สุดยอดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ จากผู้สมัคร 3,000 กว่าราย ที่มีไอเดียและโมเดลธุรกิจดีที่สุด จะได้รับเงินทุนสนับสนุนรวม 400,000 บาท เพื่อนำไปทดลองโมเดลธุรกิจและใช้ต่อยอด ขับเคลื่อนธุรกิจ ในงานตัดสิน มอบรางวัล และพิธีปิด ”กิจกรรมเปิดทาง-สู่ธุรกิจหลัง COVID 19” ค้นหาสุดยอดผู้ประกอบการ ( Challenge Project by DIProm ) โดยกองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า “ตามที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ประกาศ “กิจกรรมเปิดทาง-สู่ธุรกิจหลัง COVID 19” ค้นหาสุดยอดผู้ประกอบการ (Challenge Project by DIProm) เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเร่งด่วน “ดีพร้อมทันที 90 วัน” ที่ช่วยขับเคลื่อนมาตรการฟื้นฟูเร่งด่วนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด 19 อาทิ นักศึกษา สตาร์ทอัพ ผู้ว่างงาน และผู้ประกอบการ เป็นต้น ผ่านการจัดกิจกรรมการอบรมออนไลน์การเขียนแบบจำลองธุรกิจ กิจกรรมการติวเข้มสู่ความเป็นสุดยอด New Normal กิจกรรมแคมป์ออนไลน์ กิจกรรมการแข่งขันสู่ความเป็นสุดยอด BMC เพื่อสร้างให้ผู้ที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ หรือ เป็นผู้ประกอบการอยู่แล้วแต่ต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤต COVID-19 สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการไปต่อยอดธุรกิจ และปรับปรุงโมเดลธุรกิจ (Business Model Canvas) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ช่วยเพิ่มยอดขาย ทำให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และพลิกฟื้นกิจการหลังได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ตลอดจนทักษะและแนวทางต่างๆ ที่จำเป็น และสำคัญต่อการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)”
“โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะต้อง เข้าเรียนออนไลน์วิชาต่างๆ ที่เหมาะสมกับการทำธุรกิจยุคใหม่ อาทิ แรงบันดาลใจที่กระหายความสำเร็จ (Passion & Key to success) ทักษะในการสร้างสรรค์และกระบวนคิดเชิงวิพากษ์ (Creative-Critical Thinking Skill) การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อวางแผนความสำเร็จ (Data Analytic Skill)ทักษะการตลาดดิจิทัลแบบแอดวานซ์ (Advance Digital Marketing) ทักษะการขายชั้นสูงเพื่อความอยู่รอดหลังวิกฤต (Advance Sales Skill) สุขลักษณะและความปลอดภัยคือกุญแจสำคัญของ New Normal (Hygiene & Safety Skill) การกระจายสินค้าเชิงสร้างสรรค์ (Creative Distribution) กระบวนการคิดเชิงออกแบบสร้างสรรค์ (Design Thinking) การกำหนดตัวตนของคนซื้อ (Persona) แบบจำลองธุรกิจ (Business Model Canvas) ซึ่งจะช่วยทำให้คนค้าขายสินค้าธรรมดา และประสบภาวะวิกฤต ได้ปรับตัวเป็นนักธุรกิจที่มีความรู้ความเข้าใจรอบด้านในการทำธุรกิจจริง และมีแผนสำรองภายใต้ภาวะวิกฤตในอนาคต”
“พร้อมกับส่งแนวคิดด้วยการเขียนโมเดลธุรกิจ หรือ Business Model Canvas (BMC) กว่า 2,500 คน และได้รับคำแนะนำในการปรับโมเดลธุรกิจ จากนั้นคัดเลือกการประกวดรอบ 400 คน ไปสู่กิจกรรมการติวเข้มสู่ความเป็นสุดยอด New Normal จำนวน 100 คน โดยในการคัดเลือกแต่ละครั้งจะมีการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ในการปรับโมเดลธุรกิจให้มีโอกาสในการจัดตั้งหรือขยายธุรกิจจริงมากยิ่งขึ้น เพื่อรับคำปรึกษาแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัว
พัฒนาจากโมเดลธุรกิจ (BMC) ให้มีขั้นตอนและวิธีการที่ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและสามารถตอบ
