การประชุม หน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ครั้งที่ ๖/๒๕๖๓
วันที่ ๑๒ มิ.ย. ๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ น. พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กอ.รมน. ได้กล่าวว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้จัดการประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. ครั้งที่ ๖/๒๕๖๓ สรุปผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยมีผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน. (ส่วนกลาง) และผู้แทนของ กอ.รมน.ภาค ๑ – ๔ เข้าร่วมประชุมฯ บริเวณชั้น ๓ อาคารรื่นฤดี กอ.รมน. โดยมี พล.อ.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุมฯ สรุปเรื่องที่สำคัญ ดังนี้
เรื่องแรก การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
จากการดำเนินการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ประเทศไทยได้ดำเนินการเร่งการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เป็นที่ยอมรับจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตามจากการแก้ปัญหาดังกล่าว ทำให้ชาวประมงส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ และมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยแก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบ และ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฝ่ายความมั่นคง ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ./ผช.ผอ.รมน. เป็นประธานกรรมการ, รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ และ ผอ.ศปป.๓ กอ.รมน. เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ที่ผ่านมาคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา จากข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมง และได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติทราบแล้ว โดยมีประเด็นที่มีข้อยุติแล้ว จำนวน ๓ ประเด็น ได้แก่ ๑) เร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ๒) เพิ่มวันทำการประมง และ ๓) ทบทวนแนวทางการใช้น้ำมันเรือของชาวประมง (Fleet Card)
นอกจากนี้คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงอย่างเร่งด่วน โดยในห้วงเดือนที่ผ่านมา (พ.ค. ๖๓) ได้มีการจัดประชุมของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองด้านกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับ ภาคประมง และแรงงานในภาคประมง สรุปสาระสำคัญได้ จำนวน ๒ เรื่อง ได้แก่ ๑) การกำหนดขนาดเรือ ที่ไม่อยู่ใน บังคับตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. ๒๕๖๓ ๒) การแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องการเปลี่ยนถ่ายคนกลางทะเล ป้องกันไม่ให้มีการบังคับใช้แรงงานหรือค้ามนุษย์ในเรือประมง และการจัดสวัสดิการตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเรื่องที่ดำเนินการดังกล่าว ล้วนแต่เป็นผลประโยชน์ของพี่น้องชาวประมงไทยทั้งสิ้น
เรื่องที่สอง การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงด้านยาเสพติด
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติดอย่างต่อเนื่องในห้วงที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีมาตรการในการป้องกันสถานการณ์ด้านยาเสพติดอย่างเข้มงวด โดยเพิ่มมาตรการในด้านต่างๆ ให้ทุกส่วนราชการได้ผนึกกำลังอย่างเข้มข้น ควบคุมปัญหาไม่ให้เกิดการกระจายตัว และเพื่อให้เกิดการปฏิเสธ และไม่ลองยาเสพติด ในการเข้าไปดำเนินการ สร้างการมีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้แนวคิด “ประชาชนร่วมกันคิดร่วมกันทำรัฐร่วมหนุนเสริม” ในหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ ส่งผลให้หมู่บ้านชุมชน มีการเคลื่อนไหวเพื่อป้องกัน เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหายาเสพติด
การปฏิบัติที่ผ่านมา ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ลำเลียงยาเสพติดทุกระดับ ตรวจค้น สืบสวนขยายผลการจับกุม (ห้วงระหว่างวันที่ ๑ ต.ค. ๖๒ – ๑๕ พ.ค.๖๓) มีผลดำเนินการดังนี้
