เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 ที่กระทรวงยุติธรรม อาคารเอ ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานแถลงผลงานการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลการนำความยุติธรรมสู่สาธารณชน “1 ปีของการสร้างสุข ก้าวขับเคลื่อนเชิงรุกเพื่อประชาชน” และมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานจากกรมต่างๆ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม
นายสมศักดิ์ กล่าวถึงนโยบายการลดความแออัดในเรือนจำผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำกว่า 80% เป็นนักโทษยาเสพติด และเรือนจำโดยเฉพาะเรือนนอนมีพื้นที่น้อย ผู้ต้องขัง 1 คนต้องมีพื้นที่ 1.2 ตารางเมตร ซึ่งจะรองรับได้ 2.2 แสนคน แต่ขณะนี้ในเรือนจำมีผู้ต้องขังมากถึง 3.7 แสนคน เกินมากว่า 1.5 แสนคน ตนจึงคิดว่าจะทำอย่างไร เป็นหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องทำ ได้กำหนดว่า เราสามารถสร้างเตียงนอน 2 ชั้น หากทำได้สัก 8 หมื่นเตียง จะรับผู้ต้องขังได้เป็นจำนวน 3 แสนคน ซึ่งวันนี้เราเพิ่มได้แล้ว 5 หมื่นเตียง ต้องทำอีก 3 หมื่นเตียง แต่นี่คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
ส่วนการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการลดจำนวนผู้ต้องขัง เช่น การแก้กฎหมายประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่ขณะนี้อยู่ในรัฐสภาแล้ว และการใช้กำไล EM เข้ามาเสริม การพักโทษโดยเฉพาะโทษเบาๆ หรือผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษ หลักการคือ ต้องจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือเกินครึ่งหนึ่ง โดยให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาพฤติกรรมของผู้ใช้กำไล EM มีการเคารพกฎระเบียบสังคมมากขึ้น และกลับบ้านตรงเวลา การขับขี่รถดีขึ้น พฤติกรรมหลายๆอย่างดีขึ้น ทำให้ครอบครัวมีความสุข และสามารถติดตามได้ตลอดเวลา
นายสมศักดิ์ กล่าวต่อ ส่วนกรณีนักโทษรุนแรง เราแก้ปัญหากันมาพอสมควร ตั้งแต่กรณี นายสมคิด พุ่มพวง ฆาตรกรต่อเนื่อง คดีแบบนี้ต้องเริ่มก่อนที่จะฟ้องคดีพวกเขาต้องมีการบันทึก หรือยื่นคำฟ้องในพวกคดีต่อเนื่องแบบนี้ไว้ ที่ผ่านมาหากเขาจำคุกครบแล้วเราจะไปฟ้องไม่ได้ เราได้คุยกับสำนักงานอัยการสูงสุด ปรึกษากัน และหวังจะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่หากจะไปแก้กฎหมายจะใช้เวลานานเกินไป ต้องหาแนวทางอื่นก่อนโดยขณะนี้เราตั้งศูนย์ JSOC หรือศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยของประชาชน โดยเฝ้าดูผู้ต้องขังคดีอุกฉกรรจ์ หากเขาพ้นโทษแล้ว จะต้องติดตามให้ติดกำไลและให้สังคมช่วยตรวจสอบ ในช่วงของกฎหมายที่เรายังดำเนินการไม่เรียบร้อย แต่ยังจำเป็นต้องทำให้สังคมมีความมั่นใจและปลอดภัย หากสังคมรู้ว่าฆาตรกรลักษณะนี้อยู่ที่ไหน จะช่วยกันสอดส่องทำให้เหตุไม่เกิดขึ้นได้
รมว.ยุติธรรม กล่าวเพิ่มเติม นอกจากนี้ต้องมีนโยบายลดความแออัดในระยะยาว ที่ผ่านมามีผู้ต้องขังออกจากเรือนจำแล้วยังกลับมาอีกจำนวนมาก สาเหตุคือ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ ครอบครัวมีปัญหา เราจึงต้องสร้างงานสร้างอาชีพ อย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ คือเอาคนที่พ้นโทษ มาทำงานฝึกอาชีพ และการส่งแรงงานไปต่างประเทศ เพราะตนทราบมาว่าหากภาษาอังกฤษดีจะได้เงินมากกว่าเดิม 2 เท่า เราจึงส่งเสริมเรื่องภาษา รวมถึงคณิตศาสตร์ ทำบัญชีเบื้องต้นได้ นอกจากนี้เรายังมีโครงการ เชฟลูกกรงเหล็ก ซึ่งหากภาษาอังกฤษดีเงินเดือนก็จะมากขึ้นไปอีก
