‘
“รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์” ก้าวสู่ปีที่ 22 รีแบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ พร้อมปรับโมเดลธุรกิจจากคลินิกศัลยกรรมเสริมความงามสู่ศูนย์การแพทย์ ตั้งเป้า 5 ปี เสริมทัพทีมแพทย์เฉพาะทาง ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์สู่การรักษาโรคและการผ่าตัดเฉพาะทาง ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง มั่นใจสิ้นปี 64 รายได้จะกลับมาเติบโตหลังจากปี 63 โดนโควิด-19ทำพิษ ลูกค้าต่างชาติหายไปกว่า 25%
นพ.สุทธิพงษ์ ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการแพทย์ รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ธุรกิจเสริมความงามของรัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ได้เปิดให้บริการมานานแล้วกว่า 22 ปี ซึ่งในปี 2564 ถือเป็นปีที่ตนเองมองว่าสมควรแก่การรีแบรนด์ดิ้งครั้งใหญ่ จากเดิมใช้ชื่อแบรนด์ว่า “Rattinan Clinic” เปลี่ยนเป็นแบรนด์ใหม่ “Rattinan Medical Center” เนื่องจากต้องการขยายขอบเขตการให้บริการ จากศัลยกรรมเสริมความงาม สู่การเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางที่มีมาตรฐานระดับสากล เพื่อให้การดูแลรักษาอย่างครบวงจรภายใต้การบริหารที่ยึด หลักจริยธรรมทางการแพทย์ (Medical Ethics) ในการดำเนินงาน
สำหรับแผนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ Rattinan Medical Center ในปี 2564 นี้ จะเน้นเรื่องของการรักษาเฉพาะทางมากขึ้นอย่างมีคุณภาพแต่ยังควบคู่ไปกับการทำศัลยกรรมตกแต่งความงาม ทั้งนี้เพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น และตรงกับความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ อาทิ การส่องกล้องรักษากรดไหลย้อน การผ่าตัดกระเพาะแบบOverstitch การรักษาไซนัสด้วยการทำบอลลูน
นอกจากนี้ รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ยังเตรียมนำนวัตกรรมเทคโนโลยีทางด้านการรักษาในด้านอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งนวัตกรรมการรักษาในลักษณะดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและศึกษาแผนการรักษาคาดว่าจะสามารถใช้เวลาไม่นาน ในการสรุปผล รวมถึงเรื่องของการได้รับใบรับรอง Certified Operating Room มาตรฐานห้องผ่าตัดใหญ่ จาก กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะทำให้เรากลายเป็นสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการให้บริการทั้งการผ่าตัดขนาดใหญ่ การดมยาสลบ การผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการเตรียมทีม และเพิ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และจะทำให้รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ สามารถเพิ่มสายผลิตภัณฑ์จากเดิมที่เคยโฟกัสเรื่องของรูปร่างเฉพาะส่วนปรับมาให้บริการด้านการรักษาโรคเฉพาะทางได้หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ยังเตรียมปรับปรุงระบบภายในเพื่อรองรับ การเติบโตในอนาคต ทั้งการปรับผังองค์กร และเพิ่มจำนวนพนักงาน และจัดทำระบบ CRM เพื่อทำให้ระบบการทำงานหลังบ้านมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาระบบทั้งหมดนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เนื่องด้วยการรักษาโรคเฉพาะทางจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญให้เกิดความแม่นยำและปลอดภัย ดังนั้นระบบการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานสากล American Accreditation Commission International – AACI ถือเป็นก้าวที่สำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และช่วยให้ผู้มารับบริการ ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติให้มั่นใจในคุณภาพของ บริการที่จะได้รับมากยิ่งขึ้น