๑.การจับกุมคดียาเสพติดในภาพรวม จำนวน ๒๒๕,๐๖๓ คดี ผู้ต้องหา จำนวน ๒๓๔,๕๘๖ ราย ของกลางยาเสพติด ยาบ้า จำนวน ๑๗๒,๗๐๒,๙๐๘ เม็ด,กัญชา จำนวน ๗,๔๖๙.๓๕ กิโลกรัม, ไอซ์ จำนวน ๑๑,๓๑๙.๘๕ กิโลกรัม,เฮโรอีน จำนวน ๓๕๒.๕๑ กิโลกรัม,เคตามีน จำนวน ๕๓๗..๗๕ กิโลกรัม และโคเคน จำนวน ๒๑.๓๗ กิโลกรัม การยึดและอายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด จำนวน ๑,๐๖๘ คดี มูลค่าทรัพย์สิน จำนวน ๔๘๗.๓๖ ล้านบาท
๒.การสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ ยาบ้า จำนวน ๘๙,๘๘๒,๐๐๒ เม็ด, กัญชา จำนวน ๔,๑๑๑.๘๗ กิโลกรัม,ไอซ์ จำนวน ๗,๕๖๗.๒๐ กิโลกรัม,เฮโรอีน จำนวน ๑๕๓.๒๔ กิโลกรัม และโคเคน จำนวน ๑๔.๑๔ กิโลกรัม
๓.การบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด โดยให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดได้ให้บริการอย่างครอบคลุมอย่างทันท่วงที การให้โอกาสผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติด ให้ได้รับการดูแลช่วยเหลือบำบัดฟื้นฟู ตามลำดับความรุนแรง และสภาพปัญหาเฉพาะราย ทั้งด้านสุขภาพและสังคม โดยมีผู้รับการบำบัดรักษาทั้ง ๓ ระบบ จำนวน ๑๑๓,๗๑๙ ราย และนอกจากนี้ยังสร้างและพัฒนาระบบรองรับการคืนคนดีให้สังคม ประกอบด้วยการติดตามผู้ผ่านการบำบัดรักษา จำนวน ๑๑๙,๒๖๐ ราย และการให้ความช่วยเหลือ ผู้ผ่านการบำบัดฯ เช่น การฝึกอาชีพ,การศึกษา,จัดหางานให้ทำ,การส่งต่อเข้ารับการรักษาโรคทางกาย/ทางจิตเวชที่พักอาศัย เป็นต้น จำนวน ๑,๔๓๑ ราย
เรื่องที่สาม การฝึกและทดสอบแผนรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ประจำปี ๒๕๖๓
กอ.รมน.ได้เตรียมการจัดการฝึก และทดสอบแผนรักษาความมั่นคงภายใน ในห้วงเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการปฏิบัติงานของหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน.ในการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน ระดับพื้นที่ กับหน่วยงานระดับนโยบาย การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคง และติดตามประเมินแนวโน้มสถานการณ์ภัยคุกคาม โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยคุกคามในพื้นที่ อีกทั้งเพื่อให้หน่วยปฏิบัติและหน่วยนโยบาย ได้เข้าไปมีส่วนร่วมและเกิดการบูรณาการในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความมั่นคง การเสริมสร้างความเข้าใจ ในการปฏิบัติที่กำหนดไว้ในแผนฯ ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ ให้เป็นไปตามขั้นตอน การดำเนินการตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ๒๕๕๑ นำไปสู่ประสิทธิผลให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นและการทดสอบและสร้างเครือข่ายด้านการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ในระบบการรายงาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพด้านข้อมูลข่าวสาร สำหรับการฝึกและทดสอบแผนฯ จะมีระบบการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลทุกๆขั้นตอน
การฝึกและทดสอบฯ ในครั้งนี้ได้นำประเด็นปัญหาสถานการณ์ด้านความมั่นคง ที่นำมาฝึก และทดสอบจะจำลองภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มาใช้ในแก้ปัญหา โดยให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนแผนงาน ตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี (Quickwin ๖๒-๖๕)
ก่อนการปิดประชุมฯ เลขาธิการ กอ.รมน.ได้มอบแนวทางการดำเนินงาน โดยให้ กอ.รมน.ภาค และจังหวัด ปฏิบัติตามข้อกำหนดการผ่อนปรนในระยะที่ ๔ ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา ๒๐๑๙ โดยให้เตรียมการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน พร้อมดูแลอำนวยความสะดวก และให้คำแนะนำชี้แจงแก่ประชาชน ตามนโยบายของ ศบค. นอกจากนี้ได้เน้นย้ำกับหน่วยขึ้นตรงของ กอ.รมน.(ส่วนกลาง) และ กอ.รมน.ภาค/จังหวัด ให้ความสำคัญในการสอดส่องดูแลผู้ที่ไม่หวังดี และผู้ที่หาผลประโยชน์ ด้วยการใช้เครื่องหมาย/สัญลักษณ์ของ กอ.รมน.หรือการแอบอ้างบุคคลที่ทำงานภายใน กอ.รมน.ช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกในการหาผลประโยชน์โดยมิชอบ หรือเรียกรับผลประโยชน์ใดๆ ในการกระทำผิดกฎหมาย โดยขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันสอดส่องดูแล หากรู้เบาะแสหรือพบเห็นขอให้ดำเนินการ ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป