วัดพระแก้ว เป็นวัดเก่าแก่โบราณอีกวัดหนึ่งตั้งอยู่ในตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ห่างจากตัวเมืองชัยนาทมาทางทิศใต้ 23 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่น่าศึกษาเพราะเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่โดดเด่นด้วยเจดีย์สี่เหลี่ยมที่มีความงดงาม จนได้ขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งเจดีย์ทั้งมวลในเอเซียอาค เนย์ซึ่งไม่เกินจริงในความงดงามที่ประจักษ์ตา
เราเดินทางมาพบกับอาจารย์จรรยงค์ พุ่มผล รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลชัยนาท ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวรรณกรรมและภาษาของชัยนาทพร้อมทั้งน้องฟ้าและน้องแหม่ม 2 สาวเจ้าหน้าที่ททท.สำนักงานลพบุรีที่เดินทางมาให้ความสะดวกเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารในพื้นที่ชัยนาทด้วยความร่วมมือกันหลายฝ่ายในครั้งนี้ ท่านอาจารย์จรรยงค์ได้อธิบายความเกี่ยวกับเจดีย์
ลักษณะของเจดีย์จะเป็นแบบละโว้ทรงสูงผสมกับเจดีย์ทราวดีตอนปลาย ฐานเรือนธาตุแบบลดท้องไม้เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยผสมผสานกับสมัยศรีวิชัย บริเวณด้านหน้าองค์เจดีย์ จะเป็นวิหารของหลวงพ่อฉาย ซึ่งเป็นพระประธานอยู่ในวิหาร ที่แปลกแตกต่างจากพระประธานที่เราเคยพบ หลวงพ่อฉาย ด้านหลังจะมีการสลักลายจากหินทรายเป็นนรูป ทับหลัง แกะสลักติดอยู่และมีการลงอักขระด้านหลังจึงมีความแตกต่างกันมาก เวลาไปกราบไหว้องค์หลวงพ่อฉายต้องเดินไปดูด้านหลังจะเห็นความแปลกตาน่าทึ่ง หลวงพ่อฉายเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่สร้างด้วยศิลาแลง สร้างมานานประดิษฐานอยู่ในวิ หาร ด้านหน้าจะมีพญานาค 2 ตัวขนดหางหันหน้าเข้าหากันดูเกรงขามและน่าเคารพยิ่ง
หลวงพ่อฉาย สันนิษฐานกันว่าน่าจะมีอายุประมาณ 800 กว่าปีมาแล้ว ด้านหน้ามีลักษณะ เหมือนพระพุทธรูปทั่วไปเป็นปางมารวิชัย แต่ใน ด้านหลังกลับมีลายแกะสลักนูนเป็นรูปทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณในเรือนแก้วฝังอยู่ใน องค์พระลักษณะกลับหัว ทับหลังนี้เป็นศิลปะของขอมโบราณอายุราวพันกว่าปี นำมาสร้างหลวงพ่อฉายอยู่ด้านหลังพนะพุทธรูปโบราณ ทับหลังกลับหัวนี้มีการตีความด้านปริศนาธรรมว่า ผู้ที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดเช่นพุทธองค์ จะต้องรู้จักปฏิบัติทวนกระแส แห่งโลภะ โทสะ โมหะ ถึงจะพบความสุขแห่งชีวิต ซึ่งอาจารย์จรรยงค์ได้ให้คำนิยามอย่างนั้น พวกเราออกเดินทางต่อไปยังวัดมหาธาตุ วัดเก่าแก่อายุกว่าพันปีแห่ง อำเภอสรรคบุรี ชัยนาทที่เพิ่งขุดพบเครื่องชามสังคโลกในสมัยราชวงศ์ซ้องเป็นที่น่าตื่นตา
วัดมหาธาตุ ตำบลแพรกศรีราชาอำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ซึ่งมี พระครูสิทธิชัย รังสรรค์ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุได้อำนวยความสะดวกและได้เล่าถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวัดนี้สันนิษฐานว่าสร้างก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยาและก่อนกรุงสุโขทัย การขุดพบโบราณวัตถุเกี่ยวกับเครื่องใช้สังคโลกในสมัยราชวงศ์ซ้อง ซึ่งมีอายุกว่าพันปี ในบริเวณนี้เคยเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองในสมัยก่อนเมืองสรรคบุรีจึงเป็นเมืองเก่าแก่ และมีสกุลช่างที่บ่งบอกเอกลักษณ์ว่าเป็นเมืองโบราณพันปี ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นเช่นนั้น
มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์คือพระปรางค์กลีบมะเฟืองสร้างฐานด้วยอิฐถือปูน 3 องค์พระปรางค์ มีลักษณะคล้ายกลีบมะเฟือง ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมเป็นศิลปะสมัยลพบุรี รวมทั้งพระวิหารและหมู่เจดีย์ต่างๆสร้างด้วยศิลปะแสนงดงามเรียงรายกันภายในวัดมหาธาตุ การเดินทางเข้ามาในวัดจะต้องมากราบไหว้หลวงพ่อหลักเมือง เพราะเบื้องหลังของท่านมีแผ่นศิลาสองแผ่นสลักลายเทวรูปปักอยู่คู่กัน ชาวบ้านจึงเรียกว่าหลักเมือง ส่วนชื่อนั้นมาทีหลังจากชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วยมักจะมาบนบานศาลกล่าวขอพรขอน้ำมนต์ไปดื่มกินเพื่อรักษาไปตามความเชื่อ กลับหายจากโรคภัยจึงให้ชื่อว่าหลวงพ่อหลักเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์
ภายในวัดมหาธาตุ บริเวณด้านหลังวัดลักษณะจะคล้ายกับเมืองเก่ามีโบราณสถานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ประดิษฐานอยู่ ที่เด่นชัดสุดจะเป็นองค์พระมหาธาตุที่ก่อสร้างด้วยอิฐสีแดง ปัจจุบันยังคงเหลือไว้แค่ฐานสี่เหลี่ยมมีผ้าสีเหลืองพันรอบองค์พระธาตุ ด้านหน้าองค์พระธาตุยังมีโบสถ์มหาอุดอีกหลัง
ส่วนภายในวัดยังมีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ตั้งเรียงรายภายในวัด นอกจากนั้นยังมีภาพแกะสลักหินทรายรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ให้กราบสักการะในศาลาด้านหน้า ซึ่งท่านพระอาจารย์ได้ให้คำแนะนำอย่างดีในการเข้ามาชม บริเวณวัดและภายในอำเภอสรรคบุรีนี้ ถูกขุดค้นพบเครื่องชามสังคโลกในสมัยราชวงศ์ซ้อง จึงทำให้สรรคบุรีกลายเป็นเมืองเก่าแก่อายุนับพันปีก่อนกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา พวกเรารับทราบถึงความยิ่งใหญ่ของวัดมหาธาตุ กราบอำลาพระอาจารย์เดินไปต่อเพื่อไปร่วมงานลอยกระทง