สภาเอสเอ็มอี ร่วมกับภาคีเครือข่าย SMEs กว่า 30 องค์กร จัดประชุมแถลงผลการดำเนินงานปี 2563 ข้อเสนอในการช่วยเหลือ SMEs ช่วงโควิด-19 และหลังจากนั้น เสนอโมเดล SMEs Smart Province บูรณาการ “งาน” ของทุกภาคส่วนนำร่องในระดับจังหวัด พร้อมเชิญหน่วยงานรัฐ-ธนาคาร เข้าร่วมให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน
วันที่ 26 พ.ย.63 เวลา 13.30 น. นายไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) พร้อมด้วยคณะกรรมการและที่ปรึกษาสภาเอสเอ็มอี จัดการประชุมภาคีเครือข่ายสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย ครั้งที่ 1/2563 เพื่อแถลงผลการดำเนินการของสภาเอสเอ็มอีในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งสภาเอสเอ็มอี ได้ทำข้อเสนอไปถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด
นอกจากนี้ ยังได้นำร่องโครงการบูรณาการความร่วมมือในการทำงานระดับจังหวัดผ่านโมเดล SMEs Smart Province ที่ได้นำร่องไปแล้วใน 3 จังหวัด ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมการประชุม ได้แก่ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กรมสรรพากร, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สมาคมธนาคารไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธ.พ.ว.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), และธนาคารออมสิน
นายไชยวัฒน์ เปิดเผยว่า “ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 สภาเอสเอ็มอี ได้สะท้อนปัญหาและเสนอแนะแนวทางที่จะช่วยเหลือ SMEs ไปยังภาครัฐหลายครั้งหลายเวที ไม่ว่าจะเป็นทางสื่อมวลชนสำนักต่างๆ, คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการ การจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ รัฐสภา, ธนาคารแห่งประเทศไทย, คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รัฐสภา, คณะอนุกรรมาธิการเพื่อศึกษา ติดตามตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คณะที่ 2 รัฐสภา, คณะอนุกรรมการวิเคราะห์เศรษฐกิจรายสาขา ครั้งที่ 1/2563 ภายใต้คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการสัมมนาต่างๆ โดยเสนอประเด็นหลักๆ ได้แก่ การพักชำระหนี้ในช่วงที่ไม่มีรายได้ การขยายวงเงินสินเชื่อโดยไม่ต้องเพิ่มหลักทรัพย์ค้ำประกัน การผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อใหม่ให้กับ SMEs ในช่วงโควิด-19 หามาตรการช่วยเหลือกล่มที่เป็น NPL และกลุ่มที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว การพิจารณาหากลไกใหม่ๆ ในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินให้กับ SMEs ที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 และที่สำคัญ คือ การนำเงินประกันสังคมที่ผู้ประกอบการและแรงงานจ่ายสมทบเข้าไปทุกๆ เดือนออกมาช่วยเหลือในช่วงวิกฤตินี้”
ดร.ศุภชัย แก้วศิริ ประธานโครงการ SMEs Smart Province ให้ข้อมูลว่า “โมเดล SMEs Smart Province มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือของทุกๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SMEs ระดับจังหวัด ในการแก้ไขปัญหาที่เป็น Pain Point ของ SMEs ได้แก่ 1) การเข้าถึงแหล่งเงินทุน 2) การตลาด และ 3) การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม มาผนวกเข้ากับวัฒนธรรมในแต่ละจังหวัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสภาเอสเอ็มอีได้ร่วมกับประธานจังหวัดนำร่องไปแล้ว 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต สุรินทร์ และพระนครศรีอยุธยา ตามบริบทของแต่ละจังหวัด”
สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เกิดจากการรวมตัวกันของภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย สมาคม มูลนิธิ ชมรม และกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่ปี 2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการ SMEs ในการสะท้อนปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของ SMEs รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยได้ยื่นร่างพระราชบัญญัติสภาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และขนาดย่อยไทย ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภา ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
#สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย #สภาเอสเอ็มอี #ThaiSMEsCouncil #SMEsSmartProvin
สมชาย/อ๊อด รายงาน