สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำผลงานวิจัย 14 โครงการ ร่วมนำเสนอในงานสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลก SB Chantaboon 2020 Moonshots to Dreamfood

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมนำผลงานวิจัย 14 โครงการ ร่วมนำเสนอในงานสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลก SB Chantaboon 2020 Moonshots to Dreamfood ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี โดยรศ.ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทน รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายบริหารวิชาการ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีความภูมิใจที่ได้ร่วมเป็น knowledge partner ในการจัดงาน SB Bangkok : Sustainable Brand Conference

โดยสถาบันฯ ได้ส่งเสริม งานวิจัยที่มีค่าในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมิติของการประมง อุตสาหกรรมอาหาร การท่องเที่ยว โดยมีงานวิจัย เช่น

การสร้างเครือข่ายธนาคารปูม้า อ.ปะทิว จ.ชุมพร /

การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ศึกษาหมู่บ้านชาวประมงในภาคตะวันออกของประเทศไทย/

 การจัดทำฐานข้อมูลอาหารทะเลอย่างยั่งยืน/

ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับชุมชมท้องถิ่น คืนชีวิตสู่ท้องทะเล สร้างห่วงโซ่อาหาร สิ่งแวดล้อมท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์

ตลอดจนงานวิจัยอีกมากมาย จากหน่วยงาน คณะ วิทยาลัย ที่มุ่งมั่นสร้างองค์ความรู้สู่การปฏิบัติจริง สานต่อแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ด้วยพลังของสถาบันการศึกษา และเครือข่าย Sustainable Brand ทั่วโลก

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า สำหรับงาน SB ครั้งนี้ สถาบันฯก็สนับสนุนเต็มที่ โดยนโยบายท่านอธิการที่มุ่งเน้นให้เราดำเนินนโยบายด้าน SDGsอย่างเข้มข้นมาหลายปี โดยปีนี้ เป็นปีที่สถาบันครบรอบ 60 ปีGo Beyond The Limit เราก็ร่วมมือในการจัดทำโครงการ กองทุนวิจัยของสถาบันก็ได้จัดทำโครงการเข้าไปสนับสนุนในงานนี้ด้วย อีกอย่างก็คือ เมื่อปีที่แล้วเราจัดที่ชุมพร และต่อมาที่จังหวัดจันทบุรี เพื่อไปจัดงานเฉลิมฉลองและงาน Sustainable Brand  เพื่อให้เห็นความเข้มข้น และเห็นว่าเทคโนโลยีนวัตกรรมสามารถที่จะไปช่วยให้ชุมชนและทุกที่สามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน

 ผศ.ดร.นาตยา มนตรี นักวิจัยในโครงงานวิจัยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากเสม็ดขาวอย่างยั่งยืน ตามโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี โดยในปีนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยจากปีที่ผ่านมา เป็นการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบชาจากใบเสม็ดค่ะ

เป้าหมายของงานวิจัยนี้เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น แล้วเอาทรัพยากร ไปใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่า เหมาะสมแล้วก็มีการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน โดยการใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืนหมายถึง การใช้ประโยชน์ควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากร ก็คือ เสม็ดขาว ของเราให้คงอยู่ เมื่อชุมชนเห็นประโยชน์ของพืชชนิดนี้แล้ว ชุมชนก็จะร่วมมือกัน แล้วอนุรักษ์พืชตัวนี้ไว้ในชุมชน เนื่องจากเค้าสามารถเก็บผลผลิตของพืชตัวนี้แล้วนำมาใช้ประโยชน์ แล้วสร้างมูลค่า เพื่อให้ชุมชนมีรายได้ได้

“…สิ่งที่ค้นพบจากงานวิจัยนี้คือเราค้นพบว่า เสม็ดขาวมีสรรพคุณที่ใช้ในการรักษาโรคได้หลายอย่างนะคะ โดยชาใบเสม็ดของเรา ตามภูมิปัญญาที่เราได้ทำมาในงานวิจัยปีก่อนหน้า เราพบว่าชาวบ้านได้เอาใบเสม็ดขาวมาต้มดื่มเป็นชา แล้วก็ใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร โรคปอด และโรคหอบ ดีซ่าน และโรคอื่นๆอีกมากมาย ตอนที่เราได้เสนอโครงการอนุรักษ์พันธุ์พืชกับองค์สมเด็จพระเทพฯ พระองค์ท่านก็ได้รับสั่งให้เราทำการวิจัยต่อยอด และก็ถ้าเป็นไปได้ หลังจากที่เราได้ผลิตภัณฑ์ชาที่เราจะได้ทำแล้ว ในส่วนของสถาบันเราจะนำมาวิจัย ให้ถึงเป้าหมายว่า เอาเสม็ดขาวมาทำชา แล้วก็ไปผลิตเป็นแคปซูล  แล้วก็ทำการสกัดสาร ทำในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า แล้วก็ลดการนำเข้าสมุนไพรจากต่างประเทศ แต่ว่าปีนี้เราทำเป็นต้นแบบชาออกสู่ชุมชน แล้วก็ปีหน้าเราจะมาทำงานวิจัยต่อยอด หลังจากนี้เราจะไปกระตุ้นชุมชนและส่งเสริมชุมชนให้เอาไปทำผลิตภัณฑ์ แล้วก็ใช้เป็นผลิตภัณฑ์เอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดเล็กเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป..”

อาจารย์ นฤดี ภู่รัตนรักษ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรมหัวโครงการ แปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นยางพาราและต้นกาแฟ กล่าวว่า งานวิจัยที่ทำมาของงาน Sustainable Brand เราก็ได้ต่อยอดจากงานวิจัยของนักศึกษาเป็นการใช้ประโยชน์จากต้นยางพารา และต้นกาแฟ โดยงานที่ได้ออกมาก็เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเปลือกไม้ยางพารา ต้นยางพารา และต้นกาแฟ กากกาแฟ

“..อันดับแรกที่เราได้เลย เราศึกษาไปที่กากกาแฟ เป็นของเหลือใช้ แล้วเราจะทำประโยชน์กับมันได้อย่างไรบ้าง เราก็เลยได้เป็นสีของกากกาแฟ แล้วเราก็เลยลองนำมาทดลองย้อมกับน้ำยางพารา ในวงการของการทำยางพารา เมื่อเราใช้ประโยชน์จากน้ำยางพาราหมดแล้ว ต้นยางพาราจะต้องตัดทิ้งเมื่อมันหมดอายุขัย เราก็เลยนำต้นยางพารามาประกอบขึ้นมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ ในเรื่องของกากกาแฟจะมีเรื่องการดับกลิ่น เรื่องของแมลง และการทำอโรมา เราก็เลยนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์กลางแจ้ง สำหรับการใช้ภายนอก

ประโยชน์ที่เราจะได้ในมุมมองของ Sustainable Brand ก็คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรามุ่งหวังให้ผู้ผลิตมองเห็นคุณค่าของวัสดุ และมองเห็นกระบวนการตั้งต้นไปจนถึงกระบวนการสุดท้ายจนกระทั่งสามารถนำขยะมา Reuse เองได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เรามองว่าเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนค่ะ..”

Related posts