เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่อุดมไปด้วยวัตถุดิบทางการเกษตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา โดยเฉพาะอ้อยนั้นในฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมามีอ้อยเข้าหีบรวม 74.89 ล้านตัน ซึ่งทำให้มีผลผลิตน้ำตาล 82.94 ล้านตัน โดยประเทศไทยสามารถนำอ้อยและน้ำตาลไปต่อยอดในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น เอทานอล ไฟฟ้าชีวมวล พลาสติกชีวภาพ และสารตั้งต้นสำหรับผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวอ้อยนั้น คือ ใบอ้อยและยอดอ้อย โดยอ้อย 1 ตันจากการเก็บเกี่ยวจะได้ใบอ้อยและยอดอ้อยรวมกว่า 170 กิโลกรัม ดูที่ผ่านมาใบอ้อยและยอดอ้อยถูกกำจัดโดยการเผาไหม้ ไม่ได้มีการนำไปต่อยอด ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง PM 2.5 ดังนั้นจึงมีนโยบายในการแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้อ้อยดังกล่าว โดยได้มีการกำหนดมาตรการเพื่อลดปริมาณการเผาอ้อย 4 มาตรการคือ 1. กำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ โดยมีมาตรการกำหนดราคาส่วนต่างให้อ้อยสดมากกว่าอ้อยไฟไหม้ ให้มีความคุ้มค่ามากพอและเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น 2. จัดหาเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ตัดอ้อยสดมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีการรวมกลุ่มและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการอ้อยสด 3. ออกมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้โรงงานมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เกินกว่าร้อยละ 20 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด และ 4 ในกรณีที่มีนโยบายให้การช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากภาครัฐ จะให้สิทธิเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดเท่านั้น
จากมาตรการดังกล่าวทำให้ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้เล็งเห็นการนำใบอ้อยและยอดอ้อยมาพัฒนาต่อยอด เพื่อช่วยลดปริมาณการเผาไหม้และเป็นการสนับสนุนในการนำใบอ้อยและยอดอ้อยไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าได้ โดยการนำใบอ้อยและยอดอ้อยมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยในวันนี้ได้นำผลิตอิฐทางเดินและเชื้อเพลิงจากยอดและใบอ้อย มาจัดแสดงและทำการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ผู้ที่สนใจสามารถนำไปต่อยอดได้ รวมถึงได้แนะนำผลิตภัณฑ์ต้นแบบอื่นๆ ที่ได้ทำการพัฒนาภายใต้โครงการ ไม่ว่าจะเป็นแก้วที่ผลิตจากพลาสติกชีวภาพ ที่ผลิตจากน้ำตาลสารสกัดโดยใช้เอทานอล และยาลดระดับคอเลสเตอรอลที่สกัดได้จากไขอ้อยมาจัดแสดงด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการผลักดันอุตสาหกรรมด้านชีวภาพตามนโยบายของรัฐบาล โดยวางรากฐานของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความมั่นคงและก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมชีวภาพของภูมิภาค ทาง สอน. ร่วมกับสถาบันพลาสติก ได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้เผยแพร่และสนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพขึ้น ซึ่งในอนาคตทาง สอน.จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ” โดยจะเป็นก้าวแรกในการพัฒนาให้เกิดกระบวนการอุตสาหกรรมชีวภาพ และยกระดับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการผลักดันอุตสาหกรรมชีวภาพ นำไปสู่การยกระดับผู้ประกอบการและเกษตรกร ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต
นายกิติกร สุขสม รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า สอน. ร่วมกับสถาบันพลาสติก ดำเนินโครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ (BIO ECONOMY NON-FOOD เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแปรรูปอ้อยและน้ำตาลทราย และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อ้อยและน้ำตาลทรายไปสู่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือครั้งนี้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยนำ อ้อย น้ำตาล ของเสีย และผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตมาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มฟาร์มาซูติคัล และผลิตภัณฑ์ไยโอเคมี รวมถึงการใข้เศษวัสดุใบอ้อยและยอดอ้อยเป็นวัสดุผสมในอิฐปูพื้นทางเดินหรือนำไปเป็นเชื้อเพลิง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งสอดรับนโยบายภาครัฐที่ต้องการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพแบะส่งเสริมให้ไทยก้าวเป็นศูนย์กลาง Bio hub ของภูมิภาคนี้
“ตามที่ สอน.ได้ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ เพื่อเป็นการยกระดับการพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ซึ่งเน้น “ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย” ทั้งพลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ ควบคู่การดำเนินงานที่ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ผลักดันมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างครบวงจร” นายกิติกร กล่าว
นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวว่า สถาบันพลาสติก มีภารกิจที่จะพัฒนาอุตสหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนาอุตสหกรรมชีวภาพ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิดในการนำจุดแข็งของประเทศในการนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความ หลากหลาย เช่น อ้อยและน้ำตาลทราย มาส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดมูลค่าของผลิตภัณฑ์ และวัตถุดิบทางการเกษตร ทั้งการนำอ้อยและน้ำตาลทรายมาแปรรูปเป็นพลาสติกชีวภาพ หรือการนำสารสกัดจากอ้อยมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรมยา อุตสหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น อีกทั้ง ยังมีการ นำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้ง
โดยในปี2563 ได้ดำเนิน โครงการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bioeconomy : Non-Food) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการแปรรูปอ้อยและน้ำตาลทราย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตของอ้อยและน้ำตาลทราย โดยการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ เพื่อเพิ่มการใช้วัตถุดิบจากแหล่งเกษตรกรรมทดแทน วัตถุดิบจากแหล่ง ปีโตรเลียม ซึ่งใช้แล้วหมดไป โดยการนำความหลากหลายทางชีวภาพของไทย มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการของตลาด โดยหนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการฯ คือการสร้างการรับรู้และส่งเสริมการใช้งานผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่สนับสนุนให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพิ่มขึ้น สร้างความเข้าใจในการลดการเผา และสร้างมูลค่าเพิ่มจากเศษวัสดุทางการเกษตร โดยได้ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ คือ อิฐตัวหนอนใช้ปูพื้นทางเดิน และเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Pellet) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่นำเศษเหลือทิ้งภายในไร่อ้อยมาเพิ่มมูลค่า สถาบันพลาสติก จึงได้จัดกิจกรรม “ลดการเผาสร้างมูลค่าเพิ่มต่อยอดผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากใบอ้อย เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาการเผาไร่อ้อยและสร้างรายได้เพิ่ม ให้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อย ผู้ประกอบการ ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่สนใจ โดยสถาบันพลาสติก หวังว่าการจัดกิกรรมฯ นี้ จะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตจากอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ต่อไปในอนาคต