โจทย์ผู้บริโภคได้ตรงใจ นำไปสู่โอกาสการขยายและจัดตั้งธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น และคัดเลือก รอบ 20 คนสุดท้าย ทำการทดสอบตลาดและการทดลองขับเคลื่อนธุรกิจจริง ค้นหาสุดยอดผู้ประกอบการใหม่ โดยมีเกณฑ์พิจารณา จากความครบถ้วนของ โมเดลธุรกิจ Business Model Canvas ความสัมพันธ์ของเนื้อหาในแผนและความเป็นไปได้จริงทางธุรกิจ ควบคู่ไปกับไอเดียของแนวคิดธุรกิจกับโอกาสในยุคชีวิตวิถีใหม่หลัง COVID-19 ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ และเป็นแนวคิดใหม่ของโลก รวมถึงความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ยอดขายที่เพิ่มขึ้น มีแนวทางที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key to Success ) ที่ชัดเจน กระชับ สำเร็จไว ใช้ทรัพยากรน้อย และสุดท้าย มีความตั้งใจจริง และอดทนเพื่อสร้างธุรกิจจนสำเร็จได้จริง เพื่อเป็นตัวอย่างผู้ประกอบการที่พัฒนาตัวเองขึ้นมาแม้อยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับอีกหลายๆ คนที่อยู่ในวงการธุรกิจ ให้สามารถลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง”
“ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2563) “กิจกรรมเปิดทาง-สู่ธุรกิจหลัง COVID 19” โครงการค้นหาสุดยอดผู้ประกอบการ หรือ Challenge Project by DIProm ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการและคนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ได้รับผลการตอบรับอย่างดียิ่ง โดยมีผู้สมัครเข้าร่วมในโครงการกว่า 3,000 คน และ มีผู้ที่พร้อมเรียนรู้และพัฒนาตนเองจนสามารถเขียนโมเดลธุรกิจ Business Model Canvas (BMC) ที่มีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ได้จริงในการดำเนินธุรกิจ สามารถเพิ่มยอดขาย มีรายได้มากยิ่งขึ้น และพลิกฟื้นธุรกิจหลังจากได้รับผลกระทบวิกฤต COVID-19 ได้ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเป็นกำลังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
“นอกจากนี้ โครงการนี้ไม่เพียงถ่ายทอดองค์ความรู้แต่ยังรวมไปถึงการเชื่อมโยงโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการใหม่ โดยได้รับความร่วมมือจาก True digital Park ที่เป็นผู้สนับสนุนเงินรางวัล เพื่อเป็นทุนตั้งต้นธุรกิจให้กับผู้ประกอบการที่มีไอเดียและแผนการทำธุรกิจที่โดดเด่น พร้อมด้วยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME-D Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารกสิกรไทย (K-BANK) ที่จะมาช่วยชี้แนะแนวทางในการเข้าถึงแหล่งทุน รวมถึงแนวทางในการดำเนินธุรกิจ ในยุควิกฤต COVID-19 อีกด้วย”
“โครงการนี้ ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ใช้กลยุทธ์ DIProm เข้าไปช่วยพัฒนาธุรกิจให้กับผู้ประกอบการใหม่ได้มีโอกาส นำเอาความรู้ พร้อมกับการ ได้รับฟังประสบการณ์จริงจากเจ้าของธุรกิจที่ผ่านทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จมาแล้ว ในการวางทิศทางที่จะต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจมีโอกาสไปรุ่งได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับแนวคิดและแผนงานที่ได้ทำขึ้นในโครงการนี้ ไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด และสามารถสร้างความยั่งยืนได้ ในยุคชีวิตวิถีใหม่ หลัง COVID-19 ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีความพร้อมที่จะพัฒนาและสนับสนุน ผู้ประกอบการไทยให้เติบโตอย่างแข็งแรงด้วยโครงการต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้” นายณัฐพล กล่าวสรุป
โดยโมเดลธุรกิจที่ดีที่สุดที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการในกิจกรรมครั้งนี้คือ
–โมเดลธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการที่มีธุรกิจ คือ “Aquatrek..ลู่วิ่งในน้ำ ของ สพ.ญ.วรางคณา พันธุ์วาณิช”
–โมเดลธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับผู้ประกอบการใหม่ คือ “แอปพลิเคชัน AMI AMIE (AI Virtual Friend) ของ นายณรงค์ธรรม ณ ถลาง”
โมเดลธุรกิจดีที่สุดที่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการ จะได้รับเงินทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท จำนวน 2 รางวัล สำหรับผู้ประกอบการ และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปทดลองโมเดลธุรกิจและใช้ต่อยอดและขับเคลื่อนธุรกิจของตัวเอง รวมทั้งรางวัลอันดับต่างๆ รวม 400,000 บาท