งานเทศกาลโคนมแห่งชาติปี้นี้สุดคึกคัก!! อ.ส.ค. จัดประกวดโคนมดีเด่นระดับประเทศครั้งที่ 37 ชิงถ้วยพระราชทานจากในหลวง ร.10 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หวังกระตุ้นเกษตรกรไทยเร่งยกระดับการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในและต่างประเทศ และขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติ
ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า เพื่อแสดงความก้าวหน้าของการปรับปรุงพันธุ์โคนมในประเทศ รวมทั้งแสดงศักยภาพด้านผลผลิตน้ำนมของแม่โคนมที่เกิดในประเทศไทย ทาง อ.ส.ค. จึงได้มีการจัดให้มีการประกวดโคนมชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่10) สำหรับโคนมที่ชนะเลิศการประกวดโคนม ประเภทที่ 5 โคนมมากท้องแรก อายุไม่เกิน 28 เดือน (ด้านผลผลิต) และถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีสำหรับโคนมที่ชนะเลิศการประกวดโคนมประเภทที่ 6 โคนมมาก ไม่จำกัดอายุ (ด้านผลผลิต) ภายในงาน “เทศกาลโคนมแห่งชาติ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 37 ณ ลานประกวดโค อ.ส.ค. ในฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรีในหลวงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
สำหรับปีนี้จัดให้มีการประกวดโคนมดีเด่น 7 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 โคนมรุ่นอายุ 12-15 เดือน ประเภทที่ 2 โคนมรุ่นอายุ 15-18 เดือน ประเภทที่ 3 โคนมรุ่นอายุ 18-21 เดือน ประเภทที่ 4 โคนมรุ่นอายุ 21-24 เดือน (ต้องไม่ผ่านการรีดนม) ประเภทที่ 5 โคนมมากท้องแรกอายุไม่เกิน 28 เดือน (ด้านผลผลิต) ชิงถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ประเภทที่ 6 โคนมมากไม่จำกัดอายุ (ด้านผลผลิต) ชิงถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และประเภทที่ 7 โคนมอายุมากกว่าอายุ 24 เดือน (ด้านรูปร่าง)
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่ออาชีพการเลี้ยงโคนม โดยมีนโยบายที่จะพัฒนาและส่งเสริมการเลี้ยงโคนมอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาสู่อาชีพที่มั่นคง ซึ่งการประกวดโคนมสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมนั้น นอกจากช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาพันธุ์โคนม บริหารจัดการฟาร์มโคนมที่ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างศักยภาพความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ทั้งด้านพัฒนาประสิทธิภาพของปริมาณการผลิตน้ำนมดิบและคุณภาพน้ำนมดิบที่ อ.ส.ค. มุ่งพัฒนาและขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐานรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมในและต่างประเทศ และเพื่อขับเคลื่อนสู่ยุทธศาสตร์นมแห่งชาติอีกด้วย