ขณะที่แผนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้านั้น รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ เน้นการให้ข้อมูลกับลูกค้าอย่างถูกต้องและเหมาะสม ไม่มีการชี้ชวนหรือโฆษณาเกินจริงเพื่อให้ลูกค้าเกิดความหลงเชื่อและเข้ามาใช้บริการโดยไม่สมัครใจ เนื่องจากผู้บริหารและทีมแพทย์ของรัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์หลายท่านมีประวัติการทำงานที่ดีกับโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ดังนั้นการสร้างแบรนด์จึงเน้นไปที่เรื่องความน่าเชื่อถือ และการรักษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริหารยึดถือเป็นแนวทางการทำงานตลอดระยะเวลา 22 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ จึงไม่ได้ทำเพียงแค่การรีแบรนด์ใหม่เท่านั้น แต่ยังได้ทำการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงาม เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นโรงพยาบาล หรือศูนย์การแพทย์ ที่สามารถรับการรักษาโรคอื่นๆได้เพิ่มขึ้น ซึ่งมองว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้าจะสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
สำหรับกลุ่มลูกค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้น จะแบ่งเป็นลูกค้าในประเทศ 75% และลูกค้าต่างชาติ 25% ซึ่งลูกค้าต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มทางทวีปยุโรป ออสเตรเลีย รวมไปถึงจีน โดยส่วนใหญ่บินมาเพื่อทำการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วน และบรรเทาโรคแทรกซ้อนจากโรคอ้วน อาทิ เบาหวาน กรดไหลย้อน โรคหยุดหายใจขณะหลับ โดยไม่ได้เป็นการรักษาเพื่อความงาม แต่เป็นการรักษาโรคอ้วน โดยทางรัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ได้มีทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary teamwork) เข้ามาดูแลและร่วมรักษา อย่างเช่น แพทย์รักษาต่อมไร้ท่อ วิสัญญีแพทย์ และมีการดูแลเรื่องเบาหวานและความดัน ทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด พร้อมกับมีการนำเทคโลยีสมัยใหม่เข้ามาร่วมใช้ในการรักษาอีกด้วย
นพ.สุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า แต่หลังจากที่การระบาดของโรคโควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง ส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาเพื่อทำการรักษากับทางรัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์โดยเฉพาะหายไปทั้งหมด เหลือเพียงแต่ลูกค้าต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ที่ยังคงมาเข้ามาใช้บริการอยู่บ้าง แต่ถือว่าน้อยมาก ดังนั้นจึงมองว่าปี 2564 นี้เป็นปีที่ยากลำบากอีก 1 ปี แต่อย่างไรก็ตามคิดว่าในปี 2563 ที่ผ่านมาทางรัตตินันท์ เมดิคอล เซ็นเตอร์ ยังสามารถก้าวข้ามผ่านมาได้ ในปี 64 นี้คาดว่าจะสามารถก้าวข้ามผ่านไปได้ไม่ยากนัก เพราะขณะนี้รัฐบาลได้คลายล็อกดาวน์ให้ธุรกิจด้านบริการสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้แล้ว ซึ่งถือว่าดีกว่าในปีที่ผ่านมาที่ธุรกิจกลุ่มความงามต้องปิดไปถึง 3 เดือนทำให้รายได้ในปี 63 นั้นมีอัตราการเติบโตลดลงไปแต่คาดว่าในปี 64 รายได้จะมีอัตราการเติบโตกลับมาอย่างแน่นอน
สำหรับภาพรวมของธุรกิจศัลยกรรมความงามในปี 64 มองว่า ยังคงมีการเติบโต โดยปัจจัยมาจากคนทำศัลยกรรมมีอายุน้อยลง จากเดิมคนที่ทำศัลยกรรมอายุจะอยู่ระหว่าง 35-60 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงคิดสัดส่วนอยู่ที่ 25% ของประชากร แต่ปัจจุบันกลุ่มที่ทำศัลยกรรมความงามไม่ได้มีแต่เพียงผู้หญิงอย่างเดียวแต่จะมีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยแบ่งได้ตามกลุ่มอายุ 3 กลุ่มโดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปีลงมา กลุ่มต่อมาคือ กลุ่มที่มีอายุระหว่าง 35-55 ปีขึ้นไป และกลุ่มสุดท้ายคือผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้น ส่งผลให้ตลาดมีการเติบโตเป็น 2 เท่า ดังนั้นจึงทำให้ธุรกิจศัลยกรรมเสริมความงามจึงยังเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง