“วราวุธ” ชูนวัตกรรม ‘จัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน’ เนื่องในวันทะเลโลก
การจัดงานวันทะเลโลก ที่จัดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน ของทุกปี เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของมหาสมุทรและทะเล โดยในปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จับมือองค์กรระหว่างประเทศ และพันธมิตรภาคเอกชน จัดเปิดงานยิ่งใหญ่ ภายใต้ธีมการจัดงาน Innovation for a Sustainable Ocean หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร” ณ ห้องอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปล่อยทุ่นกักขยะพร้อมกัน 7 พื้นที่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ผ่าน VDO Conference ซึ่งภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีเพื่อการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันเราใช้ประโยชน์จากท้องทะเล ทั้งเพื่อการท่องเที่ยว การดำรงชีวิต พัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างรายได้ปีละหลายแสนล้าน ในทางกลับกัน เราก็ทำร้ายทะเลไม่ว่าจะเป็นการปล่อยน้ำเสียและการทิ้งขยะลงสู่สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการจับสัตว์น้ำจนเกินศักยภาพที่จะรองรับได้ วันทะเลโลก เปรียบเสมือนการกระตุ้นเตือนให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญและคุณประโยชน์ของทะเลและมหาสมุทร ธรรมชาติต้องการการดูแล การใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องใช้ตามความจำเป็น และศักยภาพที่ธรรมชาติรองรับได้ การเว้นระยะห่างให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวและปรับสมดุลโดยธรรมชาติ
จะเห็นได้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค COVID-19 รัฐบาลได้มีมาตรการงดการเดินทางและปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลทุกแห่ง รวมถึงอุทยานแห่งชาติกว่า 140 แห่ง ทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการได้ฟื้นฟูโดยธรรมชาติ พบสัตว์ทะเลหายากในหลายพื้นที่ เช่น ฝูงพะยูน เกือบ 20 ตัว โผล่ว่ายน้ำรวมฝูงกันออกหากินใกล้เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง หรือ ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำ มากกว่า 30 ตัว โผล่ขึ้นมาเล่นน้ำใกล้เกาะรอก ฝูงฉลามวาฬ จำนวนมาก ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา และ ฝูงฉลามหูดำ เข้ามาหากินที่หมู่เกาะพีพี และเกาะห้อง จ.กระบี่ และการวางไข่ของเต่ามะเฟือง เต่าตนุ พะยูนเข้ามาใกล้ชายหาดสวนสน จ. ระยองหลังไม่ได้พบนานนับสิบปี รวมไปถึงทรัพยากรปะการังที่มีการฟื้นฟูตัวเองหลังจากไม่มีกิจกรรมใด ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงกิจกรรมมนุษย์ที่สร้างการรบกวนต่อทรัพยากรธรรมชาติ
สุดท้าย ขอฝากไว้กับพี่น้องประชาชน “ผืนทะเลกว้างใหญ่มีสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ขนาดเล็กจนตาเรามองไม่เห็น ไปจนถึงสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อย่างวาฬสีน้ำเงิน ซึ่งปัจจุบันเหลือไม่ถึง 10,000 ตัว และอาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่เราไม่เคยพบเจออีกก็เป็นได้ การดูแลท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เพียงแค่เจ้าหน้าที่ภาครัฐคงยากที่จะดูแลได้หมด ต้องอาศัยความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทุกคน รวมทั้งภาคเอกชน และทุกประเทศทั่วโลก ทะเลเชื่อมต่อกันเป็นผืนเดียวกัน ผลจากการกระทำของเรา สามารถส่งผลกระทบไปได้ไกลกว่าที่เราคิด เทคโนโลยีเป็นแค่เครื่องมือช่วยให้การจัดการปัญหาง่ายและรวดเร็วขึ้นเท่านั้น แต่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือ ปรับพฤติกรรมของเรา เพื่อส่งคืนทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์สู่ลูกหลานเรา ต่อไป”
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเสริมว่า การจัดงานวันทะเลโลก ประจำปี 2563 จัดขึ้นตรงกันวันที่ 8 มิถุนายน ภายใต้ธีมการจัดงาน Innovation for a Sustainable Ocean หรือ “นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของมหาสมุทร” ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดยในปีนี้ได้รับความร่วมมือจากองค์กรพันธมิตรหลายองค์กร ได้แก่ UNDP, UNEP, สมาคมบลูคาร์บอน, บมจ. มันคงเคหะการ, ธุรกิจเคมิคอลล์ เอส ซี จี และมูลนิธิ TerraCycle Thai Foundation นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากหลายประเทศโดยได้ส่งเอกอัครราชทูต รวมถึง ผู้แทนสถานทูตประจำประเทศไทยเข้าร่วมงาน
พร้อมทั้งได้ร่วมกันปล่อยทุ่นกักขยะพร้อมกัน 7 พื้นที่ ผ่าน VDO Conference โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด สำหรับภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น การใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับในการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก ระบบพยากรณ์ทางสมุทรศาสตร์กับการเฝ้าระวังปะการังฟอกขาว การประยุกต์ใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจัดวางเป็นปะการังเทียม เป็นต้น ทั้งนี้ กรมพร้อมจะขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายของรัฐบาล และสานต่อการปฏิบัติงานตามพันธกรณีที่ประเทศได้ร่วมลงนามความตกลง เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่และยั่งยืน พร้อมส่งต่อให้เยาวชนรุ่นต่อไป นายโสภณ ทองดี กล่าวในที่สุด