กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม และเครือข่ายม่อนแจ่มเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยและทำกิน จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร เพื่อพบปะ พูดคุยกับ ผู้นำชุมชน และตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่ เพื่อแนะนำการท่องเที่ยว และสะท้อนแนวทางในการร่วมกัน ดูแล รักษา และปกป้องม่อนแจ่ม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำในจังหวัดเชียงใหม่ และประเทศไทย
นายวิชิต เมธาอนันต์กุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม เปิดเผยว่า
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม จัดตั้งขึ้นโดยหลักการของกลุ่มฯ คือต้องการกระจายรายได้ให้ชาวบ้านทุกกลุ่มได้รับผลประโยชน์ โดยเก็บเงินจากคนที่มีรายได้มากช่วยคนที่มีรายได้น้อยหรือคนที่ยังไม่มีรายได้ เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น มอบทุนการศึกษาให้โรงเรียนเจ้าแม่หลวงอุปถัมภ์2 และหอพักบ้านตะเกียงน้อย สนับสนุนการดูแลสิ่งแวดล้อม การปลูกป่า การอยู่เวรไฟป่า สร้างจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม รณรงค์ให้ลดใช้สารเคมี สนับสนุนดูแลภูมิทรรศน์ระหว่างทางขึ้นม่อนแจ่ม สนับสนุนวัฒนธรรม ประเพณีชาติพันธ์ม้ง 3 หมู่บ้าน สร้างตลาดชุมชนเพื่อเป็นแหล่งกระจายรายได้สู่ชุมชน ก่อตั้งชมรมวัฒนธรรม เพื่อรักษาวัฒนธรรมและการแสดงแก่นักท่องเที่ยว เป็นต้น
ม่อนแจ่ม ถือเป็นแหล่งเที่ยวท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ และของประเทศไทย เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ที่ต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวกัน ทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจภาคบริการ เพื่อรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเฉพาะในส่วนของ ที่พักนักท่องเที่ยวและกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เช่น ผู้ให้บริการนำเที่ยว ผู้ให้บริการที่จอดรถ ผู้ให้บริการด้านอาหาร ร้านกาแฟ ผู้ให้บริการด้านรถฟอร์มูล่าม้ง และร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกต่าง ๆ จึงได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่มขึ้นมา ที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเป็นอย่างดี ในการร่วมกันส่งเสริมการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกัน การปฏิบัติตามกฎระเบียนต่าง ๆ ผู้ประกอบการทุกคนก็เข้าใจ และยินดีที่จะร่วมอนุรักษ์ม่อนแจ่มให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่ และของประเทศไทย ในวันนี้แม้ม่อนแจ่มจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาว จะสามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
“ ม่อนแจ่มกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด สร้างโอกาส และรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้ได้มีโอกาสลืมตาอ้าปาก เปลี่ยนตัวเองจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งรายได้หลักของชุมชน ทุกพื้นที่ที่มีความเจริญ และผู้คนจำนวนมากเข้ามา ปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มเกิดขึ้น การจัดระเบียบร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่มีความจำเป็น เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และส่งเสริมสนับสนุนให้การท่องเที่ยวของม่อนแจ่มเติบโตขึ้นอย่างมีทิศทาง ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ม่อนแจ่มสามารถเติบโตได้อย่างมีเป้าหมาย และยั่งยืน ” นายวิชิต กล่าว
นายพนม เมธาอนันต์กุล ประธานเครือข่ายชาวม่อนแจ่มเพื่อสิทธิที่อยู่อาศัยและทำกิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันในอำเภอม่อนแจ่มมีจำนวนประชากร 3,000 กว่าคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวโดยตรง มีพื้นที่ทั้งหมดเพียง 2,000 กว่าไร่ เฉลี่ยแล้วชาวบ้านมีที่ดินกันไม่ถึงคนละ 1 ไร่ หากทำเกษตรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถจะเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้ การก้าวเข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยว โดยเปลี่ยนสภาพจากเกษตรกรมาเป็นผู้ประกอบการที่พักนักท่องเที่ยว เป็นผู้ให้บริการท่องเที่ยว เป็นผู้ให้บริการอาหาร ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่สุจริต และด้วยธรรมชาติที่สวยงาม ผู้คนเป็นมิตร อากาศที่เย็นสบายตลอดปี ทำให้ในแต่ละปี มีคนนิยมมาเที่ยวม่อนแจ่มหลายล้านคน สามารถสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับจังหวัดเชียงใหม่ และสร้างรายได้ให้กับประเทศ ตามนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ กับประชาชน ในพื้นที่ เพื่อจัดระเบียบ และสร้างความชัดเจนในด้านสิทธิที่อยู่อาศัยและการทำกิน ถือเป็นสิ่งที่ดี และจะเป็นการส่งเสริมวิถีชีวิตของผู้คนในม่อนแจ่มอย่างแท้จริง
นายเอกรินทร์ นทีไพรวัลย์ ผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มี ที่พักนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการต่าง ๆ ในพื้นที่มากที่สุด กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา การท่องเที่ยวในม่อนแจ่ม ส่งผลดีต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ปัญหาด้านยาเสพติดแทบไม่มี ปรากฎการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้น เช่น การตัดน้ำ ตัดไฟ ตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อสร้างแรงกดดันต่าง ๆ ให้กับชาวบ้านอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ใช่การแก้ไขปัญหา ชาวบ้านอาศัยอยู่ที่นี่กันมาก่อน มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ภาครัฐได้เข้ามาส่งเสริมพวกเราผ่านโครงการหลวง ผ่านโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว พวกเราก็ปฏิบัติตามจนชาวบ้านสามารถประกอบเป็นอาชีพหลักได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวม่อนแจ่มได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี อาทิ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้าไปในเขตป่าสงวน การปรับปรุงที่พักให้สะอาดถูกหลักอนามัย การดูแลรักษาป่า การประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวไม่ส่งเสียงดังยามค่ำคืน การกำจัดขยะอย่างถูกต้อง รวมถึงการป้องกันดูแล ระวังไฟป่า เป็นต้น โดยชาวม่อนแจ่มทุกคนมีความคาดหวังว่า จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาดูแล บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้คำแนะนำ และปรับปรุงรักษาม่อนแจ่มร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ วิถีชีวิต การท่องเที่ยว และการอนุรักษ์ ไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน
วันนี้เราไม่ได้เรียกร้องอะไร สิ่งที่อยากจะเห็น คือ การจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนแม่บทพัฒนาม่อนแจ่มยั่งยืน โดยมีหลักการคือ ควบคุมจำนวนที่พักและรูปแบบที่พักให้กลมกลืนกับธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน และการท่องเที่ยวของม่อนแจ่มร่วมกัน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม โทรศัพท์ 096 698 7725