“เที่ยวทั่วไทยไปกับพี่หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์ วันนี้วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2563 ยามเช้าๆ อากาศสดใสเข้าช่วงปลายฝนต้นหนาว หนุ่ม’สุทนพาไปรู้จัก “ตลาดเก่าโบราณเจ็ดเสมียน” เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
เรื่องเที่ยวเรื่องแรกที่ผมจะเล่าสู่กันฟังนี้ ต้องถอยหลังย้อนยุคกันไปในสมัยอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในปี พ.ศ. 2310 เมื่อครั้งกระนู้น !!! ที่กองทัพพม่าบุกเข้าตีกรุงศรีอยุธยา เผาบ้านเมืองจนวอดวายเหลือไว้แต่ซากปรักหักพังของวัดวาอารามจนถึงทุกวันนี้และเป็นความทรงจำประวัติศาสตร์การสู้รบสงครามการสูญเสียของทั้งกรุงศรีอยุธยาและพม่า อย่างไรก็ตามเมื่อพระเจ้าตากสินหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้แล้วและตั้งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรเป็นราชธานีแห่งใหม่ ครั้งนั้นเรื่องศึกสงครามกับพม่ามีต่อเนื่อง เขตชายแดนที่สำคัญบริเวณแม่น้ำซองกาเลียชายแดนอาณาจักรกรุงธนบุรีกับอาณาจักรพม่า (ปัจจุบันอำเภอสังขละบุรี เขตจังหวัดกาญจนบุรี ) เมื่อเกิดศึกสงครามกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพมาตั้งทัพบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองและได้ประกาศรับสมัครนักรบเพื่อออกสู้รบในสงครามครั้งนั้นปรากฏว่ามีชายหนุ่มมากมายมาสมัครเป็นทหารในกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีกันมากทำให้เสมียนทั้งเจ็ดคนต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนพลบค่ำ นี่แหละครับเป็นชื่อที่มาของ “เจ็ดเสมียน” แล้วกลายเป็นชุมชนเจ็ดเสมียนตั้งแต่แผ่นดินอาณาจักรกรุงธนบุรีถึงทุกวันนี้
สำหรับเรื่องที่ 2 ชุมชนเจ็ดเสมียน เข้าสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งนั้นชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนทำมาหากินค้าขายจนกลายเป็นตลาดค้าขายที่โพธิ์อาราม แต่ชาวจีนออกสำเนียงเสียงภาษาไทยโพธิ์อารามเพี้ยนไปกลายเป็นชื่อโพธาราม ชาวจีนส่วนหนึ่งก็ย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปอยู่ชุมชนเจ็ดเสมียน ซึ่งเป็นตลาดห้องแถวเล็กๆ เรียกกันว่า “ตลาดเจ็ดเสมียน” ทำไร่ปลูกผักกาด ปลูกหัวไชเท้าเป็นพืชหลัก ปลูกกันแทบทุกบ้านจนเจ็ดเสมียนได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกหัวไชเท้ามากจริงๆ พอผลผลิตมีมากเข้าก็นำมาแปรรูป ทำหัวไชโป๊วเค็มใส่ไหหรือใส่โอ่งมังกรเมืองราชบุรี ภาพเก่าเล่าอดีตชุมชนเจ็ดเสมียนนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ้างเหมือนกันนะครับ หัวไชเท้าที่แปรรูปเป็นหัวไชโป๊วเค็มนี้ทำกันแทบทุกครัวเรือนจนตอนหลังก็เป็นสินค้าขึ้นชื่อของดีของเจ็ดเสมียน ค่อยๆ พัฒนามาใส่ถุงพลาสติก มีขายตามร้านขายผักหรือเรียกร้านของชำ และต่อมาอีกประมาณ 30 – 45 ปีให้หลัง การทำหัวไชโป๊วหรือหัวผักกาดหวานก็เริ่มปรุงแต่งให้มีรสชาติตามความต้องการของผู้บริโภคมีทั้งแบบเค็มและแบบหวาน มีทั้งแบบหั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า หั่นเป็นเส้นฝอย หั่นเป็นแว่นอันกลมๆ และแบบไม่หั่น บรรจุแพ็คเกจสุญญากาศ ตีตรายี่ห้อที่มีชื่อเสียงดังเป็นที่นิยม ส่งออกขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าหน้าบ้านที่เจ็ดเสมียนเองก็มีหลายเจ้า เรียกว่าถ้าไปเที่ยวเจ็ดเสมียนเมืองราชบุรีทีไร ผมก็ต้องซื้อหัวไชโป๊วหวานมาไว้ผัดใส่ไข่กินกับข้าวต้มร้อนๆ สักถ้วย อร่อยต้องบอกต่อ… เท่าที่สืบรู้มาเขาก็ว่าร้านขายหัวไชโป๊วแปรรูปร้านแรกๆ ในเจ็ดเสมียนน่าจะเป็น “ร้านแม่กิมฮวย” ปัจจุบันยังทำไชโป๊วขายทั้งส่งขายในห้างและมีขายที่หน้าบ้านในเจ็ดเสมียนให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อได้ตามใจชอบ นอกจากเต้าหู้ดำที่ขึ้นชื่อของโพธารามนั่นแล้วด้วยต่างหากนะครับท่าน ก็อยากท้าพิสูจน์ความอร่อยของผลิตภัณฑ์แปรรูปของหัวไชเท้าหลากหลายรูปแบบที่ว่านี้ กินไปก็นึกชื่นชมสติปัญญาความเฉลียวฉลาดของคนจีนที่รู้จักแปรรูปหัวไชเท้าให้กลายมาเป็นของดีของชุมชนจนอยู่รอดมาได้ถึงทุกวันนี้ มีรายได้จากการความขยันทำมาหากิน ก่อนกลับก็ซื้อไชโป๊วหวานขนานแท้เจ็ดเสมียน เป็นของฝากหรือไว้รับประทานเองก็จะได้ช่วยสนับสนุนชุมชนและอาชีพเก่าแก่นี้ด้วยได้ แถมไปแล้วก็แวะเช็คอินถ่ายรูปเก๋ๆ ที่สถานีรถไฟป้ายชุมทางเจ็ดเสมียนสักหน่อยกันก็ได้นะครับ แวะที่ตลาดเก่าแก่อายุเกิน 100 ปี อยู่ติดวัดเจ็ดเสมียนริมแม่น้ำแม่กลองต่ออีกนิด ชมตลาดเก่าไหว้ขอพรศาลเจ้าเจ็ดเสมียนก่อนกลับเพื่อความเฮงๆ ปังๆ
ผมหนุ่ม’สุทน ขอบอกเลยว่าเที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้นะครับ ซึ่งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวในราชบุรีและนครปฐมอีกมาก ท่านที่สนใจ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานราชบุรี โทรศัพท์ 032-919176-8 ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ขอขอบคุณ ผอ.สรียา บุญมาก ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานราชบุรี ที่พร้อมให้การต้อนรับกับทุกท่าน วันนี้ขอบคุณและสวัสดี
เรื่องและภาพโดย : หนุ่ม’สุทน รุ่งธัญรัตน์
แฟนเพจเฟสบุ๊ค : https://www.facebook.com/sutonfm100.5/
#ติดตามฟังเรื่องราวการเดินทางเที่ยวทั่วไทยทางคลื่นข่าว 100.5 fm ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.10-11.00 น.
#เที่ยวเพลิน #เก็บเรื่องมาเล่าโดยหนุ่มสุทน #bigmaptravel #Tourism local life ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวไทยยั่งยืน