“เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา ร่วมประชุมกับเครือข่าย 8 สถาบันอุดมศึกษา และ 2 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดตรัง เพื่อพัฒนาระบบอุดมศึกษาในจังหวัดตรังและจังหวัดฝั่งอันดามัน”
วันนี้ (11 มีนาคม 2563) ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา และคณะจากสำนักงานปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เข้าร่วมการประชุมกับเครือข่าย 8 สถาบันอุดมศึกษา และ 2 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดตรัง เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาระบบอุดมศึกษาในจังหวัดตรังและจังหวัดฝั่งอันดามัน และการจัดการศึกษาในรูปแบบเครือข่ายโดยใช้ทรัพยากรร่วมกันหรือร่วมกันพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับทรัพยากรของจังหวัดเพื่อการผลิตบัณฑิตให้เป็นไปตามความต้องการของพื้นที่จังหวัดตรัง
ทั้งนี้ในจังหวัดตรังมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวนมากถึง 8 สถาบัน โดยแต่ละสถาบันต่างมีหลักสูตรที่แตกต่างกัน ดังนั้นทางคณะกรรมการอุดมศึกษาจึงเล็งเห็นว่าหากสามารถอาศัยจุดเด่นของบุคลากรและทรัพยากรอื่น ๆ จากแต่ละสถาบันร่วมกันพัฒนาการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของพื้นที่ จะทำให้ได้แรงงานที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของท้องถิ่นได้มากที่สุด
การประชุมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมได้แก่ ดร.สฤษดิ์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในนามประธานเครือข่าย 8 สถาบันอุดมศึกษา และ 2 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดตรัง หรือเครือข่าย TrangUnet พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและลูกค้าสัมพันธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกกานต์ วีระกุล ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต/ผู้จัดการโครงการปฏิบัติการอาหารแปรรูป มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นางสาวนันท์ธิญา ศฤงค์สวัสดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
และตัวแทนจาก 8 สถาบันอุดมศึกษา และ 2 องค์กรภาคเอกชนในจังหวัดตรัง ซึ่งประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต (ห้องเรียนจังหวัดตรัง) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง หอการค้าจังหวัดตรัง และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง
ทั้งนี้เครือข่าย TrangUnet ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาการศึกษาร่วมกันครั้งแรกในปีพุทธศักราช 2555 โดยมีระยะเวลา 5 ปี และลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันครั้งที่สองในปีพุทธศักราช 2560 โดยมีระยะเวลา 5 ปีเช่นเดียวกัน