“เชาว์” โวย หลังศูนย์เอราวัณ-กู้ชีพนเรนทร ปฏิเสธ ส่งรถพยาบาลรับผู้ป่วยโควิด-19 ให้ชาวบ้านหารถกะบะส่งผู้ป่วยเอง ชี้ ถาม อนุทิน ทำไมกลุ่มเสี่ยงจากสุวรรณภูมิ มีรถกรมควบคุมโรคไปรับ แต่ชาวชุมชนต้องหารถเองตามยถากรรม เสนอ 3 มาตรการดูแลชุมชนติดโควิด-19 เปิดสายด่วนกรมควบคุมโรครับเคส 24 ชม.-จัดสถานที่กักตัวสำหรับชาาวชุมชน-จัดน้ำยาฆ่าเชื้อ ถุงยังชีพต่อเนื่อง อย่าให้อดตายก่อนติดโควิด
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง “แยกคน แยกจน ลดเหลื่อมล้ำ คือสิ่งที่ รัฐบาลต้องปรับมาตรการโควิด-19 เพื่อลดความเสี่ยงให้ชุมชนโดยด่วน” มีเนื้อหาว่า เมื่อค่ำวานนี้ มีผู้ที่ต้องเฝ้าระวังที่กักตัวอยู่ที่บ้านในชุมชนทับแก้ว เขตห้วยขวาง 1 ราย มีอาการตัวร้อนไข้สูง ไอเจ็บคอ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก คุณทองดี คะตะวงศ์ ประธานชุมชนและชาวบ้านได้ช่วยกันโทรศัพท์ติดต่อไปที่ ศูนย์เอราวัณ กทม. 1646 และ ศูนย์กู้ชีพนเรนทร สธ. 1669 เพื่อให้มารับตัวส่งโรงพยาบาลเพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นอาการของเชื้อโควิดกำเริบ ติดจากสามีซึ่งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถีก่อนนี้ แต่กลับได้รับคำแนะนำว่าให้คนป่วยนั่งท้ายรถกะบะมาเอง เนื่องจากไม่มีนโยบายให้ออกไปรับคนป่วยโควิด จนในที่สุดได้มีพลเมืองดีในชุมชนอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ศูนย์เอราวัณนำรถมารับตัวไปส่งโรงพยาบาลตอนเที่ยงคืน
นายเชาว์ระบุว่า ผมฟังแล้วแทบไม่เชื่อหูตัวเอง เพราะขัดแย้งกับคำของนายอนุทิน ชาญววีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ที่พูดอยู่ตลอดเวลาว่า เมื่อพบกลุ่มเสี่ยงหรือเข้าข่ายสงสัยให้ส่งเข้าระบบควบคุมป้องกันโรคทันที ด้วยการโทรแจ้งไปยังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้รถพยาบาลมารับไปยังโรงพยาบาลที่มีห้องแยกโรคมาตรฐาน ฟังดูสวยหรูมาก แต่กลับใช้ปฏิบัติไม่ได้จริง ที่เห็นจะมีก็แค่เฉพาะด่านคัดกรองที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนชาวบ้านตาดำ ๆ คนจนหาเช้ากินค่ำ กลับได้รับการปฏิบัติที่ตรงกันข้าม เป็นความเหลื่อมล้ำของระบบสาธารณสุขที่ไม่ควรเกิดขึ้นในภาวะวิกฤตที่ทุกคนมีหนึ่งชีวิตเท่ากัน
นายเชาว์ระบุต่อไปว่า จากเหตุการณ์นี้ผมมี 3 ข้อเสนอถึงรัฐบาลให้เร่งรัดปรับมาตรการด้านการควบคุมโรคโควิด-19 ที่เกิดกับชุมชนดังนี้
- กระทรวงสาธารณสุขต้องกำหนดนโยบายให้ชัดเจนว่า เมื่อพบผู้ป่วยที่ส่อว่าอาจติดโรคโควิด-19 แจ้งไปยังศูนย์ต่าง ๆ ต้องมีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อส่งรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยทันที ไม่ใช่ให้เขาไปหารถเอาเองตามยถากรรม ลองคิดง่าย ๆ ว่า ถ้าชาวบ้านหารถไม่ได้ เรียกรถพยาบาลไม่มารับ ต้องพากันนั่งแท๊กซี่ไป ก็จะเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต่างกับการให้ผู้ที่มีความรู้ มีชุดป้องกันครบถ้วนไปรับผู้ป่วยจะลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค และถ้าจะให้ดีที่สุดกรมคบคุมโรค ควรเปิดสายด่วน 24 ชั่วโมง สำหรับการบริการผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เป็นการเฉพาะเพื่อแก้ปัญหานี้
- จัดสถานที่กักตัวของภาครัฐไว้รองรับชาวชุมชนที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรคโควิด-19 ที่จะต้องกักตัว 14 วัน แทนการปล่อยให้คนเหล่านี้ไปกักตัวกันเองที่บ้าน เพราะมาตรการเว้นระยะห่าง 2 เมตร ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงกับคนในชุมชนแออัด ที่บ้านแต่ละหลังอยู่กันอย่างเบียดเสียด หากทำได้จะช่วยลดจำนวนคนเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ได้อย่างมาก จึงขอให้ปฏิบัติกับชาวชุมชนเหมือนที่ท่านจัดหาสถานที่พักกักตัวให้กับคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
- จัดเครื่องมือทำความสะอาด แอลกอฮอล์ น้ำยาฆ่าเชื้อ พร้อมให้ความรู้ชาวชุมชน ถึงการทำความสะอาดบ้านเรือนอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ที่สำคัญเรื่องปากท้อง ถุงยังชีพแต่ละครอบครัวจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคนเหล่านี้ขาดรายได้มานานแล้ว อย่างความปลื้มปีติเป็นล้นพ้นของคนชุมชนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ได้รับพระมหาการุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าณพระราชทานถุงยังชีพไปมอบให้แก่พสกนิกรที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดทุกชุมชนทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานคร สร้างความปลื้มปิติแก่พสกนิกรชาวชุมชนเป็นล้นพ้น อย่างหาที่สุดมิได้ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาโควิด-19 ยังยืดเยื้อ ยาวนาน แต่คนต้องกินต้องใช้ทุกวัน เรื่องถุงยังชีพจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลอย่างต่อเนื่องอย่าให้พวกเขาอดตายก่อนติดเชื้อโควิด
“รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้คนที่ด้อยโอกาสเข้าถึงการบริการของภาครัฐให้ได้มากที่สุด ครอบคลุมให้กว้างขวางที่สุด ผมพูดหลายครั้งแล้วว่าอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำได้สบาย ๆ สำหรับคนที่มีเงิน เแต่คนที่ปากกัดตีนถีบ ขาดรายได้แค่วันเดียวคืออด อดหลายวันเข้าสุดท้ายเกิดความเครียดที่อาจนำไปสู่โศกนาฏกรรมหรืออาชญากรรมตามมา รัฐบาลต้องดูแลพวกเขาในเชิงรุกก่อนที่จะเกิดปัญหา”นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย