒนาอบรมให้ความรู้และฝึกทักษะให้กับเขา แต่จะต้องตระหนักว่า การพัฒนาครูจำเป็นต้องใช้ระยะเวลา ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ในเวลานี้ กระทรวงศึกษาธิการจะต้องยุติความคิดเรื่องการจะปรับหลักสูตร และจะต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันว่า การอบรมระยะสั้น เพียง 2 – 3 วัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ๆ ก็ตาม จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ของครูได้เลย งานวิจัย (McLaughlin, 2007) สนับสนุนว่า ถ้าจะให้ครูปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ จะต้องใช้ระยะเวลาในการอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยเมื่อครูเข้าอบรมรับความรู้แล้ว ต้องให้กลับไปทดลองและประยุกต์ใช้ความรู้ในการปฏิบัติงานในห้องเรียนจริง โรงเรียนโดยผู้บริหารสถานศึกษาต้องจัดให้มีการนิเทศ กำกับ ติดตาม ให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู (PLC) งานพัฒนาครูจึงสัมพันธ์กันกับองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาคุณภาพการศึกษา นั่นก็คือ การให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ และการเอาใจใส่ต่องานวิชาการของผู้บริหารสถานศึกษานั่นเอง
- สนับสนุน และพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครูอย่างต่อเนื่อง ให้การปฏิบัติหน้าที่การจัดการเรียนรู้ตามภาระงานปกติของครูกลายเป็นผลงานที่เชื่อมต่อกับเกณฑ์การเข้าสู่การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของครูตาม ว. 21 และ ว. 22/2560 โดยการสะสมชั่วโมงการสอน การอบรม การนำความรู้และทักษะที่ได้ไปปฏิบัติการสอนจริง แล้วบันทึกหลักฐานความสำเร็จของการปฏิบัติที่ดี ที่สะท้อนพัฒนาการการเรียนรู้ในตัวผู้เรียน ครูที่ตั้งใจสอนจนทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ที่ดีของผู้เรียนและประสบความสำเร็จ ทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ต้องได้รับรางวัลการเลื่อนวิทยฐานะเป็นผลตอบแทนจากงานที่เกิดขึ้นจากผลของการปฏิบัติงานจริงในชั้นเรียนอย่างเท่าเทียมกัน ถ้าทำเช่นนี้ได้ ครูก็ไม่ต้องทิ้งการสอน ทิ้งห้องเรียน ไปทำผลงานวิชาการอย่างเช่นแต่ก่อนอีก โครงการพัฒนาครูในรูปแบบครบวงจร จึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาคุณภาพครู และคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อสร้างคุณภาพผู้เรียน และห้องเรียนคุณภาพที่ดี และเป็นระบบ
- การประเมินผลคุณภาพการปฏิบัติงานจริงของครูตามเงื่อนไขวิทยฐานะตาม ว. 21 และ ว. 22/2560 จะต้องอยู่เป็นการดำเนินการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการที่มีคุณภาพที่ส่งถึงตัวผู้เรียนอย่างเป็นระบบเท่านั้น จะต้องไม่ใช่การประเมินจากผลลัพธ์สุดท้ายที่เป็นผลของการทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-Net) แต่เพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้น จะเกิดปรากฏการณ์ที่ครูติวความรู้เพื่อเพิ่มคะแนนการสอบแทนการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับผู้เรียน และชั้นเรียนจะกลายเป็นโรงเรียนกวดวิชาแทนการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตร
- เกณฑ์ในการประเมินเพื่อการเข้าสู่การขอมีและเลื่อนวิทยฐานะของผู้บริหารสถานศึกษาต้องเกิดจากการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ผลงานของผู้บริหารสถานศึกษาควรสัมพันธ์กับการใช้กลยุทธ์และวิธีการที่เป็นการสร้างคุณภาพด้านการบริหารสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา โดยเป็นการรายงานที่แสดงถึงกลยุทธ์ เทคนิคและกระบวนการในการสนับสนุนส่งเสริม การนิเทศ กำกับ ติดตาม และการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ที่สะท้อนถึงความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู และการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และนำไปสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพในท้ายที่สุด
- ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา ต้องการครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายการศึกษา หรือ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ฯ และหลักสูตร และนำไปประยุกต์ใช้ให้เป็น ผู้เกี่ยวข้องทุกคนต้องมีความเชื่อว่า ผู้เรียนมีความสำคัญ สามารถเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ได้ตามศักยภาพที่แตกต่างกันเป็นรายบุคคล ครูจึงต้องมีความรักและศรัทธาในวิชาชีพ มีจิตวิทยาการเรียนรู้ รวมทั้งมีทักษะและเทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active learning) ที่ใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ที่น่าสนใจและหลากหลาย เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้เกิดการเรียนรู้ โดยมุ่งจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ เกิดทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ตามมาตรฐานการเรียนรู้ และตัวชี้วัดของหลักสูตร เป็นพลเมืองไทยที่รักชาติไทย รู้ภาษาไทย รักภาษาไทย เก่งภาษาต่างประเทศ และเป็นพลโลกที่เพียบพร้อมด้วยสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 สำหรับการศึกษาต่อในระดับสูง และการทำงานในยุคประเทศไทย 4.0 ต่อไปในอนาคต
วันนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องใช้ยาแรงเพื่อการปฏิรูปและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติ ดิฉันดีใจที่ นายณัฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องของการพัฒนาครูเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ในห้องเรียน และได้กำหนดเป็นนโยบายหลักของกระทรวง และดิฉันเชื่อมั่นว่า ทั้งสองท่านคงจะมีมุมมองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ว่า “ครู คือ ศูนย์กลางของการพัฒนา” เพราะครู คือ ผู้สร้างคุณภาพของผู้เรียน และทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพ ซึ่งเป็นแก่นและหัวใจของความสำเร็จในการปฏิรูปการศึกษา ที่ล่าช้ามาเนิ่นนานถึง 20 ปี…” …ดิฉันขอวิงวอนและฝากความหวังอันแสนริบหรี่นี้ไว้กับท่านรัฐมนตรีทั้งสองท่านและคณะ ด้วยความขอบพระคุณยิ่งค่