ที่ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงานมอบรางวัลตราสัญลักษณ์ G – Green ระดับประเทศ และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดการสิ่งแวดล้อม ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ร่วมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง คณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่าย
ซึ่งการทำ MOU ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกัน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กระทรวงการคลัง (กค.) โดย บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และหน่วยงานร่วมดำเนินการจัดการสำนักงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคาร A) และอาคารรัฐประศาสนภักดี(อาคาร B) รวมทั้งสิ้น 22 หน่วยงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแก่เจ้าหน้าที่ เป็นต้นแบบศูนย์ราชการที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีแก่ประชาชน ขยายผลไปสู่ศูนย์ราชการส่วนภูมิภาคต่อไป
พร้อมกันนี้ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ยังให้เกียรติมอบโล่ตราสัญลักษณ์ G-Green เชิดชูและประกาศเกียรติคุณให้กับหน่วยงานและสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์การประเมินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวน 352 รางวัล รวมทั้งมอบโล่ Green Partnership ให้กับ 4 องค์กรความร่วมมือ ที่สนับสนุนโครลการรณรงค์ร่วมทำความดีด้วยหัวใจ ลดรับ ลดให้ ลดใช้ถุงพลาสติก เตรียมความพร้อม รับวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่เป็นวันดีเดย์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ และส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทในประชาคมโลก แต่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะต่อไป จําเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่างการใช้ทรัพยากรเพื่อการพัฒนาประเทศ กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
ด้วยการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รวมทั้งรณรงค์สร้างจิตสํานึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยนำเป้าหมาย “การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน” ซึ่งเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มาเป็นแผนที่นำทาง จึงจำเป็นต้องให้ความรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชนไปสู่การผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีการเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ ลดของเสียจากการผลิต การบริการและการบริโภค
ตลอดจนส่งเสริมกระบวนการรับรองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชิดชูเกียรติภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมและวิถีชีวิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือ และ บูรณาการการทํางานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีความร่วมมือต่างๆ พร้อมกันนี้ ยังได้ฝากทุกหน่วยงานร่วมกันสื่อสาร สร้างการรับรู้การงดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้ว จากห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ กว่า 70 บริษัท ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีหน้า เป็นต้นไป รวมทั้งร่วมกันรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมุ่งสู่การบรรลุ ข้อตกลงการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ภายในปี 2565