อดีตรองโฆษก ปชป.เชื่อคดี “โอ๊ค” ยื่นอุทธรณ์ใหม่ได้ ยกคำวินิจฉัย อสส.เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา การชี้ขาดคดีเป็นอำนาจเฉพาะตัว อสส. ทำแทนไม่ได้ คำสั่งรอง อสส.ไม่ชอบด้วย กม. แนะ DSI ยื่นเพิกถอน บี้ อสส.กวาดบ้านตัวเองก่อนความเชื่อถือล้มละลาย
นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook Chao Meekhuad เรื่อง “ ชี้ช่องข้อกฎหมาย จุดตาย คดี “โอ๊ค พานทองแท้” ที่จะต้องนับหนึ่งใหม่” มีเนื้อหาระบุว่า คดีนายพานทองแท้ ชินวัตร จำเลยคดีทุจริตฟอกเงินแบ๊งค์กรุงไทยปล่อยสินเชื่อให้บริษัทในเครือกฤษฎามหานคร โดยมีเช็คเงินลงชื่อนายวิชัย กฤษดาธานนท์ อดีตผู้บริหารบริษัที่ได้สินเชื่อจากแบ๊งค์กรุงไทยจำนวน 10 ล้านบาท เข้าบัญชีนายพานทองแท้ ที่ศาลอาญาคดีทุจริตพิพากษายกฟ้อง ซึ่งต่อมานายเนตร นาคสุข รองอัยการสูงสุด มีคำสั่งชี้ขาดใม่ยื่นอุทธรณ์ ทั้ง ๆ ที่อธิบดีดีเอสไอมีความเห็นแย้งให้อุทธรณ์และผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเห็นแย้งให้ลงโทษจำคุกนายพานทองแท้ แต่คดีกลับจบลงด้วยการใช้ดุลพินิจของรองอัยการสูงสุด ทำให้คดีถึงที่สุดตามกฎหมาย สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในการสั่งคดีของรองอัยการสูงสุดจนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ระบุต่อไปว่า มีนักกฎหมายหลายคนได้นำเรื่องนี้ไปยื่นต่อปปช.และยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เอาผิดรองอัยการสูงสุดฐานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบตามปอ.157 แต่ผมเห็นว่ายังมีประเด็นหนึ่งที่หลายคนไม่เคยมีคนพูดถึงเลยคือ เรื่องอำนาจการชี้ขาดความเห็นแย้งหรืออำนาจในการสั่งคดี ซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ที่ถือเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวเฉพาะตำแหน่งทางกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะและไม่อาจมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำการแทนได้ ตามคำวินิจฉัยอัยการสูงสุดที่ 41/2533 และเทียบเคียงแนวคำสั่งฎีกาที่ 30/2542 นอกจากนี้ยังเทียบเคียงได้กับเรื่องการรับรองอุทธรณ์หรือฎีกาตามป.วิอาญาซึ่งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาจะแยกอำนาจของอธิบดีอัยการหรืออัยการสูงสุดระบุไว้แจ้งชัด ดังนั้นการสั่งคดีชี้ขาดความเห็นแย้งของนายเนตร รองอัยการสูงสุด ถึงแม้จะอ้างว่าได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติราชการแทนอัยการสูงสุด ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะขณะสั่งคดีนายเนตรไม่ใช่อัยการสูงสุด ผมจึงขอเสนอให้อธิบดีดีเอสไอในฐานะพนักสอบสวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนำประเด็นนี้ไปยื่นต่อศาลปกครอง เพื่อให้เพิกถอนคำชี้ขาดไม่อุทธรณ์ของรองอัยการสูงสุดดังกล่าวเสีย เนื่องจากเป็นคำสั่งที่สั่งโดยไม่มีอำนาจจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้อัยการสูงสุดทำความจริงประเด็นนี้ให้กระจ่าง ตามแนวคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุด เพราะเรื่องนี้หลักสำคัญไม่ได้อยู่ที่คำสั่งชี้ขาดไม่อุทธรณ์แต่อยู่ที่คนชี้ขาดไม่มีอำนาจ
“ทั้งหมดเป็นความเห็นในฐานะนักกฎหมายที่ไม่ต้องการเห็นความเสื่อมเกิดกับองค์กรอัยการ ซึ่งเป็นทนายของแผ่นดิน และเพื่อรักษาหลักนิติธรรมของบ้านเมือง ต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของดีเอสไอในฐานะเจ้าของสำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องเดินเรื่องต่อเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งจะเป็นช่องทางให้คดีกลับเข้าสู่สถานะเดิมในอำนาจชี้ขาดของอัยการสูงสุดตามกฎหมาย คดีจะได้ขึ่นสู่การพิจารณาของศาลสูงตัดสินให้สิ้นกระแสความ ส่วนอัยการสูงสุดก็ต้องไม่ละเลยประเด็นนี้ต้องดำเนินการทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ให้สาธารณชนรับทราบ การชี้ขาดคดีที่ยังเป็นปัญหาให้ถึงที่สุดลงดื้อๆ ทั้งที่มีความเห็นแย้งทั้งผู้พิพากษาและอธิบดีดีเอสไอ อย่าให้ใครกล่าวหาได้ว่า พอเป็นคดีคนรวยแล้วเป่ากันได้ง่าย ๆ เพราะมิฉะนั้นจะทำให้ความน่าเชื่อถือต่อสถาบันอัยการล้มละลายในสายตาของประชาชน” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย