พลเอก ประวิตร ขึ้นเชียงใหม่ ปลูกต้นไม้ฟื้นฟูป่าเน้น 7 ข้อ แก้ปัญหาไฟป่าที่ยั่งยืน
21 พฤษภาคม 2563 – เวลา 09.00 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการรวมใจไทยปลูกต้นไม้ เพื่อฟื้นฟูป่าและเพิ่มพื้นที่สีเขียว พร้อมทั้งมอบกล้าไม้มีค่า ให้แก่หัวหน้าส่วนราชการแขกผู้มีเกียรติ อีกทั้งนำร่องปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ไม้ให้ดอกและไม้กินได้ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่เสียหายจากสถานการณ์ไฟป่า ให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์อันจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่า ณ บริเวณป่าดอยสุเทพ บ้านศาลา (ห้วยตึงเฒ่า) ม.3 ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริมจ.เชียงใหม่ รวมเนื้อที่รวม 210 ไร่
โดยโอกาสนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในพื้นที่ดังกล่าว ร่วมปลูกต้นไม้ พร้อมกันทั้ง 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ในคราวเดียวกันอีกด้วย
ทั้งนี้ รองนายกฯ ยังขอเชิญชวนประชาชนร่วมลงทะเบียนปลูกต้นไม้ในโครงการและกิจกรรมปลูกต้นไม้และปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยการร่วมลงทะเบียนปลูกต้นไม้แห่งความจงรักภักดีภายใต้ชื่อ “รวมใจไทย ปลูกต้นไม้ เพื่อแผ่นดิน” สืบสานสู่ 100 ล้านต้น ผ่านเว็บไซต์กรมป่าไม้ www.forest.go.th อีกช่องทางหนึ่งด้วย
จากนั้น เวลาประมาณ 10.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปยัง หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังสรุปการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
โอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณและเป็นกำลังใจ พร้อมทั้งเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันให้ก้าวไปสู่เป้าหมายการดำเนินการ ดังนี้
- การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน จะต้องมีความต่อเนื่อง และกำหนดมาตรการ ทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาให้หมดไปโดยเร็วและยั่งยืน โดย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนืออย่างยั่งยืน ให้เป็นรูปธรรม
2.จัดชุดพิทักษ์ป่าประจำหมู่บ้าน ในหมู่บ้านเสี่ยงไฟป่าของ ๙ จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้ประชาชน
ได้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า และสนับสนุนการดับไฟป่า โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และ หน่วยทหารในพื้นที่ พร้อมทั้ง จัดอบรมให้ความรู้กับชุดพิทักษ์ป่าและจิตอาสาพระราชทาน อย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับการดูแลป่า และการดับไฟป่า เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
- ให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงอุปกรณ์เครื่องมือที่เพียงพอ สำหรับการปฏิบัติการดับไฟป่า
การอนุรักษ์ป่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิง และการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน โดย ทุกหน่วยงาน ต้องให้ความสำคัญ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และพี่น้องประชาชน
- ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยให้ ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้รับผิดชอบหลัก และ
ให้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การสนับสนุน ในการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา ไฟป่าและหมอกควันระดับจังหวัด
- จังหวัดและหน่วยงานส่วนกลาง ต้องทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจ ถึงความพยายามและแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหา และพร้อมให้ความร่วมมือ เป็นเครือข่ายในการอนุรักษ์ป่า โดยเฉพาะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยทหาร ต้องทำงานร่วมกัน ในการสื่อสารสร้างการรับรู้ ให้เข้าถึงระดับหมู่บ้าน
- เปลี่ยนผู้มีพฤติกรรมการเผาป่า และบุกรุกทำลายป่า ให้เป็น เครือข่ายดูแลรักษาป่า ให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยทหาร สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ให้ความรู้ ส่งเสริมอาชีพและการเกษตร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างโอกาสและส่งเสริมบทบาท ในการเป็นจิตอาสาและเครือข่ายในการดูแลป่า เฝ้าระวังและดับไฟป่า ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่
- ร่วมมือกับอาเซียน แก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างยั่งยืน โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงการต่างประเทศ หารือกับประเทศอาเซียน ให้เกิดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และผลการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม และให้กองทัพภาคที่ ๓ และจังหวัดชายแดน สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจังและต่อเนื่อง