งานบุญประเพณีกำฟ้า ของชาวไทยพวน ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ที่สืบสานประเพณีนี้มายาวนานกว่าร้อยปี แม้ว่าประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวนจะกระจัดกระจายกันอยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง ของประเทศไทย
ชาวไทยพวนอพยพมาจากเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทย ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 โดยนำเอาศิลปวัฒนธรรมติดตัวมาในเรื่องฝีมือช่างและอาชีพเกษตรกรรม อาศัยน้ำฝนจากฟ้าในการทำนาแต่ละปี ยึดถือเอาวันขึ้น 2-3 ค่ำของเดือน 3 ทุกปี เป็นวันประเพณีกำฟ้า กันทั้งประเทศ
ซึ่งการจัดงานบูชาฟ้า ด้วยการฟ้อนรำ และ การเผาข้าวหลามเพื่อการทำบุญตักบาตร ทำกันทุกแห่งโดยเฉพาะที่ วัดอุตมะพิชัย ตำบลบางน้ำเชี่ยว อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ได้จัดงานนี้ขึ้นภายในวัด ซึ่งเป็นชุมชมของชาวไทยพวน ใหญ่อีกแห่งหนึ่งในสิงห์บุรี
ในช่วงเช้าจะนำข้าวเหนียวกับกะทิคั้นแล้ว และ นำถั่วดำ น้ำตาลมาผสมกันใส่กระบอกไม้ไผ่เพื่อเตรียมเผาข้าวหลาม เมื่อสุกแล้วจะได้นำไปทำบุญตักบาตรในช่วงเช้าอีกวัน ถือวันนี้เป็นวันสุกดิบ เตรียมพร้อมทำบุญ มี อาจารย์บุญรอด ขุนอ่อน ประธานชมรมไทยพวนสิงห์บุรี ปราชญ์ชาวบ้าน มาให้ข้อมูลความ รู้เกี่ยวกับประเพณีของชาวไทยพวน
ช่วงบ่ายจะได้เตรียมทำอาหารพื้นถิ่นของชาวไทยพวน ไม่ว่าจะเป็น ทอดมันปลา, แกงจานน้ำเสอ, หลามมะเขือ, แจ่วซู่ลู่, ลาบหมู, และ คั่วขี้ปลา มีขนมหวานอย่าง ขนมดาดกะทะ ขนมวงแหน เป็นต้น ที่เตรียมเอาไว้จัดงานพาแลงในค่ำคืนนี้
ส่วนข้าวหลามที่เผาเตรียมไว้ ก็นำใส่กระบุงใหญ่หรือใส่หาบคอน นำมาไว้ที่วัด เพื่อให้พี่น้องไทยพวนและแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมงานพาแลง ได้กินกัน
ในช่วงก่อนพาแลงจะมีพิธีกรรมของงานกำฟ้า พิธีบวงสรวงบรรพบุรุษไทยพวน การฟ้อนรำของลูกหลานชาว ไทยพวน พิธีกรรมทางศาสนา นิมนต์พระมาสวดมนต์ทำวัตรเย็น แล้วถวายเครื่องไทยทานพระ และประพรมน้ำมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคล
ในช่วงเย็นพลบค่ำ ชาวไทยพวนจัดงานพาแลง คล้ายกับขันโตกทางล้านนา มีอาหารคาวหวานที่เป็นอาหารถิ่นของชาวไทยพวน มานั่งร่วมรับประทานด้วยกัน พร้อมทั้งชมการแสดง การละเล่นต่างๆที่เป็นของไทยพวน
การจัดงานประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน แห่งตำบลบางน้ำเชี่ยว ที่วัดอุตะมะพิชัยครั้งนี้มี คุณชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เดินทางมาเป็นประธานในพิธีบวงสรวง และพิธีเปิดงานในช่วงพาแลง คุณอภิชาต อินทร์พงษ์พันธุ์ อดีตรองผู้ว่า การการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้ประสานงาน และนำสื่อมวลชนทั้งทีวีและสื่อออนไลน์มาทำข่าว ประชาสัมพันธ์
เช้าวันรุ่งขึ้น ได้มีพิธีจัดขบวนแห่ข้าวหลาม อาหารคาวหวานเพื่อนำมาทำบุญที่ วัดอุตมะพิชัย ใส่บาตรข้าวหลามอย่างเดียว เมื่อตักบาตรเสร็จสิ้น ก็ขึ้นไปใส่บาตรข้าวสวยบนศาลาการเปรียญ ถวายอาหารคาวหวานพร้อมเครื่องไทยทานทั้งหมด พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์ตามพิธีจบให้ศีลให้พรครบถ้วน เป็นอันเสร็จสิ้นพิธีประเพณีกำฟ้าของชาวไทยพวน