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึง นโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่า ที่ผ่านมามีการฆ่าตัดตอนและปราบปรามหนักแต่ยาเสพติดก็ยังไม่หมดไป “ยูเอ็นโอดีซี”มีการประเมินมูลค่ายาเสพติดที่สามเหลี่ยมทองคำมีมูลค่ามากถึง 1.8 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาตนตั้งได้คณะกรรมการมา 2-3 ชุด เพื่อช่วยงานศูนย์อำนวยการป้องกันยาเสพติดแห่งชาติ มาดำเนินการเพิ่มจากเดิม จากการปราบปรามมาใช้เรื่องการจัดการธุรกรรมทางการเงิน เราดูเรื่องทางเงินโดยความร่วมมือของ ป.ป.ง. ก่อนหน้านี้การยึดทรัพย์จากยาเสพติดได้ปีละ 600 ล้านบาท แต่จากการใช้การดำเนินการทางธุรกรรมทางการเงินไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยึดทรัพย์ได้ 3 เท่าครึ่ง คือได้ 2 พันกว่าล้านบาท และในปี 2564 ตั้งเป้าต้องยึดให้ได้ 10 เท่า หรือ 6 พันล้าน หากไม่ได้ถือว่าเป็นมวยล้ม
อีกเรื่องคือการตรวจสารเสพติดในเส้นผม กฎหมายเก่า การตรวจสารเสพติด คือ การตรวจปัสสาวะ และเมื่อผู้เสพที่เสพเกิน 3 วันเราจะตรวจไม่พบ จากสถิติเด็กในสถานพินิจที่เข้ารับการอบรมแล้ว จะมีการได้พักกลับบ้านและมีการกลับไปแอบเสพยา จากปี 2561 ที่พบ 27-28% และปี 2562 อยู่ที่ 11% และปี 2563 เราได้ให้ความรู้เรื่องการตรวจเส้นผม ทำให้เหลือแค่ 7% เท่านั้น แสดงว่าเรื่องนี้สามารถช่วยลดผู้เสพยาลงได้
รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า การตรวจจากเส้นผมสามารถตรวจสอบคนเสพยาย้อนหลังได้ถึง 6 เดือน – 1 ปี โดยตรวจเส้นผมยาว 30 ซม.ขึ้นไป มีความแม่นยำมาก ตรวจแยกสารเสพติดได้ 26 ชนิด เมื่อก่อนเราใช้น้ำยาไปทำปฏิกิริยาให้เส้นผมละลาย ใช้เวลานานถึง 19 วัน แต่ตอนนี้ใช้นวัตกรรมใหม่เอาเส้นผมมาบด ใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น ถ้าลูกหลานของพี่น้องประชาชน สงสัยว่าเสพยาหรือไม่ สามารถส่งเส้นผมมาตรวจได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายขณะนี้ถูกลงมาก เหลือเพียงครั้งละประมาณ 2 พันบาท อีกเรื่องคือการปลดล็อกพืชกระท่อม เราได้ทำไปหลายทาง คือแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปลดพืชกระท่อมออกยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งอยู่ในสภาแล้ว ส่วนประมวลกฎหมายยาเสพติดกำลังแปรญัตติ และเมื่อปลดเสร็จต้องมีกฎหมายพืชกระท่อม ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.แล้ว การที่มีกฎหมายควบคุม เพราะเรากลัวว่าคนจะปลูกมากเกินไป และต้องมีการควบคุมการใช้ ไม่ให้นำไปผสมเป็น 4×100 พืชกระท่อมมีสรรพคุณเหมือนมอร์ฟีน แต่แก้ปวดได้มากกว่าหลายเท่า และไม่กระทบระบบหายใจ นำไปเป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ปวดท้องและเป็นยาชูกำลังได้
“งานต่างๆในส่วนของกระทรวงต่อไปนี้เราตั้งใจจะให้งานเดินหน้า ทำงานเชิงรุก ตนตั้งใจว่าเราต้องทำงานแข่งกับเวลา ทำทุกอย่างให้สำเร็จโดยเร็ว บริการประชาชนให้เข้าถึงได้ทุกคน ทำงานบูรณาการร่วมกับภาคประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งกรมคุ้มครองสิทธิ กรมบังคับคดี เราจะทำให้เป็นงานหลักขึ้นมา อาจจะเริ่มที่พื้นที่ใกล้กระทรวงฯ แล้วขยายวงไป เราจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เราจะทำให้เป็นรูปธรรมในระยะเวลาอันใกล้ให้ได้