เจ้าพญามังราย ทรงเลือกชัยภูมิเมืองปิง พร้อมด้วยเจ้าพญาร่วง เจ้าเมืองสุโขทัย เจ้าพญาง่ำเมือง (งำเมือง) เจ้าเมืองภูกามยาว (พะเยา) ดูชัยภูมิแห่งนี้ สาบานเป็นเพื่อนกัน แต่ทว่า ที่จริงแล้วเป็นกุศโลบาย เพื่อที่จะไม่ให้มีศึกสงครามกันมากกว่า
เมื่อสามสหายตกลงเลือกเมืองปิง ในวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.1839 ตามจันทรคติ ( ซึ่งครบ700 ปี เมืองเชียงใหม่ ทำให้ทราบว่าตรงกับวันที่ 12 เมษายน)
เจ้าพญามังราย โปรดเกล้าให้สร้างจุดศูนย์กลางตามความเชื่อจักรวาล นามว่า เจดีย์หลวง เจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดในล้านนา เป็นศูนย์กลางจักรวาลหรือจุดกึ่งกลางเมือง สร้างวัด 8 วัดรอบเมืองเชียงใหม่ แทนทิศทั้ง 8 ทิศ ตามความเชื่อโบราณ ให้เป็นศูนย์กลางเมืองปกครอง กำหนดพระธาตุเมืองหริภุญชัยที่มีมาก่อนแล้ว เป็นศูนย์กลางศาสนา แล้วสถาปนาเมืองปิงใหม่ นามว่า “นพบุรี ศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ”
ในสมัยเจ้าพญาขุนคราม ลูกพญามังราย จึงย้ายราชธานีกลับไปยังเมืองหิรัญนครเงินยาง หรือเมืองเชียงราย
พ.ศ. 2101 เชียงใหม่ได้เสียเมืองให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง พระมหากษัตริย์พม่า และได้ถูกปกครองโดยพม่ามานานกว่าสองร้อยปี
ทว่าแม่น้ำปิงเปลี่ยนทิศทางในสมัยนี้
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขับไล่พม่าออก เมืองเชียงใหม่ขึ้นตรงกับสยาม
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ร.1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละ ขึ้นเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ โดยให้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในฐานะประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ จึงเปลี่ยนชื่อเมืองเชียงใหม่อีกชื่อคือ ” รัตนติงสา อภินวปุรีสรีคุรุรัฎฐะพระนครเชียงใหม่ ” (ในสมัยเจ้ากาวิละเท่านั้น) ตั้งแต่นั้นมา
สมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดให้ปฏิรูปการปกครองหัวเมืองประเทศราช ได้ยกเลิกการมีเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลพายัพ และเมื่อปี พ.ศ.2476 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ปรับปรุงการปกครองเป็นแบบจังหวัด เชียงใหม่จึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบัน
เชิงอรรถ
ที่มา
*** หนังสือประวัติศาสตร์ล้านนา โดย ศ.สุรัสวดี อ๋องสกุล ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ว่าที่ร้อยตรีศรัณย์ หาญบุญเศรษฐ บรรณาธิการบริหารเพจบันทึกคนแบกเป้ เรียบเรียง รายงาน