สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. จัดมหกรรมอาหารปลอดภัย ภายใต้ชื่องาน “ Safe Food Good Life อาหารปลอดภัย ฉายรังสีปลอดโรค ” เพื่อช่วยยกระดับการรับรู้และเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีความรู้ความเข้าใจในข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยงานนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงเป็นการให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจเกี่ยวกับธุรกิจอาหารฉายรังสีอีกด้วย
รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีการฉายรังสีในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 โดยมีพัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่ง รัฐบาลไทยได้ให้ความเห็นชอบในการรับความช่วยเหลือจากประเทศแคนาดา จึงดำเนินการสร้างโรงงานฉายรังสีแบบเอนกประสงค์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมอาหารฉายรังสีในประเทศไทย ปัจจุบันข้อมูลการฉายรังสียังถูกรับรู้ในวงแคบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสี หรือหากรับรู้ก็จะเป็นการรับรู้แบบผิด ๆ ว่าอาหารฉายรังสีคืออาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการที่มาใช้บริการฉายรังสีเอง ก็ไม่อยากบอกผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการฉายรังสี เพราะกังวลกับความเข้าใจผิดของผู้บริโภค และอาจจะส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้า ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการอาหารอีกจำนวนมากยังไม่รู้จัก และเข้าใจว่ากระบวนการฉายรังสีอาหาร สามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อได้ ดังนั้นการฉายรังสีอาหารในผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภค จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร
“ สทน. มีเป้าหมายชัดเจนในการมุ่งสร้างความปลอดภัยให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหาร และสร้างความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับทางวิทยาศาสตร์ โดยมีภารกิจสำคัญด้านอาหารปลอดภัยที่ดำเนินการอยู่ คือการให้บริการฉายรังสีเพื่อทำลายเชื้อโรค และยืดอายุผลิตภัณฑ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกประเภทรังสีที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้กับอาหาร และการพัฒนาบริการด้านการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา
การจัดงานในครั้งนี้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการฉายรังสีอาหาร โดยต้องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และยกระดับการรับรู้เรื่องการฉายรังสีในอาหาร ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่งที่ทำให้อาหารปลอดภัย และยังช่วยในการถนอมอาหาร โดยนำอาหารไปรับรังสีจากต้นกำเนิดรังสี เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ยืดอายุการเก็บรักษา ชะลอการสุก ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา ทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง หรืออื่น ๆ ในทางกฎหมายกำหนดว่า การฉายรังสีอาหาร ต้องมีปริมาณรังสีต่ำสุดที่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการฉายรังสี และมีปริมาณรังสีสูงสุดอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีคุณค่าทางโภชนาการ และยังมีรสชาดเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
จากปัญหาโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ก็เกิดขึ้นเพราะการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัยของมนุษย์เรา ในสถานการณ์ที่กำลังเกิดโรคระบาดไปทั่วโลก การรับประทานอาหารที่ปลอดเชื้อ หรือปลอดภัยมาก ๆ เป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่งั้นเราก็จะเจอกับโรคอุบัติใหม่แบบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด อาหารฉายรังสีจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งในการบริโภค ผู้บริโภคก็ควรต้องเลือกสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับตัวเอง ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจอาหารก็ควรจะคำนึงถึงสุขภาพพลานามัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย ผมอยากให้มีการจำหน่ายอาหารฉายรังสีให้หลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย ” ผู้อำนวยการ สทน. กล่าว
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการออกร้านจำหน่ายอาหารปลอดภัย การจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอาหารฉายรังสีให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เช่น การเสวนาพูดคุยกับแขกรับเชิญในฐานะตัวแทนผู้บริโภค เกี่ยวกับประสบการณ์ด้านอาหารฉายรังสี และโชว์ทำอาหารง่าย ๆ จากเชฟมืออาชีพชื่อดัง โดยเลือกใช้อาหารฉายรังสีเป็นวัตถุดิบ เป็นต้น
สำหรับผู้สนใจที่พลาดการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ไป ยังสามารถมาร่วมงาน “ Safe Food Good Life อาหารปลอดภัย ฉายรังสีปลอดโรค ” ได้อีกครั้ง ในวันที่ 18-19 เมษายน 2563 ณ ห้างสรรพสินค้า โรบินสัน ศรีสมาน พร้อมนิทรรศการ ร้านค้า กิจกรรม และแขกรับเชิญที่จะมาร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี
ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังคงมุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านนิวเคลียร์ มาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สทน. ได้ที่เว็บไซต์ www.tint.or.th และเพจเฟซบุ๊ค https://www.facebook.com/thai.nuclear